CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    บุญคลีเสนอ ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ต่างชาติ

    ฮือต้านยกที่ดินให้ต่างชาติ "3สมาคมอสังหาฯ"นัดระดมพล

    3 สมาคมอสังหาฯออกโรง เรียกสมาชิกถกข้อเสนอ ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ต่างชาติ ของคณะทำงาน BOI อุปนายก ส.บ้านจัดสรร ชี้ทำเหมือนขายชาติขายแผ่นดิน ไม่เข้าใจคิดมาได้อย่างไร เพราะปัจจุบันต่างชาติสามารถเช่าที่ดินรวมกันถึง 100 ปีได้อยู่แล้ว ด้าน "ศุภัช ศุภชลาศัย" แบ่งรับแบ่งสู้ มีกรรมการในคณะทำงานเสนอจริง สุดท้ายโยนให้ "สมคิด" ตัดสิน จะเอาแบบให้เช่า หรือยกกรรมสิทธิ์

    ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานภายหลังจากที่คณะทำงานเพื่อศึกษาและกำหนดมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ยังมีการลงทุนน้อย หรือไม่มีการลงทุนในประเทศ ชุดที่มีนายบุญคลี ปลั่งศิริ เป็นประธาน ยื่นข้อเสนอให้กรมที่ดินปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยอ้างว่าเป็น "พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร" ซึ่งคนในวงการอสังหาริมทรัพย์เองยังไม่รู้ว่าการพัฒนาแบบครบวงจรคืออะไร ?

    ข้อเสนอของคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้ถูก วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากผู้ประกอบการอสังหาฯและนักวิชาการ โดยส่วนใหญ่แสดงความเห็นคัดค้านแนวคิดของคณะทำงาน เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ ถือเป็นการเสนอผลประโยชน์แก่ต่างชาติมากเกินไป และหากคณะทำงานยังดึงดันในเรื่องนี้ต่อไป ก็จะมีกระแสคัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายๆ ฝ่าย

    ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า ในการประชุมสมาคมอสังหาริมทรัพย์ 3 สมาคม (สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร-สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย-สมาคมอาคารชุดไทย) ครั้งต่อไปจะมีการหยิบยกข้อเสนอการให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างชาติ ของคณะทำงานชุดนายบุญคลีเข้าสู่การประชุมร่วมด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯไทยวิตกกังวลมากถึงการเปิดกว้างให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจอสังหาฯแบบครบวงจรโดยเสรี พร้อมกับให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทย

    นายอิสระ บุญยัง อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยและเปิดให้สามารถลงทุนธุรกิจอสังหาฯได้อย่างเสรี เพราะถ้าทำอย่างนั้นจริงๆ ก็เหมือนกับเป็นการ "ขายชาติขายแผ่นดิน" ที่สำคัญจะมีผลกระทบตามมาหลายอย่าง

    และที่น่าเป็นห่วงก็คือ "ต้นทุนเงิน" ในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการอสังหาฯไทยมาก ทำให้มีความได้เปรียบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถจะแข่งขันได้ นอกจากนี้จะทำให้ความสามารถในการถือครองที่ดินของคนไทยลดน้อยลง จากการที่ราคาที่ดินจะถูกปั่นให้สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ในส่วนนี้แม้จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินของประเทศ แต่จะส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะซื้อบ้านซื้อที่ดินที่แพงเกินไปได้

    "ผมไม่รู้ว่า ผู้เสนอมีเจตนาอย่างไร หรือมีอะไรเบื้องลึกหรือไม่ ที่น่าคิดก็คือ มีความจำเป็นอะไรที่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เพราะในจุดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขทางการค้าของประชาคมโลก ที่จะต้องให้เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาได้โดยเสรี และที่ดินของประเทศก็มีเพียงแค่เท่าที่มีอยู่เท่านั้น ประกอบกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่เวลานี้ก็เปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจหรือลงทุนได้พอสมควรอยู่แล้ว เช่น สามารถเช่าที่ดินได้เป็นระยะเวลาไม่เกินกว่า 50 ปี และต่ออายุได้อีกไม่เกิน 50 ปี ซึ่งรวมระยะเวลาแล้วก็สามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 100 ปี" นายอิสระกล่าว

    นายอิสระกล่าวว่า ในกรณีนี้เป็นไปได้ว่า คณะทำงานชุดนายบุญคลีอาจมองว่าผู้ประกอบการอสังหาฯไทยไม่มีความสามารถในการพัฒนาโครงการในรูปแบบหรือวงเงินลงทุนตามที่ภาครัฐต้องการ ขณะที่ความเป็นจริงในปัจจุบันกลุ่มทุนต่างชาติก็เข้ามาลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว หรืออาจเห็นว่าการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินลงทุนเป็นหมื่นล้านแสนล้านบาท ทั้งที่จริงๆ แล้ว "ไม่ได้เป็นอย่างนั้น"

    "ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรต้องให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เสรี ปัจจุบันแม้แต่การพัฒนาโครงการสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ตัว BOI เองนั้นแหละที่กำหนดเงื่อนไขในการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ทำได้ยาก เช่น ต้องสร้างบ้านราคาต่ำกว่า 600,000 บาท/ยูนิต หรือถ้าเป็นห้องชุดก็ต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 31 ตารางเมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นมาก และในอดีต BOI เองก็เคยบอกปัดการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ของ BOI และเพิ่งมาให้สิทธิประโยชน์ในช่วงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2536 นี้เอง แต่กับต่างชาติคราวนี้กลับเสนอเงื่อนไขจูงใจให้มากมาย" นายอิสระกล่าว

    ด้าน ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา APEC หนึ่งในคณะทำงานเพื่อศึกษาและกำหนดมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยังมีการลงทุนน้อยหรือยังไม่มีการลงทุนในประเทศ ซึ่งมีนายบุญคลี ปลั่งศิริ เป็นประธานคณะทำงาน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในระหว่างประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีคณะทำงานบางท่านเห็นด้วยกับแนวทางให้เช่า บางท่านเห็นด้วยกับแนวทางให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ได้ ท้ายที่สุดที่ประชุมจึงมีมติให้เสนอทั้ง 2 แนวทาง คือ ให้ต่างชาติเช่า หรือต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ เพื่อให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) เป็นผู้ตัดสินใจ

    ล่าสุดทางคณะทำงานได้ส่งร่างข้อเสนอทั้งหมดให้กับบอร์ด BOI แล้ว แต่ทราบว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานบอร์ด BOI ขอให้นำข้อเสนอทั้งหมดไปนำเสนอในที่ประชุมสัมมนา ซึ่งจะเชิญนักลงทุนเข้ามาร่วมรับฟังข้อเสนอและให้ข้อเสนอแนะก่อนที่จะส่งกลับไปให้บอร์ด BOI พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

    "ผมไม่ต้องการให้สนใจเฉพาะในประเด็นที่ดิน และไม่ต้องการให้นำประเด็นนี้มาเป็นเรื่องสำคัญจนกระทั่งบดบังประเด็นสำคัญที่คณะทำงานชุดนี้เสนอ แต่อยากให้ทุกคนพิจารณาถึงข้อเสนอของคณะทำงานว่า มีของดีอยู่ข้างในหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการให้ BOI เป็น one stop service ซึ่งจะส่งผลดีทั้งกับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ" ดร.ศุภัชกล่าว

    ทุกวันนี้บทบาทของ BOI ทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เน้นให้สิทธิประโยชน์ แต่ปัจจุบันไทยและทั่วโลกเปิดเสรีมากขึ้น แทบจะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์มาดึงดูดนักลงทุนได้แล้ว จึงต้องหันมาเน้นในเรื่องการบริการ ซึ่ง one stop service ที่คณะทำงานเสนอนั้น มีรูปแบบคือ

    หากนักลงทุนไทย หรือนักลงทุนต่างชาติ ต้องการจะขอรับการส่งเสริมสามารถเดินเข้ามาที่ one stop service แล้ว จะได้เลขรหัสไป หลังจากนั้นทาง one stop service จะดำเนินเรื่องให้ทั้งหมดภายในจุดเดียว ไม่ต้องทำเหมือนปัจจุบันที่จะต้องใช้เวลาไปเดินเรื่องกับหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ทำให้เสียเวลา และไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร

    สำหรับประเด็นเรื่องที่ดินนั้น เท่าที่ศึกษาข้อมูลจากหลายๆ ประเทศ พบว่าต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งท้ายที่สุดเท่าที่พบมา ไม่มีประเทศใดถูกต่างชาติซื้อจนหมดประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐ กับออสเตรเลีย ที่เปิดให้ต่างชาติเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ หลายสิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเคยเข้าไปซื้อที่ดินในทั้งสองประเทศนี้จำนวนมาก จนเหมือนกับว่าเมืองใน 2 ประเทศนี้หลายเมืองจะกลายเป็นของญี่ปุ่นไป แต่พอเศรษฐกิจสหรัฐและออสเตรเลียดีขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นแย่ลง ทางสหรัฐและออสเตรเลียก็สามารถซื้อที่ดินกลับคืนมาได้มาก ซึ่งทั้งหมดนี้ผมเห็นว่า "เป็นไปตามกลไกเศรษฐศาสตร์" ดร.ศุภัชกล่าว

    อย่างไรก็ตาม "ร่างข้อเสนอ" ที่ส่งให้กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะประธานบอร์ด BOI นั้น มีข้อน่าสังเกตว่า ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ยกตัวอย่าง มาตรการที่จะให้สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ กับกลุ่มอุตสาหกรรม ถึงกับมีข้อเสนอนอกอำนาจของ BOI ให้กรมที่ดินแก้ไขในเรื่องของกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ภาษีรายได้ส่วนบุคคลของผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมไปถึงการกำหนดหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนหรือส่วนผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 2:1 เป็นต้น

    ในขณะที่มาตรการกำหนดให้ BOI กลายเป็น one stop service อย่างแท้จริงนั้น เป็นเพียงมาตรการ "เพิ่มความสะดวก" ให้กับนักลงทุน โดยการนำระบบ IT เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเท่านั้น

    จากคุณ : อ่านขาด - [ 14 ก.พ. 49 11:29:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป