ความคิดเห็นที่ 6
เอาของมาฝาก เผื่อจะลืม (นึกถึงผู้รู้หลายๆท่านก่อนหน้านี้ที่หายไป)
ตอบ: 28/10/2005 4:54 pm ชื่อกระทู้: ...สิงห์ พาราเทค เกมซ่อนเกม...
-------------------------------------------------------------------------------- ดีลขาย "บิ๊กล็อต" หุ้น..SINGHA จำนวน 40 ล้านหุ้น มูลค่า 580 ล้านบาทให้กลุ่มเวสต์โคสท์ จากสหรัฐ ในราคาหุ้นละ 14.50 บาท พบแผน "ปั้นหุ้น" ก่อนตระกูล โบว์เสรีวงศ์ "กระเป๋าตุง" มาร์เก็ตแคปเพิ่มเกือบเท่าตัว
ถึงแม้หนึ่งในเงื่อนไขการขายหุ้นให้กับ กลุ่ม เวสต์โคสท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Westcoast International) ผู้ค้าไม้พื้นรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา จะระบุชัดว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ที่จะขายหุ้น สิงห์ พาราเทค (SINGHA) จำนวน 40 ล้านหุ้น (12.50%) มูลค่า 580 ล้านบาท จะไม่ใช่หุ้นในส่วนของตระกูลโบว์เสรีวงศ์ ตามที่ นายสมจิตร โบว์เสรีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทยืนยัน
แต่การเดินหมากกระดานนี้ก็มี "เงาเงื่อน" โยงไปสู่ผลประโยชน์ก้อนโต "ทางอ้อม" ที่ตระกูล โบว์เสรีวงศ์ จะได้รับจาก "มูลค่าหุ้น" (มาร์เก็ตแคป) ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ผลจากราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นจาก 8 บาทขึ้นไปที่ 14 บาท
และแน่นอนว่าเกมนับต่อจากนี้ ย่อมหมายถึง การทยอยขายหุ้นออกมาทำกำไร ด้วยรูปแบบต่างๆ
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น SINGHA ปรับตัวขึ้นมาตลอด จากราคาที่เริ่มก่อตัวแถวๆ 3.70-4 บาท (พาร์ 1 บาท) ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2547 ไต่มาสร้างฐานบริเวณ 8-8.50 บาท ก่อนจะทะยานขึ้นไปอย่างรวดเร็วสูงกว่า 14 บาท ภายหลังกลุ่มเวสต์โคสท์ เซ็น MOU ซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม
คำตอบมันชัดอยู่แล้วว่า "ตระกูลโบว์เสรีวงศ์" ได้ทั้งขึ้นทั้งร่อง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่...จำนวน 164 ล้านหุ้น ในสัดส่วน 51% (ไม่รวมถือผ่านนอมินี)
แต่หากจะอิงตามปัจจัยพื้นฐาน..ราคาหุ้น SINGHA ค่อนข้าง "โอเวอร์ แวลู" เมื่อเทียบจากขนาดมาร์เก็ตแคปกว่า 4,000 ล้านบาท กับสินทรัพย์รวมที่มีเพียง 1,525 ล้านบาท กับยอดขายครึ่งปีที่ทำได้ 320 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียง 56 ล้านบาท
แต่ราคาหุ้น SINGHA กลับเปลี่ยนมือกันที่ระดับ พี/อี เรโช กว่า 30 เท่า แสดงว่าราคาหุ้นถูก "ตีฟอง" จนฐานราคาแพงเกินจริง...สวนทางกับภาวะตลาดโดยรวม
เบื้องหลังของราคาหุ้นที่โตแบบติดจรวด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตระกูลโบว์เสรีวงศ์ และ กลุ่มคนใกล้ชิด มีส่วนเข้าไปซื้อๆขายๆหุ้นของตัวเอง เพื่อเจตนา "เพิ่มวอลุ่ม" ให้กับหุ้น โดยพยายามปกปิดข้อมูลให้นักลงทุนได้รับทราบ
ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบและพบว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547 ถึงกลางปี 2548 ผู้บริหารสิงห์ พาราเทค มีการซื้อขายหุ้น SINGHA ในนามบุคคลอื่น โดยไม่ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ (แบบ 59-2) ต่อ ก.ล.ต.
หลังจากนั้นข้อมูลก็พรั่งพรูออกมาจากกลุ่มคนใกล้ชิด (ตระกูลโบว์เสรีวงศ์) แต่แทนที่ราคาหุ้นจะปรับลดลงกลับทะยานขึ้นร้อนแรงยิ่งกว่าเก่า พร้อมกับ "ข่าวดี" ที่ถูกประกาศออกมาเป็นระยะๆ
กรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2547 ถึงเดือนกันยายน 2548 ซื้อขายหุ้น SINGHA รวมกัน 202.68 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด 320 ล้านหุ้น..คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 1,575 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นรายการซื้อ 142 ครั้ง จำนวน 108.15 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 7.79 บาท เป็นเงิน 842.75 ล้านบาท และเป็นรายการขาย 86 ครั้ง จำนวน 94.53 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 7.75 บาท คิดเป็นมูลค่าขายรวม 732.76 ล้านบาท
ในเกมนี้ถ้าสังเกตให้ดีๆจะเห็นว่า ทั้ง "จำนวนหุ้น", "ราคาเฉลี่ย" และ "มูลค่าการซื้อขาย" แทบไม่ได้แตกต่างกันมาก นั่นก็แสดงว่าผู้ทำรายการมีเจตนา "สร้างวอลุ่ม" เพื่อหวังผลเชื่อมไปที่ "ราคาหุ้น" มากกว่าหวังผลกำไรแบบฉาบฉวย...นี่คือวิธี "จับปลาใหญ่" ขนานแท้
เมื่อแกะดูรายชื่อเป็นรายบุคคล ก็พบว่า คนที่ซื้อขายหุ้นจำนวนมากที่สุด คือ น.ส.ศิริลักษณ์ โบว์เสรีวงศ์ ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และเป็นกรรมการบริหารของบริษัท เข้าซื้อหุ้น SINGHA ทั้งสิ้น 36 ครั้ง จำนวน 39.99 ล้านหุ้น เป็นเงิน 300.21 ล้านบาท และขายหุ้นออกมา 22 ครั้ง จำนวน 42.59 ล้านหุ้น เป็นเงิน 318.34 ล้านบาท
น.ส.ศิริลักษณ์ ซื้อหุ้น SINGHA ที่ราคาเฉลี่ย 7.50 บาท และขายออกที่ราคาเฉลี่ย 7.47 บาท..เท่ากับเกมนี้เธอ "ยอมขาดทุน" เล็กน้อย
ถัดมา ดร.วิภาภรณ์ โบว์เสรีวงศ์ เข้าซื้อ 16 ครั้ง จำนวน 15.56 ล้านหุ้น เป็นเงิน 125.43 ล้านบาท และขายออก 27 ครั้ง จำนวน 22.45 ล้านหุ้น มูลค่า 181.21 ล้านบาท ดร.วิภาภรณ์ ซื้อที่ราคาเฉลี่ย 8.06 บาท และขายที่ราคาเฉลี่ย 8.07 บาท..เท่ากับเกมนี้เธอ "ไม่ได้ไม่เสีย"
คนที่ 3 นางกอบแก้ว ด่านชัยวิจิตร ในฐานะกรรมการบริหารของบริษัท เข้าซื้อ 15 ครั้ง จำนวน 11.38 ล้านหุ้น เป็นเงิน 91.27 ล้านบาท และขายออกมา 11 ครั้ง จำนวน 12.76 ล้านหุ้น มูลค่า 103.25 ล้านบาท ในรายงานระบุว่า นางกอบแก้ว ซื้อที่ราคาเฉลี่ย 8.01 บาท และขายออกที่ราคาเฉลี่ย 8.09 บาท เท่ากับว่าเธอมีกำไรติดปลายนวมกลับมาเล็กน้อย
นางวีณา ณ อุบล ในรายงานระบุว่าเป็นกลุ่มเดียวกับตระกูล โบว์เสรีวงศ์ ซื้อ 13 ครั้ง จำนวน 12.17 ล้านหุ้น เป็นเงิน 97.78 ล้านบาท และขายออกทั้งหมด 10 ครั้ง จำนวน 9.22 ล้านหุ้น เป็นเงิน 73.85 ล้านบาท นางวีณา ซื้อที่ราคาเฉลี่ย 8.03 บาท และขายออกที่ราคาเฉลี่ย 8 บาท..เท่ากับ "ยอมขาดทุน" ไปหุ้นละ 0.03 บาท
นางรจนา มหาวนา ผู้บริหารอีกคน ซื้อทั้งหมด 11 ครั้ง จำนวน 9.13 ล้านหุ้น เป็นเงิน 72.61 ล้านบาท และขายออกมา 7 ครั้ง จำนวน 6.26 ล้านหุ้น เป็นเงิน 47.58 ล้านบาท นางรจนา ซื้อที่ราคาเฉลี่ย 7.94 บาท และขายออกที่ราคาเฉลี่ย 7.59 บาท..เท่ากับเกมนี้เธอจะ "ขาดทุน" แต่ไม่มาก
ทันทีที่ "ผู้บริหาร" คนอื่นเริ่ม "หยุด..ซื้อขายหุ้น" ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548 นายสมจิตร โบว์เสรีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในฐานะ "ขุน..ของเกม" ก็เดินหน้าซื้อหุ้น SINGHA เข้าพอร์ตอย่างเดียวตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม-22 กันยายน 2548 ทั้งหมด 36 ครั้งโดยไม่ขายออกมาเลย จำนวนรวม 18.72 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 8.07 บาท ใช้เงินไป 151.11 ล้านบาท
ประเด็น ก็คือ หลังจากนายสมจิตรหยุดซื้อหุ้นปุ๊บ!!! ราคา SINGHA ก็ทะยานขึ้นปั๊บ!!! จากราคา 8 บาทขึ้นไป 14 บาท (ซื้อครั้งสุดท้ายวันที่ 22 กันยายน 48) พอในวันที่ 21 ตุลาคม 2548 คืออีก 1 เดือนหลังจากหยุดซื้อหุ้น ก็มีข่าวเซ็น MOU ขายหุ้นให้กลุ่มเวสต์โคสท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในราคาหุ้นละ 14.50 บาท
แสดงว่าข่าวเรื่อง กลุ่มเวสต์โคสท์ จะเข้ามาทำ "บิ๊กล็อต" หุ้น SINGHA รั่วออกมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนแล้ว...ใครเข้าช่วงราคา 8-8.50 บาท "รวยเละ" แต่คนที่เข้าช่วงที่หุ้นวิ่งขึ้นไป 13-14 บาทแล้ว เสียเปรียบ "รายใหญ่" ทุกประตู
นายสมจิตร โบว์เสรีวงศ์ กล่าวผ่านผู้สื่อข่าวว่า การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นก่อน นักลงทุนน่าจะรับรู้เรื่องดังกล่าว แต่ไม่รู้ว่ามาจากแหล่งใด เพราะมีคนที่รับรู้เรื่องการเซ็นสัญญาในครั้งนี้ คือ กลุ่มผู้บริหาร และบริษัทที่ปรึกษา คือ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เท่านั้น
เขายืนยันว่าโดยส่วนตัวในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จะไม่ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมา และกลุ่มโบว์เสรีวงศ์จะรักษาสัดส่วนหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่า 40% แต่จะรวบรวมหุ้นจากกรรมการบางคน และผู้ถือหุ้นเดิมบางรายที่ต้องการขายหุ้น ในสัญญาระบุว่าจะมีการวางเงินมัดจำ 10 ล้านบาท ภายใน 2 สัปดาห์ และจะทำการซื้อขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากวันที่เซ็น MOU
เมื่อปรากฏข่าวครั้งแรกในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ก็มี "บิ๊กล็อต..ล็อตแรก" ในกระดานเกิดขึ้นทันที จำนวน 2.15 ล้านหุ้น ที่ราคา 14.50 บาท มูลค่า 31.17 ล้านบาท โดยคาดว่าหุ้นล็อตนี้น่าจะเป็นของ นายวิโรจน์ ธนาลงกรณ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของ สิงห์ พาราเทค ซึ่ง ตระกูลธนาลงกรณ์ เป็นผู้ผลิตชุดชั้นในสตรีรายใหญ่ยี่ห้อจินตนา และยี่ห้อซาบีน่า
นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นพันธมิตร และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายสมจิตร โบว์เสรีวงศ์ ยังพบผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 9 และ 10 คือ นายสมเกียรติ ขำเอี่ยม ถือหุ้น SINGHA จำนวน 14.54 ล้านหุ้น และ นายลักษณ์ วงศ์หิรัญภิญโญ ถือหุ้น SINGHA จำนวน 9.72 ล้านหุ้น ทั้ง 2 คนนี้เป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่นคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของนายสมจิตร
ส่วน นายอานันท์ เลิศรัตน์ ผู้ถือหุ้นอันดับ 6 จำนวน 14.39 ล้านหุ้น เป็นญาติของ รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คาดว่าน่าจะเป็นพันธมิตรกลุ่มเดียวกัน
ส่วน นายวีระศักดิ์ พงษ์วัฒนานุสรณ์ ผู้ถือหุ้นอันดับ 8 จำนวน 11.73 ล้านหุ้น ตรวจสอบพบว่า เป็นผู้บริหารบริษัท ซีเอช.โอโตพาร์ต และ บริษัทซีเอชโอโต อินดัสตรี่ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ระดับประเทศ
ราคาหุ้น SINGHA ที่กลุ่มเวสต์โคสท์ เสนอซื้อที่ราคา 14.50 บาท อาจเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวที่จะมาสร้างความชอบธรรมให้กับมูลค่าหุ้น SINGHA ภายใต้แผนปั้น "มาร์เก็ตแคป" ของตระกูลโบว์เสรีวงศ์ ที่จะกระเป๋าตุงรวยอยู่กลุ่มเดียว..
รายการซื้อ-ขายหุ้น "SINGHA" ของผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ธ.ค. 2547 ถึงก.ย. 2548
ผู้ทำรายการ รายการ ทำรายการ ในวันที่ จำนวน ราคาเฉลี่ย มูลค่า
(ครั้ง) (หุ้น) (บาท/หุ้น) (ล้านบาท)
สมจิตร โบว์เสรีวงศ์ ซื้อ 36 4 ก.ค.48 ถึง 22 ก.ย.48 18,725,300 8.07 151,112,377
ศิริรักษ์ โบว์เสรีวงศ์ ซื้อ 36 21 ธ.ค.47 ถึง 9 มิ.ย.48 39,998,400 7.5 300,213,049
ขาย 22 17 ธ.ค.47 ถึง 22 มิ.ย.48 42,592,400 7.47 318,349,972
วิภาภรณ์ โบว์เสรีวงศ์ ซื้อ 16 27 ธ.ค.47 ถึง 22 มิ.ย.48 15,560,200 8.06 125,432,142
ขาย 27 7 ก.พ.48 ถึง 1 ก.ย.48 22,453,000 8.07 181,219,178
กอบแก้ว ด่านชัยวิจิตร ซื้อ 15 27 ธ.ค.47 ถึง 22 มิ.ย.48 11,388,700 8.01 91,277,068
ขาย 11 27 ม.ค.48 ถึง 23 ส.ค.48 12,762,500 8.09 103,255,735
วีณา ณ อุบล ซื้อ 13 27 ธ.ค.47 ถึง 27 เม.ย.48 12,174,800 8.03 97,783,578
ขาย 10 31 ม.ค.48 ถึง 28 เม.ย.48 9,221,200 8 73,855,885
รจนา มหาวนา ซื้อ 11 27 ธ.ค.47 ถึง 29 เม.ย.48 9,134,500 7.94 72,613,338
ขาย 7 15 ธ.ค.47 ถึง 12 เม.ย.48 6,264,100 7.59 47,584,128
ชาญ ธาระวาส ซื้อ 14 26 ต.ค.47 ถึง 13 ธ.ค.47 1,164,000 3.68 4,284,595
ขาย 5 27 ธ.ค.47 ถึง 4 ม.ค.48 1,164,000 6.75 7,857,598
วิศัลย์ วิสุทธิธรรม ซื้อ 1 9 มี.ค.48 5,000 7.85 39,250
ขาย 4 21 ก.พ.48 ถึง 15 ส.ค.48 80,000 8.08 647,075
รวม 202,688,100 7.77 1,575,524,968
ข้อมูลทางการเงิน บ.สิงห์ พาราเทค
ครึ่งปี 2548 ปี 2547 ปี 2546
(ล้านบาท) (ล้านบาท) (ล้านบาท)
สินทรัพย์รวม 1,525.90 1,329.01 984.22
หนี้สินรวม 726.55 534.57 219.35
ส่วนของผู้ถือหุ้น 799.35 794.44 764.86
รายได้รวม 320.27 685.52 486.65
กำไรสุทธิ 56.12 138.38 109.81
พี/อี เรโช (เท่า) 30.02 18.78 15.21
มูลค่าหุ้นทางบัญชี (บาท) 2.5 11.69 n.a.
มาร์เก็ตแคป 4,096 2,224 1,648
จากคุณ :
Juj
- [
25 เม.ย. 49 13:03:02
]
|
|
|