ความคิดเห็นที่ 14
เอสพีวี กับโครงการโคแก้จน หนึ่งในนโยบายแก้จนของเกษตรกรที่ฮือฮา และฉาวโฉ่อย่างมากคือนโยบายโคแก้จน โดยรัฐบาลได้จัดตั้งองค์กรนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่เรียกกันคุ้นหูว่า เอสพีวี (Special Purpose Vehicle ) หรือ บริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สอท.) เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย โดยเอสพีวีมีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้านการจัดการตลาด และการเงิน สำหรับสินค้าเกษตรตัวแรกที่เอสพีวีจะช่วยเหลือคือ โคเนื้อ จึงเกิดโครงการ โคแก้จนดังกล่าว นอกจากนี้ก็มีโครงการปาล์มน้ำมัน และโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในระยะต่อไปอีกด้วย
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อตั้งเอสพีวีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โครงการวัวแก้จน หรือโครงการวัวล้านครอบครัวก็เริ่มต้นดำเนินการ คณะรัฐมนตรีอนุมัติส่งมอบโคเนื้อรุ่นแรกของโครงการที่รับการสนับสนุนโดยผ่านกลไกเอสพีวี ให้เกษตรกรจำนวน 2.5 แสนตัวในเดือนกรกฎาคม 2548 และครบ 5 ล้านตัวในปี 2551
วงเงินกู้ระหว่างปี 2548-2551 รวมทั้งสิ้น 36,042 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณด้านการผลิตโคเนื้อ 33,532 ล้านบาท การแปรรูปและผลิตภัณฑ์ 1,710 ล้านบาท ด้านการตลาด 800 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2548 ใช้เงินลงทุนด้านการผลิตโค 5,497 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 8,303 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อโครงการสำเร็จในปี 2550-2551 จะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 1.95 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ 34,543 ล้านบาทต่อปี หรือมีรายได้เพิ่มครอบครัวละ 1.3 - 2.5 หมื่นบาทต่อปีสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเพื่อผลิตลูกขาย และมีรายได้เพิ่ม 1.8 หมื่นบาทต่อ ปี สำหรับเกษตรกรที่รับจ้างผสมเทียม
โครงการดังกล่าวถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100 % เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรยากจน จะได้รับลูกโคก็ต่อเมื่อผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมวิธีการเลี้ยงโคอย่างถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ และต้องทำความเข้าใจต่อสัญญาของเอสพีวีเสียก่อน ช่วงเริ่มต้นหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่ในการจัดหาสินเชื่อให้แก่เกษตรกร คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เจ้าเดิม ในโครงการระบุว่าจะส่งมอบโคให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเมื่อลูกโคหย่านม มีอายุประมาณ 7-8 เดือน เงื่อนไขในการเลี้ยงโคนั้นจะต้องให้อาหารหญ้าที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น เมื่อโคโตเต็มที่ บริษัทเอสพีวีจะรับซื้อคืนกิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อจำหน่ายให้โรงฆ่าสัตว์
แต่ในความเป็นจริงจากการศึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชนในอีสานพบว่า การเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์การเกษตรที่บ้านโพนยางคำ ต.เนินหอม จ.สกลนคร โคที่จะขุนได้ต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 300-400 กิโลกรัม อายุประมาณ 2-4 ปี ถึงจะทำให้เนื้อมีคุณภาพ นอกจากนี้อาหารของโคที่ขุนในแต่ละวันต้องใช้เงินที่สูงมาก ไม่ใช่แค่หญ้า แต่ประกอบด้วยน้ำ หญ้าสดในฤดูฝนวันละ 6-12 กิโลกรัมต่อตัว ฟางข้าวทดแทนหญ้าสด 3-6 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน อาหารข้น (อาหารเม็ด) 6-7 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน กากน้ำตาลวันละ 2-3 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน
ในส่วนของอาหารข้นนั้นมีสูตรอาหารที่จะต้องมีสัดส่วนของโปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ กาก แป้ง ซึ่งวัตถุดิบไม่ได้อยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลืองหรือปลาบ่น น่าสังเกตว่าวัตถุดิบเหล่านี้อยู่ในมือของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของนายทุน
- นายศิริศักดิ์ ฉลามศิลป์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรโพนยางคำ ยอมรับว่าแม้สหกรณ์ฯ จะมียอดจำหน่ายอาหารข้นสูงถึง 210 ตัน ก็ยังไม่ผลิตอาหารข้นเองเพราะต้นทุนสูงมาก วัตถุดิบต้องสั่งซื้อจากบริษัทใหญ่ๆ (ของใคร???) ข้อเท็จจริงด้านต้นทุนการผลิตที่สูงมากเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้จะหายจนได้จริงหรือ เพราะจากข้อมูลจากสหกรณ์โพนยางคำนั้น ขนาดสหกรณ์โพนยางคำรับซื้อราคาประกันกิโลกรัมละ 89 บาท เกษตรกรยังแทบไม่ได้กำไร แถมบางตัวยังขาดทุนด้วยซ้ำ ดังนั้นหากบริษัทเอสพีวีรับซื้อราคากิโลกรัมละ 50 บาท เกษตรกรจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
จากคุณ :
อ่านขาด
- [
23 เม.ย. 49 17:10:34
]
|
|
|