CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    เจริญ สิริวัฒนภักดี

    รายงานพิเศษ

    เปิด"เบื้องหลัง"ราชันย์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้เสียภาษี ปีละ 60,000 ล้านบาท

    สําหรับนักธุรกิจที่รวยมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยอย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที. ซี. ซี. กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ตัวจริงและหนึ่งเดียวในธุรกิจน้ำเมาของเมืองไทย อาจกล่าวได้ว่า เขาปรากฏตัวเป็นข่าวน้อยครั้งมากที่สุด

    ยกเว้นวาระสำคัญที่ต้องขึ้นเวที ออกงานเซ็นสัญญา-แถลงข่าว เพียงไม่กี่ครั้ง สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศอาจเพิ่งได้สัมผัสกับเขาจริงๆ ก็เมื่อคราวที่เปิดตัวเข้าซื้อกิจการของบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย

    กับงานใหญ่บนเวทีสัมมนาระดับชาติที่จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา

    นั่นทำให้ การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ "ราชันย์น้ำเมา" ที่หัวหิน ในงานสัมมนา "Top Executives Networking Forum 2004 : A Road to Borderless Cooporation" จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นบิ้กเซอร์ไพรส์ที่ดึงดูดความสนใจได้มากอย่างเหลือเชื่อ

    นอกจากจะขึ้นเวทีอภิปรายแล้ว "เจ้าสัวเจริญ" ยังเปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก

    ในงานเดียวกันนี้ เจ้าสัวเจริญ ยอมเปิดเผยเคล็ดลับในการลงทุนเป็นครั้งแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง เขาก็คือ ราชาที่ดินตัวจริงเสียงจริงของเมืองไทยนั่นเอง

    "ก่อนหน้านี้ผมก็ได้เข้าไปลงทุนในเซ็กเตอร์การเงิน แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจภาคการเงินเสียหาย แบงก์จึงถูกปิดไป เวลานั้นมีคนเอาที่ดินมาขายผม ให้ผมช่วยซื้อ ซื้อไปซื้อมามีจำนวนมากขึ้น บังเอิญที่ดินราคาปรับตัวดีขึ้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมเซ็กเตอร์ที่ดินเอาไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงินแบงก์ เพื่อที่จะเอามาทำธุรกิจสุรา

    ...เรื่องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ยังห่างไกลจากคำว่าฟองสบู่อีกมาก การลงทุนในที่ดินยังมีโอกาสที่ราคาที่ดินจะขยับขึ้นไปได้อีกมาก"

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สร้างความฮือฮาและมีความชัดเจนมากที่สุดก็คือ ทิศทางยุคใหม่ในธุรกิจสุราและเครื่องดื่มทั้งหมดในอาณาจักรของเจริญ ที่กำลังจะก้าวผ่านยุคบุกเบิก ยุคผูกขาดสัมปทานไปสู่มิติใหม่ของการค้าเสรี การแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

    รวมถึงการผนึกเอาธุรกิจทั้งเครือเพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย



    การเปิดตัวให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้น เจริญเล่าถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีการถือหุ้นไขว้กันมากมาย

    "เจริญ" บอกว่าเขาได้จัดรวบรวมบริษัทที่กระจัดกระจายกว่า 900 แห่งทั่วประเทศมาจัดหมวดหมู่ให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสตามหลักบรรษัทภิบาล ก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    แนวคิดและทิศทางดังกล่าวเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ยุคที่รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดเสรีการบริหารสุรา ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดยุคสัมปทานเหล้า เมื่อรัฐบาลนำโรงงานผลิตสุรา 12 โรงงานออกมาประมูลขาย และยักษ์ใหญ่อย่าง "เจริญ" เข้าใจดีว่าจะอย่างไรเสียก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

    รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับกลุ่มบริษัทเหล้าและเบียร์ทั้ง 47 บริษัทที่ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านบาท

    นายเจริญให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการรวมกลุ่มบริษัทในเครือเพื่อจัดตั้งเป็น บริษัท ไทยเบเวอเรจ ว่าปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยหนึ่งมาจากการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและนานาชาตินั่นเอง

    "จากกระแสของการเปิดเสรีทางด้านการค้าและบริการ ทั้งในรูปแบบของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และการทำ FTA กับอีกหลายประเทศ ต่อไปนี้จะมีต่างชาติมาแข่งกับเรา เห็นแล้วชักหนาว ซึ่งขณะนี้ได้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตสุราหรือมีการนำเข้าสุราจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศได้อย่างเสรี ทำให้ผู้ผลิตสุราจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการการแข่งขัน ดังนั้น เป้าหมายของการเข้าระดมทุนในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะนำเงินทุนไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตเหล้าและเบียร์

    และเงินอีกส่วนหนึ่งจะนำไปลดภาระหนี้สินของบริษัทที่มีอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท"

    จากคุณ : OnceInTheBlueMoon - [ 30 ม.ค. 48 02:27:12 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป