ความคิดเห็นที่ 4
ความแตกต่างระหว่าง แคชเชียร์เช็ค ดราฟท์ และเช็คของขวัญ 2-3 วันที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอ่าน case เก่าๆ ก็มีอยู่ case หนึ่งน่าสนใจดี เกี่ยวกับลูกค้ามาร้องเรียนว่าธนาคารเอาเปรียบในเรื่องการขายตราสารการเงิน โดยลูกค้าซื้อ cashier's cheque จากกรุงเทพ แล้วไปจ่ายค่าที่ดินที่เชียงใหม่ และถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช็คต่างจังหวัดอีก 0.2% (ก็หลายตังค์อยู่ เพราะเช็คใบนั้นหลายล้านบาทเหมือนกัน) อ่านไปอ่านมาก็พอเข้าใจสาเหตุที่เกิดขึ้นว่า ลูกค้าไม่ทราบระบบตราสารของธนาคาร อีกทั้งก็ไม่ได้บอกพนักงานที่ขายเช็คด้วยว่าจะเอาเช็คไปทำอะไร หรือไปขึ้นเงินที่ไหน ปัญหาถึงได้เกิดขึ้น
ผมก็เลยขออธิบายพื้นฐานการใช้บริการตราสารการเงินของธนาคารให้ทราบครับ เผื่อท่านใดจะใช้บริการจะได้ไม่เกิดปัญหารำคาญใจ และพาลจะโกรธธนาคารและพนักงานอีก ;-)
ตราสารการเงินของธนาคารมี 3 แบบคือ cashier's cheque (c/o) demand draft (d/d) และ gift cheque (g/c) หมายเหตุ.- แต่ละธนาคารอาจจะเรียกชื่อต่างๆ กันรวมทั้งค่าธรรมเนียมก็ต่างกัน แต่พื้นฐานการบริการเหมือนกัน
1. c/o เป็นตราสารสั่งจ่ายเงินที่นิยมใช้กันมากที่สุด (ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักแต่ตัวนี้) วัตถุประสงค์การใช้คือ เพื่อสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินที่มีการระบุชื่อชัดเจน และใช้ขึ้นเงินในเขต Clearing เดียวกัน รูปแบบของ c/o เป็นเช็คจ่ายตามคำสั่ง (order cheque) นั่นหมายถึง ลูกค้าต้องระบุชื่อว่าจะต้องการสั่งจ่ายเงินให้ใคร (จ่ายให้ตัวเองก็ได้) ห้ามสั่งจ่าย "เงินสด" เด็ดขาด (ถ้าใครได้รับ c/o สั่งจ่ายเป็นเงินสด ขอให้สันนิษฐานเลยว่าปลอม หรือไม่ก็พนักงานธนาคารชุ่ยเต็มที) ส่วนจะขีดคร่อมหรือไม่ขีดคร่อมก็ได้ ค่าธรรมเนียม c/o ฉบับละ 20 บาท ลูกค้าจะซื้อ c/o ราคา 10 ล้านบาท หรือราคา 10 บาท ค่าธรรมเนียมก็ 20 บาทเหมือนกัน การขึ้นเงินตาม c/o นั้น ผู้ทรง (หรือผู้ที่มีชื่อบนหน้า c/o นั่นแหละ) จะต้องขึ้นเงินกับสาขาของธนาคารที่อยู่ในเขต Clearing (หรือเขตจังหวัดเดียวกัน) ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม แต่ถ้าไปขึ้นเงินในต่างจังหวัดจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเช็คต่างจังหวัดอีก 0.2% ของจำนวนเงินบนหน้าเช็ค (หมายเหตุ.- บางจังหวัดมี 2 เขต Clearing เช่นอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร กรุณาสอบถามพนักงานก่อนขึ้นเงินตาม c/o)
2. d/d รูปแบบเหมือน c/o ทุกประการ แต่วัตถุประสงค์ เพื่อใช้ขึ้นเงินในต่างจังหวัด (หรือต่างเขต Clearing) กับสาขาที่ออก d/d นั้น เช่นหากลูกค้าอยู่ที่กรุงเทพ ต้องการไปซื้อที่ดินที่เชียงใหม่ ไม่ต้องการหอบเงินสดไป หรือไปถอนเงินที่ต่างจังหวัด เพราะค่าธรรมเนียมแพง (สูงสุด 1,020 บาท) ค่าธรรมเนียม d/d จะแปรผันตามจำนวนเงินที่ลูกค้าสั่งซื้อ โดยจะเริ่มที่ หนึ่งหมื่นบาทแรก คิดค่าธรรมเนียม 10 บาท และหมื่นต่อๆ ไป คิดค่าธรรมเนียมหมื่นละ5 บาท (แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าปรับราคาแล้วหรือยังครับ)
3. g/c คือเช็คของขวัญ ใช้เนื่องในโอกาสที่ลูกค้าจะมอบเงินให้แก่ผู้รับในวาระพิเศษ เช่น วันเกิด แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น (เช็คสำหรับงานศพก็มีครับ) ค่าธรรมเนียมฉบับละ 15 บาท รูปแบบของ g/c เป็นเช็คผู้ถือ (bearer cheque) นั่นคือลูกค้าสามารถสั่งจ่าย "เงินสด" ได้ สำหรับการขึ้นเงินตาม g/c นี้เหมือนกับ c/o คือใช้ขึ้นเงินในเขตจังหวัดเดียวกันกับสาขาที่ออกเช็ค แต่ถ้าไปขึ้นเงินต่างจังหวัด ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม 0.2% เหมือนกัน
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ลูกค้ามักจะซื้อ c/o แล้วนำไปใช้ขึ้นเงินในต่างจังหวัด ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช็คเรียกเก็บอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งลูกค้าจะไม่พอใจมาก ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าจะใช้ตราสารอย่างไหนถึงจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยสุด สามารถสอบถามพนักงานได้ครับ
ลองมาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียม c/o กับ d/d เล่นๆ กันดู
1. ลูกค้าต้องการซื้อตราสารราคา 10,000 บาท เพื่อจะจ่ายเงินให้กับผู้รับซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ถ้าซื้อ c/o จะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท แต่ถ้าซื้อ d/d เสียแค่ 10 บาท
2. ลูกค้าซื้อตราสารราคา 10,000 บาท เพื่อจะจ่ายเงินให้กับผู้รับอยู่ต่างจังหวัด ถ้าซื้อ c/o จะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท + ค่าธรรมเนียมเช็คต่างจังหวัด (0.2%) 20 บาท รวม 40 บาท แต่ถ้าซื้อ d/d เสียแค่ 10 บาท
3. ลูกค้าซื้อตราสารราคา 100,000 บาท เพื่อจะจ่ายเงินให้กับผู้รับซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ถ้าซื้อ c/o จะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท แต่ถ้าซื้อ d/d เสีย 55 บาท
3. ลูกค้าซื้อตราสารราคา 100,000 บาท เพื่อจะจ่ายเงินให้กับผู้รับอยู่ต่างจังหวัดเดียว ถ้าซื้อ c/o จะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท + ค่าธรรมเนียมเช็คต่างจังหวัด (0.2%) 200 บาท รวม 220 บาท แต่ถ้าซื้อ d/d เสีย 55 บาท
ก็ลองพิจารณาเลือกใช้บริการดูนะครับ หากสงสัยหรือไม่แน่ใจสอบถามพนักงานก่อนได้ครับ
จากคุณ : Knight - [ 16 พ.ค. 46 10:27:24 A:203.149.38.19 X: ]
จากคุณ :
Knight
- [
30 ม.ค. 49 16:24:48
]
|
|
|