CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ซื้อขายหุ้นฯลฯ ปีละ 3 ครั้ง(ไม่ใช่รอบ) ก็พอ

    ขออ้างอิงความเห็นที่ได้ให้ไว้ในกระทู้ "ซื้อขายหุ้นฯลฯ ปีละ 3 ครั้ง(ไม่ใช่รอบ) ก็พอ" ก่อนหน้านี้

    เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าค่าคอมม์เสรีได้ต่อไปถึงสิ้นปีนี้ (31 ธันวาคม 2549) ความเห็นในหุ้นหลักทรัพย์ที่ให้ไว้ในกระทู้อ้างอิงอยู่บนสมมติฐานค่าคอมม์อัตราปัจจุบันต่อออกไปอีก ณ บัดนี้(ตามข่าวข้างล่าง)ได้มีความคืบหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงในอัตราปรับลดตามปริมาณซื้อขายรวมของตลาด

    (๑)  0.23% ถ้ามูลค่าซื้อขาย 5 ล้านล้านบาท
    (๒) 0.20% ถ้ามูลค่าซื้อขาย  6 ล้านล้านบาท
    (๓) 0.19% ถ้ามูลค่าการซื้อขายรวม 7.5 ล้านล้านบาท

    ตลท ได้เคยเปิดค่าคอมม์เสรี 100% มาแล้ว ปรากฏว่ามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างโบรกด้วยกัน ผลทำให้ขาดทุนกันแทบทุกโบรกส่งผลกระทบราคาในกระดานรวมทำให้ตลาดซบเซา จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้อัตราคั่นต่ำ 0.25% และ 0.21% สำหรับเทรดผ่านมาร์และเน็ตตามลำดับ

    ตามข้อเสนอข้างต้น (๑) (๒) (๓) เป็นการป้องกันไม่ให้แข่งกันเจ๊งดังที่เป็นมาแล้วในอดีต ถึงอย่างนั้นก็ตามจะส่งผลกระทบผลประกอบการของโบรก รายได้จะลดลง 20% จากรายได้ปัจจุบัน โบรกไหนกำไรน้อยๆก็สามารถพลิกกับมาเป็นขาดทุน ส่วนที่ขาดทุนอยู่ก็จะขาดทุนมากขึ้น แน่นอนจะส่งผลกระทบราคาหุ้นหลักทรัพย์อย่างหลีกเหลี่ยงไม่พ้น

    ตามข่าวจะมีประชุมในสัปดาห์นี้ ขอให้เพื่อนๆใช้วิจารณญานในการซื้อขายตามที่ความเห็นที่ให้ไว้ในกระทู้  "ซื้อขายหุ้นฯลฯ ปีละ 3 ครั้ง(ไม่ใช่รอบ) ก็พอ" ด้วยความเห็นส่วนตัวหุ้นหลักทรัพย์ยังเป็นหุ้นเป้าหมายที่ตามแนวทางที่กล่าวไว้ในกระทู้ สิ่งสำคัญต้องติดตามราคาหุ้นจนกว่ามันจะนิ่งที่จุดพอดีกับอัตราใหม่ที่จะนำเข้าประชุมเร็วๆนี้

    ท้ายสุดและสำคัญมากๆ เพื่อนๆต้องวิเคราะห์ผลได้เสียเป็นอย่างไร ต้องเชื่อตัวเองมากๆ ไม่เชื่อใครๆนอกจากตัวเราเองเท่านั้น ไม่มีใครจะมาทำให้เรารวยนอกจากตัวเราเองผู้เดียว

    ด้วยความปรารถนาดี
    ***************
    แนวทางการปรับลดค่าคอมมิชชั่นของบริษัทโบรกเกอร์ มีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง ซึ่งทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะเสนอต่อที่ประชุมสมาชิกภายในสัปดาหนี้ และจะสรุปข้อตกลงให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 1 นี้ เพื่อให้สมาชิกได้มีเวลาในการเตรียมตัว


    แนวทางที่จะปรับลดค่าคอมมิชชั่นดังกล่าว แนวทางที่ 1 คือ การปรับลดค่าคอมมิชชั่นจาก 0.25 % เป็น 0.20% แนวทางที่ 2 การปรับลดค่าคอมมิชชั่น ตามมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดฯ คือ ถ้ามูลค่าการซื้อขายรวม 5 ล้านล้านบาท ค่าคอมมิชชั่น เท่ากับ 0.23% ถ้ามูลค่าการซื้อขายรวม 6 ล้านล้านบาท ค่าคอมมิชชั่น 0.20% ถ้ามูลค่าการซื้อขายรวม 7.5 ล้านล้านบาท ค่าคอมมิชชั่นเท่ากับ 0.19%

    ถึงแม้ว่าบริษัทโบรกเกอร์จะต้องปรับตัวในการดำเนินงาน ตามปัจจัยกดดันที่ค่าคอมมิชชั่นจะลดลง แต่ถ้าเป็นไปตามแนวทางทั้งสองนี้ โบรกเกอร์ไม่ต้องแข่งกันในเรื่องราคา แต่แข่งกันในด้านคุณภาพของการให้บริการ

    สำหรับมุมมองของฝ่ายวิจัยมีความเห็นว่า ในปี 2550-51 มูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดคาดว่าจะอยู่ในระดับ 5-6 ล้านล้านบาท ดังนั้นจาก 2 แนวทางที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์เสนอ ค่าคอมมิชชั่นจะอยู่ที่ระดับ 0.20-0.23%

    ราคาเป้าหมายในปี 2549 ของหุ้นในกลุ่มหลักทรัพย์จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว แต่การคาดการณ์ผลการดำเนินงานในปี 2550-51 จะต้องมีการปรับประมาณการค่าคอมมิชชั่นจากมาตรการดังกล่าวใหม่

    สำหรับผลกระทบต่อบริษัทโบรกเกอร์ ในปี 2550 เราคาดว่า โบรกเกอร์ที่พึ่งพารายได้จากค่า Brokerage fee มาก จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มากกว่าโบรกเกอร์ที่มีรายได้จากแหล่งอื่นมาเพิ่ม เช่น รายได้ค่าธรรมเนียม กำไรจากการบริหาร Port การลงทุน เป็นต้น

    นอกจากนี้โบรกเกอร์ที่มีต้นทุนในการดำเนินงานสูงจะเสียเปรียบโบรกเกอร์ที่มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่า

    ในเบื้องต้นเราคาดการณ์ผลกระทบของการปรับลดค่าคอมมิชชั่นจากข้อมูลจากงบการเงินใน 9 เดือนแรกของปี 2548 (งบการเงินปี 2548 ยังประกาศไม่ครบ) โดยเปรียบเทียบ Broker ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 14 บริษัท ได้แก่ KEST, ASP, PHATRA, ZMICO, KGI, BLS, GBX, CNS, UOBKH, SSEC, ASL, TNITY, SYRUS และ US

    บริษัทที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทอื่น หรือได้เปรียบบริษัทอื่น เนื่องจากมีรายได้ที่เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่สูงเกิน 10% ได้แก่ ASP, PHATRA, ZMICO, KGI และ TNITY สำหรับบริษัทที่ต้องพึ่งพา รายได้ Brokerage fee มีสัดส่วนสูงกว่า 85% ได้แก่ KEST, BLS, UOBKH, SSEC, ASL

    แต่ถ้าเปรียบเทียบทางด้านค่าใช้จ่าย บริษัทที่มี Operating expense ต่ำจะได้เปรียบบริษัทที่มี Operating expense สูง บริษัทที่มี Operating expense ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 69% ได้แก่ KEST, ASP, PHATRA, KGI, BLS, GBX, CNS, UOBKH, TNITY และ SYRUS โดยเฉพาะบริษัทที่มี Operating expense ต่ำกว่า 50% ได้แก่ PHATRA, GBX, UOBKH แสดงว่า มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำ

    ส่วนบริษัทที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงมาก ได้แก่ ASL, US, SSEC และ ZMICO ย่อมจะต้องปรับตัวมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ถ้าเปรียบเทียบ Net Profit Margin บริษัทที่มี Net Profit Margin สูงเกินกว่า 30% ได้แก่ UOBKH, PHATRA และ KEST ส่วนบริษัทที่มีผลขาดทุนและมี Net Profit Margin ติดลบ ได้แก่ ASL และ US

    เปรียบเทียบในภาพรวม โดยมีองค์ประกอบหลายด้านทั้งสัดส่วนรายได้ สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และ Net Profit Margin แล้ว เรามีความเห็นว่า บริษัทที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนมากกว่าบริษัทอื่น คือ PHATRA เพราะ PHATRA มีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียม 12% มีสัดส่วนค่าใช้จ่าย Operating expense ต่ำ เท่ากับ 44% และมี Net Profit Margin สูง เท่ากับ 31.67% ซึ่งดีกว่าบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ โดยทั่วไป รองลงมา คือ KEST และ ASP โดยที่ KEST มี Net Profit Margin สูงเท่ากับ 30.70% ส่วน ASP มีรายได้จากค่าธรรมเนียมสูง เท่ากับ 13.16%

    ZMICO มีรายได้จากค่าธรรมเนียมสูงเท่ากับ 13.6% แต่มีข้อเสีย คือ Operating expense สูงถึง 72% ทำให้ Net Profit Margin ค่อนข้างต่ำ เท่ากับ 20.81%

    KGI มีรายได้ค่าธรรมเนียมสูงเท่ากับ 18.92% แต่มี Operating expense สูง (เท่ากับ 63%) Net Profit Margin เท่ากับ 20.81%

    BLS มีรายได้คาธรรมเนียม 9.48% มี Operating expense สูง (เท่ากับ 68%) Net Profit Margin เท่ากับ 15%

    GBX มีสัดส่วนรายได้ Brokerage fee เพียง 65.80% โดยมีกำไรจาก port การลงทุนสูง คิดเป็นสัดส่วน 26% รายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วน 4.15% แต่กำไรจาก port การลงทุนมีความผันผวนสูง จะทำให้รายได้ของ GBX ผันผวนได้มาก ส่วน Net Profit Margin เท่ากับ 28.85%

    CNS มีรายได้ค่าธรรมเนียม 4.55% มี Operating expense มีสัดส่วนเท่ากับ 65.70% และ Net Profit Margin เท่ากับ 23.57%

    UOBKH พึ่งพารายได้ Brokerage fee มาก เท่ากับ 93.60% แต่มี Net Profit Margin สูง 32.20

    SSEC พึ่งพารายได้ Brokerage fee สูง เท่ากับ 86% มี Operating expense สูง 89% ทำให้ Net Profit Margin ต่ำเพียง 4.06%

    ASL พึ่งพารายได้ Brokerage fee สูงเท่ากับ 86% มี Operating expense สูงถึง 131.68% ทำให้มีผลขาดทุน โดยมี Net Profit Margin ติดลบ

    TNITY มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสูงถึง 14% แต่มี Operating expense สูง 67.63% Net Profit Margin ค่อนข้างต่ำ เท่ากับ 12.88%

    SYRUS พึ่งพารายได้ Brokerage fee เทากับ 85% มีรายได้ค่าธรรมเนียม 8% แต่มี Operating expense สูง ทำให้ Net Profit Margin ค่อนข้างต่ำ เท่ากับ 13%

    US มีรายได้ค่าธรรมเนียม 8.30% พึ่งพารายได้ Brokerage fee เท่ากับ 84% แต่มี Operating expense สูงมากถึง 91% ทำให้มีผลขาดทุน และ Net Profit Margin ติดลบ

    บทความข้างต้นเป็นบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของบริษัทหลักทรัพย์กรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าคอมฯ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับทิศทางของ SET INDEX ยังน่าจะอยู่ในช่วงการปรับฐานต่อเนื่อง โดยคาดว่า กรณีการลงมาใกล้แนวรับ 680-700 (ต่ำกว่า 720) ลงมาจะเป็นสัญญาณอีกครั้งในการสะสมหุ้นรอบใหม่ ซึ่ง ณ จุดนี้ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่สุดเช่นเดิม

    *********
    ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

    จากคุณ : luck me - [ 14 ก.พ. 49 06:51:14 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป