ความคิดเห็นที่ 47
สรุปก็คือ สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปถึง นิคมของพวกกาลามะชื่อว่าเกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตรชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึง ทั้งทราบกิตติศัพท์ แห่งพระพุทธคุณของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ และกราบทูลพระ องค์ว่าได้มีสมณพราหมณ์ที่มายังเกสปุตตนิคมนี้ ต่างก็พูดประกาศเฉพาะลัทธิของพวก ตน และพูดตำหนิลัทธิของพวกอื่น จึงมีความสงสัยว่า ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๗๙
[๒] พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรแล้วที่ท่านจะสงสัย ท่านทั้งหลาย
อย่าได้เชื่อถือ ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้เชื่อถือ ตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา อย่าได้เชื่อถือ โดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้เชื่อถือ โดยอ้างตำรา อย่าได้เชื่อถือ โดยเดาเอาเอง อย่าได้เชื่อถือ โดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือ โดยความตรึกตามอาการ อย่าได้เชื่อถือ โดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตัว อย่าได้เชื่อถือ โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้เชื่อถือ โดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๗๙ - ๑๘๐ [๓] เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมใดเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน และการปฏิบัติธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ เมื่อนั้น ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๐
[๔] ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ความโลภ,ความโกรธ,ความหลง นี้ เมื่อเกิดขึ้นในคนเราแล้ว จะเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์? พวกชนกาลามโคตร ต่างกราบทูลว่าไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า พ. ท่านทั้งหลาย บุคคลผู้โลภ,โกรธ,หลง ย่อมฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ คบชู้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่น ให้กระทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ชั่วกาลนานก็ได้ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า พ. ท่านทั้งหลาย ท่านเห็นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล มีโทษหรือ ไม่มีโทษ ท่านผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ? กา. เป็นอกุศล มีโทษ ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า พ. การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ ย่อมไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ มิใช่หรือ? กา. ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๐-๑๘๑
[๕] พ. ท่านทั้งหลาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานั้นแหละ เราจึงได้ กล่าวไว้ว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้เชื่อถือด้วยเหตุต่าง ๆ ๑๐ ประการ เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนเอง ว่า ธรรมใดเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน และการปฏิบัติธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ เมื่อนั้นท่านควรละธรรม เหล่านั้นเสีย [ในพระสูตรตรงนี้ และต่อ ๆ ไป มิได้ใช้คำ "เชื่อถือ" แต่ใช้คำ "ยึดถือ" แทน] ท่านทั้งหลาย อย่าได้เชื่อถือ ด้วยเหตุต่าง ๆ ๑๐ ประการ เมื่อใด ท่านรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมใดเป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ และการปฏิบัติธรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ เป็นสุข เมื่อนั้น ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๑
[๖] ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ความไม่โลภ,ความไม่โกรธ,ความไม่หลง นี้ เมื่อเกิดขึ้นในคนเราแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์? กา. เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า พ. ท่านทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่โลภ,ไม่โกรธ,ไม่หลง ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ ย่อมชักชวนผู้อื่นให้กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสุขชั่วกาลนาน กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า พ. ท่านทั้งหลาย ท่านเห็นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ ท่านผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ? กา. เป็นกุศล ไม่มีโทษ ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระเจ้าข้า พ. การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นประโยชน์ เป็นสุข มิใช่หรือ? กา. ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ เป็นประโยชน์ เป็นสุข พระเจ้าข้า ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๑-๑๘๒
[๗] พ. ท่านทั้งหลาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานั้นแหละ เราจึงได้กล่าวไว้ว่า อย่าได้เชื่อถือด้วยเหตุต่าง ๆ ๑๐ ประการ เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนเอง ว่าธรรมใดเป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ และการปฏิบัติธรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ เป็นสุข เมื่อนั้นท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๓
[๘] ท่านทั้งหลาย อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ,ความพยาบาท ไม่หลง มีสติสัมปชัญญะมั่นคง มีใจเมตตา,กรุณา,มุทิตา,อุเบกขา แผ่ไปทุกทิศทุกทาง ตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจเมตตา,กรุณา,มุทิตา,อุเบกขา อันไพบูลย์ยิ่ง ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
ท่านทั้งหลาย อริยสาวกซึ่งมีจิต ไม่มีเวร,ไม่มีความเบียดเบียน,ไม่เศร้าหมอง มีจิตผ่องแผ้ว ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการ ในปัจจุบัน คือ
๑. ถ้าชาติหน้าและผลของกรรมมีจริง ก็อุ่นใจได้ว่า เมื่อตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ ๒. ถ้าชาติหน้าและผลของกรรมไม่มี ก็อุ่นใจได้ว่า ในชาตินี้จะไม่มีทุกข์ มีแต่ความสุข ๓. ถ้าทำบาปแล้วต้องได้รับทุกข์ ก็อุ่นใจได้ว่าจะไม่ได้รับทุกข์ใดๆ ๔. ถ้าทำบาปแล้วไม่ต้องได้รับทุกข์ ก็อุ่นใจได้ว่า จะไม่ได้รับทุกข์ทั้งสองสถาน คือทั้งจากที่ไม่ได้ทำบาป และที่ทำบาป
ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๔ [๙] กา. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระอริยสาวกผู้มีจิตอย่างนี้ ย่อมได้ ความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบัน ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอพระองค์โปรดทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๘๔
จากคุณ :
น้องส้มเด็กดี
- [
19 มี.ค. 49 00:16:05
]
|
|
|