CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ย้อนรอย ITV สัมปทานอัปยศ

    มติชน วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9400

    หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า อนุญาโตตุลาการซึ่งพิจารณาข้อพิพาทระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด ในเครือชินคอร์ปอเรชั่น(ครอบครัวชินวัตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียุติลงด้วยรัฐเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กล่าวคือ จักต้องมีการแก้ไขสัญญาให้บริษัทไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐน้อยลง นอกจากนั้นรัฐยังต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ไอทีวีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้หุ้นของไอทีวีและหุ้นกลุ่มชินอื่นๆ ราคาพุ่งติดต่อกันหลายวัน

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่า การลดค่าสัมปทานและได้เงินค่าชดเชยจากรัฐจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทไอทีวีที่มีผลขาดทุนติดต่อกันมาหลายปีพลิกกลับมามีกำไร

    กลุ่มชินคอร์ปเข้าซื้อหุ้นไอทีวีจากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแกนนำ เมื่อปลายปี 2543 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 ขณะที่ไอทีวีมีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนัก เหตุผลหนึ่งเนื่องจากต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐในอัตราสูง

    แม้ผู้บริหารชินคอร์ปแถลงเหตุผลในการเข้าซื้อไอทีวีว่า เป็นเรื่องของธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นที่รู้กันในแวดวงการเมืองและสื่อสารมวลชนว่า พรรคไทยรักไทยไม่ค่อยพอใจไอทีวีซึ่งผู้บริหารมาจากกลุ่มเดอะเนชั่นซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสนอข่าว จึงเชื่อกันว่า สาเหตุหนึ่งในการเข้าซื้อไอทีวีก็เพื่อผลในการเลือกตั้ง

    ก่อนที่กลุ่มชินคอร์ปจะเข้าซื้อไอทีวีนั้น ทางกลุ่มผู้บริหารเดิมได้พยายามยื่นข้อเสนอต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เพื่อขอแก้ไขสัญญาลดค่าสัมปทานลง เพราะรู้ดีว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าสัมปทานที่บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จ่ายค่าเช่าสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 ให้แก่กองทัพบกตลอดอายุสัญญา 25 ปี รวม 4,670 ล้านบาท หรือสัญญาที่กลุ่มบีอีซีเวิลด์จ่ายค่าเช่าสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ให้แก่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อ.ส.ม.ท.) แล้ว ไอทีวีเสียเปรียบอย่างมากเนื่องจากมีต้นทุนสูง

    แต่ความพยายามดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากกลุ่มผู้เสนอประมูลขอสัมปทานไอทีวีรู้เงื่อนไขในเรื่องนี้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แต่กลับเสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน 30 ปี เป็นเงินรวม 25,200 ล้านบาท

    ในที่สุดความพยายามของผู้ถือหุ้นเดิมไม่ประสบความสำเร็จ

    เช่นเดียวกันเมื่อกลุ่มชินคอร์ปเข้าซื้อหุ้นไอทีวีไปบริหารต่อก็ทราบเงื่อนไขข้อนี้เป็นอย่างดี ถ้ากลุ่มชินคอร์ปมองว่า ไม่สามารถทำกำไรจากเงื่อนไขดังกล่าว แล้วจะยอมทุ่มเงินหลายพันล้านบาทซื้อหุ้นไอทีวีไปทำไม

    หรือมองว่า เมื่อได้เป็นเจ้าของไอทีวีแล้ว ค่อยยื่นเสนอข้อแก้ไขสัญญาภายหลังซึ่งในทางธุรกิจถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างสูงเพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า รัฐจะยอมให้แก้ไขสัญญาดังกล่าว

    นอกจากกลุ่มชินคอร์ปมีความมั่นใจอย่างสูงว่า ถึงอย่างไรและไม่ว่าด้วยวิธีใดก็สามารถที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขสัญญาลดค่าสัมปทานลงได้

    คำถามก็คือ ทำไมกลุ่มชินคอร์ปจึงมีความมั่นใจเช่นนั้น



    ในช่วงแรกที่กลุ่มชินคอร์ปเข้าเทกโอเวอร์ไอทีวีใหม่ๆ ดูเหมือนว่า ผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปจะเก็บตัวและระมัดระวังที่จะพูดถึงเรื่องการแก้ไขสัญญาไอทีวี จนกระทั่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครองอำนาจยาวนานขึ้นจึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวในการยื่นขอแก้ไขสัญญา จนกระทั่งปลายปี 2544 บริษัทไอทีวีจึงยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการเรียกร้องให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดเชย 1,800 ล้านบาท โดยอ้างว่า เกิดความเสียหายเนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์อนุมัติให้บริษัทเวิลด์สตาร์ทีวีดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีซึ่งเป็นระบบเคเบิล แต่เวิลด์สตาร์ทีวีกลับใช้ระบบคลื่นไมโครเวฟและสามารถมีโฆษณาได้

    ขณะเดียวกันไอทีวีก็เสียเปรียบสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 ที่จ่ายสัญญาสัมปทาน 25 ปี เพียง 4,670 ล้านบาท ขณะที่ไอทีวีต้องจ่ายสูงถึง 25,200 ล้านบาทตลอดเวลา 30 ปี จึงขอให้ลดค่าสัมปทานเท่ากับสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7

    การพิจารณาของอนุญญาโตตุลาการเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวว่า อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไอทีวีชนะคดี แม้ตามขั้นตอน ถ้าสำนักปลัดฯไม่พอใจคำตัดสินก็สามารถยื่นฟ้องศาลแพ่งได้อีก แต่ข่าวดังกล่าวได้สร้างผลบวกให้แก่หุ้นไอทีวีในทันที

    อย่างไรก็ตาม สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีออกคำชี้แจงยืนยันว่า อนุญาโตตุลาการยังมิได้ชี้ขาดในคดีดังกล่าว เพียงแต่ปิดการสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และให้โอกาสคู่กรณีในการทำคำแถลงปิดคดี 30 วันคือประมาณวันที่ 14 ธันวาคมนี้ จากนั้นอนุญาโตฯจึงจะนัดประชุมชี้ขาดอีกครั้งหนึ่ง

    จากคำชี้แจงของสำนักปลัดฯทำให้คาดได้ว่า อีกไม่นานเกินรออนุญาโตฯคงมีคำชี้ขาดในคดีดังกล่าวซึ่งมีหลายกลุ่มกำลังจับตามองว่า จะซ้ำรอยกับค่าโง่ทางด่วนบางนา-บางปะกงของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) หรือไม่

    ในครั้งนั้นอนุญาโตฯตัดสินให้ กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัทกิจการร่วมค้า ที่มีบริษัท ช.การช่าง เป็นแกนนำถึง 6,200 ล้านบาท ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแสดงความสงสัยว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เข้าตรวจสอบธุรกรรมของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องทางด่วนทุกคนตั้งแต่นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่นายชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุด



    ถ้าอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไอทีวีเป็นผู้ชนะคดีคือลดค่าสัมปทานเท่ากับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และจ่ายค่าชดเชยให้กว่า 1,000 ล้านบาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐไม่ใช่ 6,200 ล้านบาท(ซึ่งชาวบ้านก็ด่ากันขรมแล้ว) แต่อาจไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท หรือใกล้ๆ 20,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องจับตาดูผลตัดสินในครั้งนี้ให้ดี

    บริษัทไอทีวี(ขณะนั้นชื่อบริษัทสยาม อินโฟเทนเมนท์) ได้ลงนามในสัญญากับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2538 เพื่อดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ อายุสัญญา 30 ปี ต้องจ่ายค่าสัมปทานรวม 25,200 ล้านบาท ทั้งนี้จะเริ่มจ่ายค่าสัมปทานงวดแรก 300 ล้านบาทในปีที่ 3

    ปัจจุบันไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานไปแล้ว 8 ปี ประมาณ 3,300 ล้านบาท จึงเหลืออายุสัมปทานอีก 22 ปี

    ขณะที่บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์ฯลงนามในสัญญาต่างตอบแทนกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะตัวแทนกองทัพบก(ก่อนที่ พล.อ.เชษฐาจะเกษียณอายุเพียง 4 เดือนเศษ ขณะนี้ พล.อ.เชษฐาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 เป็นระยะเวลา 25 ปี รวมค่าสัมปทาน 4,670 ล้านบาท(ดูรายละเอียดในตาราง) โดยทางเอกชนจะจ่ายค่าสัมปทาน 3 ปีแรก ปีละ 150 ล้านบาท จากนั้นจะขึ้นทุกๆ 10 ล้านบาททุกๆ 3 ปี ในปีสุดท้ายจะจ่าย 230 ล้านบาท

    ถ้ายึดตามสูตรการจ่ายค่าสัมปทานให้แก่กองทัพบก ไอทีวีจะจ่ายค่าสัมปทานอีกประมาณ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อบวกกับค่าสัมปทานที่จ่ายไปแล้ว 3,300 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 7,300 ล้านบาท

    เมื่อนำไปหักจากค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายตามสัญญาเดิมทั้งหมด 25,200 ล้านบาท เท่ากับไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานน้อยลงกว่าสัญญาเดิมกว่า 16,000 ล้านบาท

    หรือพูดให้ง่ายเข้าคือรัฐต้องสูญเสียรายได้กว่า 16,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับค่าชดเชยอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เท่ากับรัฐสูญเสียใกล้ๆ 20,000 ล้านบาท

    ถามว่า เงินเกือบ 20,000 ล้านบาทแท้จริงแล้วเป็นของประชาชนใช่หรือไม่ จึงต้องจับตาดูว่า คำตัดสินของอนุญาโตฯจะออกมาเช่นไร ชอบธรรมหรือไม่ และเงินหายเข้ากระเป๋าใคร

    จากคุณ : อ่านขาด - [ 10 เม.ย. 49 20:24:39 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป