CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    มุมมองของการค้าเสรี โดย ดร.ศุภวุฒิ

    สนับสนุนเปิดการค้าเสรี

    ผมสนับสนุนเปิดการค้าเสรีในแบบพหุภาคี ภายใต้ WTO เพราะจะเป็นการเปิดกว้างให้ทุกประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ ได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้น เมื่อมีคู่เจรจาเป็นร้อยประเทศ การลดภาษี หรือสิ่งกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศ จึงไม่ต้องลดลงมาก ทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง และการต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ มีไม่มากนัก

    แนวโน้มของโลกใจร้อนต้องการให้เปิดเสรีอย่างรวดเร็ว และจับคู่กัน เพื่อสร้างพันธมิตรเศรษฐกิจการค้า จึงหันมาเจรจาเขตการค้าเสรีเป็นคู่ ซึ่งไม่ดีเท่ากับเปิดเสรีการค้าทั่วโลก แต่หากทำด้วยความระมัดระวัง ก็จะยังเป็นประโยชน์เพิ่มประสิทธิภาพ และเกิดความเป็นธรรมกับคู่เจรจาทั้งสอง

    ข้อโต้แย้งของฝ่ายต่อต้านเปิดเขตการค้าเสรีเกือบทั้งหมด ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

    1.การแข่งขันไม่เป็นธรรม เพราะเหมือนกับเอามวยฟลายเวทไปชกกับมวยเฮพวีเวท ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่ใช่แข่งขันกีฬา แต่เป็นการนำเอาทรัพยากรที่จำกัดมาใช้ประโยชน์สูงสุด

    ควรถามตัวเองว่า หากมีเงินอยู่ 100 บาท และอยากกินข้าวให้อิ่ม จะเลือกซื้ออาหารที่คุ้มค่ามากที่สุด หรือจะยอมให้รัฐบาลขึ้นภาษีอาหารที่ดีราคาถูก เพื่อให้ราคาอาหารดังกล่าวสูงเท่ากับอาหารอีกร้านหนึ่ง ซึ่งทำได้ไม่อร่อยคุณภาพต่ำกว่า เพียงเพื่อให้ร้านอาหารที่ทำอาหารคุณภาพต่ำ สามารถทำธุรกิจอยู่ต่อไปได้ แล้วอ้างว่า ทำเพื่อความเป็นธรรม

    2.เราไม่ควรทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐหรือญี่ปุ่น หรือจีน หรือออสเตรเลีย เพราะไทยจะขาดดุลการค้ามากขึ้น หากไทยมีการค้าเสรีกับออสเตรเลียแล้ว ปรากฏว่า เราขาดดุลการค้ามากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายไทยเจรจาแบบไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะเสียหายอะไรเลย เพราะประเด็นอยู่ที่ว่าการค้าโดยรวมกับทุกประเทศนั้น ขาดดุล หรือเกินดุลอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ เราอาจจะซื้อสินค้าออสเตรเลียมากขึ้น แต่ซื้อสินค้าจากอังกฤษน้อยลงก็ได้

    การขาดดุลการค้าหากมากเกินไป สิ่งที่จะตามมา คือ การอ่อนตัวของค่าเงินบาท ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกราคาถูกลง (เมื่อคิดเป็นเงินตราต่างประเทศ) ทำให้ขายของได้มากขึ้น และทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น (เมื่อคิดเป็นเงินบาท) ทำให้การนำเข้าลดลง จึงเป็นกลไกนำกลับไปสู่ความสมดุลอัตโนมัติ ไม่ว่าไทยจะมีเขตการค้าเสรีหรือไม่

    3.สหรัฐเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้ยาราคาแพงอีก 10 เท่า (หรือ 20 เท่า) จนคนไทยไม่มีเงินซื้อ การเรียกร้องในหลักการไม่ใช่เรื่องค้า-ขาย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน หากเราไม่ให้ ก็อาจตกลงอะไรกับเขาไม่ได้แล้วต้องสูญเสียผลประโยชน์ด้านส่งออกไป ซึ่งต้องมาดูว่าผลประโยชน์ตรงนี้มากมายเพียงใด

    ในกรณีของสหรัฐได้รับผลประโยชน์มากพอดู เพราะไทยส่งออกไปสหรัฐกว่า 1.6 หมื่นล้านหรียญในปีที่แล้ว เป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพี หากตกลงกันสำเร็จและเพิ่มยอดขายได้อีก 10% หรือเท่ากับ 1.6 พันล้านเหรียญ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่บางคนอาจเถียงว่า หากยอมอเมริกัน ทำให้คนไทยต้องตาย เพราะไม่มีเงินซื้อยา ก็ไม่คุ้มกัน ลืมว่าไม่มีผู้ผลิตยารายใด ตั้งราคาสูงจนลูกค้าไม่มีเงินซื้อ เพราะหากยาราคาเม็ดละ 10 บาท ขายได้ 1 ล้านเม็ด ก็มีรายได้ 10 ล้านบาท แต่ยาที่ตั้งราคาเม็ดละ 1 ล้านบาท แต่ขายได้ 0 เม็ด ก็จะได้เงิน 0 บาท

    การตั้งราคาเพื่อให้มียอดขายสูงสุด ไม่ใช่ราคาต่อหน่วยสูงสุด ในประเทศที่รายได้น้อย ราคายาต้องต่ำกว่าประเทศที่รายได้สูง หากผู้ผลิตต้องการกำไรสูงสุด ประเด็นจึงอยู่ที่การเจรจาเพื่อจำกัดกำไรส่วนเกินที่ได้จากการเป็นผู้ผูกขาดว่า ควรมีมากน้อยเพียงใด โดยในส่วนของสิทธิบัตรนั้น ในหลักการเป็นการให้กำไรส่วนเกินเพื่อตอบแทนการเป็นผู้ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน

    4.สินค้าเกษตรของไทยจะถูกตีตลาด ทำให้ชาวนาไทยเสียหาย เพื่อประโยชน์ของนายทุนที่ส่งออกไปสหรัฐ การเปิดเสรีย่อมจะมีผู้ที่เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ แต่ส่วนที่ได้จะต้องมากกว่าส่วนเสียเสมอ เพราะเปิดเสรีการค้าจะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำเอากำไรของผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ให้ปรับตัวไปสู่อาชีพอื่นที่ไทยมีความสามารถแข่งขัน

    ตรงนี้ รัฐบาลไทยบกพร่องเพราะไม่ได้ชี้แจงชัดเจนว่า ผู้ใดจะสูญเสียบ้าง และจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียอย่างเหมาะสมอย่างไร

    หากการทำการเกษตรบางอย่างเป็นสิ่งที่แข่งขันไม่ได้ ก็ควรเลิกทำ เพราะในระยะยาวจะถูกกดดันจากการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้ธุรกิจลุ่มๆ ดอนๆ ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐตลอดไป ควรจะเน้นพัฒนาการศึกษา และทักษะให้ประกอบอาชีพอื่นที่มีลู่ทางสดใสกว่า

    5.เปิดเสรีการเงินแล้ว สถาบันการเงินก็จะถูกครอบงำโดยต่างชาติทั้งหมด นิวซีแลนด์เปิดเสรีและปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ธนาคารถูกต่างชาติซื้อไปหมด แต่เศรษฐกิจก็เจริญรุ่งเรืองได้ดีกว่าก่อนเสียอีก ธุรกิจการเงินการธนาคารนับวันจะเป็นธุรกิจโลก หากไม่พัฒนาปรับปรุงก็จะล้าหลังและขาดประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนของคนไทยสูงกว่าคู่แข่ง

    ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 4-5% สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ทำให้คนไทยออมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการสูงกว่าที่ควรจะเป็น หากมีการยืนยันจะเปิดเสรีภายในระยะเวลาที่ชัดเจน (เช่น 3-5 ปี) ผมเชื่อว่า ธนาคารไทยก็จะรีบปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขัน และน่าจะเห็นการสร้างพันธมิตรกับธนาคารต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

    ถามว่า ธุรกิจหลักทรัพย์จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ากระทบแน่ และจะต้องเหนื่อยกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่ก็จะช่วยนำพาตลาดทุนของไทยไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งผู้ที่สูญเสียประโยชน์ คือ เจ้าของบริษัท แต่พนักงานจะไม่เสียประโยชน์ ตรงกันข้าม หากมีฝรั่งเข้ามาทำธุรกิจ ก็จะแย่งชิงพนักงาน ทำให้ได้รับเงินเดือนสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะเรียนรู้ พัฒนาความรู้ความสามารถ ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    จากคุณ : ตอง - [ 17 ม.ค. 49 11:03:27 A:61.91.217.99 X: TicketID:100920 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป