CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    วิบากกรรมกฟผ.ใครได้ใครเสีย

    คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 49 ที่ระบุให้เพิกถอนพระราช
    กฤษฎีกา 2 ฉบับ เกี่ยวกับการแปรรูป บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้กลายเป็นคำพิพากษาครั้ง
    ประวัติศาสตร์ ที่ทำให้นโยบายการนำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เข้ากระจาย
    หุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย ของรัฐบาลก็ไปไม่ถึงดวงดาว และ บมจ. ต้องกลับมามี
    สถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเหมือนเดิม
                   ที่มาแห่งจุดจบของการแปรรูป กฟผ. ครั้งนี้ เกิดจากการที่เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค
    และพวกรวม 11 คน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี, สำนักนายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และ ครม.
    ว่า การออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                   โดยศาลพิพากษาว่าการแต่งตั้ง นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน
    คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้นถือว่านายโอฬารเป็นผู้ที่ต้องห้าม และขัดต่อกฎหมาย
    รวมทั้งถือเป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรง เพราะเป็นกรรมการในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด
    (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับ กฟผ. โดย ชินคอร์ป
    ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการสื่อสาร ที่ร่วมกับ กฟผ.
                    ขณะเดียวกัน ยังมีการแต่งตั้ง นายปริญญา นุตาลัย ผู้ช่วย รมว. ประจำกระทรวง
    ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของ
    ประชาชน ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีลักษณะต้องห้ามด้วย
    เช่นกัน
                     หลังจากสิ้นเสียงของศาลปกครองสูงสุด เสียงกรีดร้องพร้อมน้ำตา ที่แสดงถึงความ
    ดีใจก็ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณศาลปกครอง แต่ท่ามกลางความยินดีในชัยชนะที่ได้รับของกลุ่ม
    ผู้คัดค้านการแปรรูป “ความบอบช้ำ” ก็ยิ่งซ้ำเติมไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะตัวผู้นำอย่าง พ.ต.ท.
    ทักษิณ ชินวัตร เข้าให้อีก เพราะความหวังที่จะผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    (ตลท.) เทียบชั้นกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ก็ต้องพังทลายไปในฉับพลัน
    เพราะมาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าตลาดกว่า 2 แสนล้านบาท ได้หายไปในพริบตา
                    ไม่ว่าคนของรัฐบาลจะดาหน้ากันออกมาว่ายังไม่ได้รับผลกระทบเพราะหุ้นของ กฟผ.
    ยังไม่ได้กระจายเข้าตลาดหุ้นก็ตาม แต่ใครจะรับประกันว่าการกระจายหุ้นของ กฟผ. จะมีต่อหรือ
    ไม่ หรือเป็นไปในรูปแบบใด และจะเกิดขึ้นเมื่อใด อีก 1 ปี 2 ปี 3 ปี หรือไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย
                    แม้ว่าคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จะไม่ได้ทำให้ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
    ซวนเซไปในทันที รวมทั้งไม่ได้กระทบกับแผนการเพิ่มมาร์เก็ตแคป แต่ผู้บริหาร ตลท. ก็ยอมรับ
    ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ กฟผ. จะทำให้การเชิญชวนบริษัทใหญ่เข้ามาจดทะเบียนใน ตลท. ในอนาคต
    ทำได้ลำบากขึ้น และมีผลต่อความน่าสนใจของตลาดหุ้น
                   ยิ่งไปกว่านั้น จุดจบของการแปรรูป กฟผ. ในรอบนี้ กำลังจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ
    การเดินสายเช็กบิลกับรัฐวิสาหกิจแห่งอื่น ๆ ที่เตรียมจะเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที
    โอที กสท โทรคมนาคม หรือการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งการเดินหน้าเช็กบิล
    ครั้งนี้จะเป็นการบีบรัดให้หนทางการขยายขนาดของตลาดหุ้นไทย ที่ทางการวางไว้ตีบตันไปอีก
    แต่ที่อันตรายและน่ากลัวในความรู้สึกของบุคคลที่ชื่นชมทุนนิยม คือ การตามล้างบางกับรัฐ
    วิสาหกิจที่แปรรูปและเข้าจดทะเบียนไปแล้ว อย่าง ปตท., อสมท, และท่าอากาศยานไทย
                  โดยเฉพาะในกรณีของ ปตท. นั้น เป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุด และถือว่าเป็นหน้า
    เป็นตาที่สุดหุ้นหนึ่งของตลาดหุ้นไทย หากแผนล้างบางของฝ่ายคัดค้านดำเนินการได้จริง หลีก
    เลี่ยงไม่ได้ที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อตลาดหุ้นไทย ต้องลดน้อย
    ถอยลงไปอย่างแน่นอน
                  ขนาดขุนคลัง อย่าง “ทนง พิทยะ” อีกหนึ่งกุนซือของ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้รีบออกมาชี้แจง
    และขอร้องเครือข่ายผู้บริโภคผ่านทางสื่อมวลชนทุกแขนงว่า “อย่าทำ” เพราะจะทำให้ประเทศ
    ชาติกลับเข้าไปสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากบริษัทจำกัดเหล่านั้นมีมูลค่าในตลาดหุ้น
    หลายแสนล้านบาท หากต้องการถอนทุนเหล่านั้นกลับคืนมา ตลาดทุนของประเทศจะเล็กลงทันที
    ขณะที่ตลาดเงินก็ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ สุดท้ายต้องกลับไปกู้หนี้ยืมสินต่างชาติเข้าให้อีก หากไม่
    มีเงินใช้คืนก็ต้องเข้าไปสู่วังวนจุดเดิม
                 ขณะที่มุมมองของประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่าง “วิจิตร
    สุพินิจ” แม้จะกัดฟันแสดงความมั่นใจว่าเหตุที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อแผนแปรรูปของรัฐวิสาหกิจ
    อื่น ๆ ในอนาคต เพราะคำสั่งศาลที่ออกมาเกี่ยวข้องเฉพาะตัวของ กฟผ. เอง ส่วนการทวงคืนรัฐ
    วิสาหกิจแห่งอื่น ๆ ที่เข้าจดทะเบียนไปก่อนหน้านี้ ก็จะไม่มีผลกระทบเช่นกัน เพราะทุกอย่างได้
    ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปแล้ว
                 ทั้งนี้ขวากหนามของ กฟผ. ในครั้งนี้ถือเป็นขวากหนามที่ใหญ่ แม้จะไม่ได้ทำให้บาด
    เจ็บสาหัสเจียนตาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำให้ กฟผ. มีข้อจำกัดในการลงทุนมากขึ้น เพราะอีก 5 ปี
    จากนี้ กฟผ.ต้องการเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 4 โรง เพื่อผลิตกระแส
    ไฟฟ้ามารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ดังนั้นเมื่อไม่สามารถระดมทุนในตลาดหลัก
    ทรัพย์ได้ ก็ต้องใช้วิธีการกู้เงินมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม
    แต่การกู้เงินครั้งนี้รัฐบาลจะไม่ค้ำประกันให้ตามกฎหมายหนี้สาธารณะฉบับใหม่ ซึ่งทำให้เกิด
    ความเสี่ยงในการระดมทุนที่อาจได้เงินมาไม่เพียงพอกับการลงทุนได้
                แม้ว่าผู้นำองค์กร กฟผ. “ไกรสีห์ กรรณสูตร” จะยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ทำให้ กฟผ. ต้อง
    หยุดชะงักการลงทุนแต่อย่างใดก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าในระยะสั้นนี้ กฟผ. ต้องชะลอแผนการลงทุน
    ในต่างประเทศ เพื่อนำเงินมาขยายการลงทุนและพัฒนาในประเทศก่อน รวมทั้งต้องหารือกับ
    กระทรวงการคลังต่อไปเพื่อขอให้ค้ำประกันหนี้ให้
                ขณะเดียวกันปัญหาของ กฟผ. ที่ยังค้างคาขณะนี้คือ มูลค่าหุ้นที่พนักงานได้ซื้อไว้ รวมถึง
    ภาษีที่พนักงานจ่ายไป และเงินกู้ต่าง ๆ ที่พนักงานกู้มาซื้อหุ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 7,019 ล้าน
    บาท ซึ่งต้องรอดูว่า กฟผ. จะมีขั้นตอนคืนเงินอย่างไร, การดำเนินโครงการต่าง ๆ ในระหว่างที่อยู่
    ภายใต้สถานภาพ บริษัท มหาชน ก่อนหน้านี้ และกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิมนั้นมีแนวทาง
    ดำเนินการไปในทิศทางใด และอื่น ๆ เหล่านี้เป็นปมที่ฝ่าย บริหารของ กฟผ. ต้องขบปัญหาให้
    แตกและแก้ไขให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว
                ไม่ว่าทางออกของ กฟผ. จะออกมาเป็นรูปแบบไหน แต่สิ่งที่ กฟผ. และผู้ที่เกี่ยวข้องต้อง
    ตระหนัก คือ บทบาทและหน้าที่ขององค์กรแห่งนี้ในการดูแลการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความ
    ต้องการใช้ในประเทศ เพราะถ้าก้าวย่างของ กฟผ. ถูกบิดให้เดินหลุดออกไปจากเส้นทางที่ได้รับ
    มอบหมายแล้ว ประชาชนและประเทศ ก็คงจะต้องเป็นผู้แบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในที่สุด.  

    ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

    แก้ไขเมื่อ 27 มี.ค. 49 09:59:46

    จากคุณ : candlestick - [ 27 มี.ค. 49 09:39:33 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป