CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ถังแตก???

    นโยบายผิด-บริหารพลาด ต้อตอ'วิกฤติการคลัง'
     
      กระแสข่าวรัฐประสบปัญหาในการบริหารการคลังมีออกมาเป็นระยะๆตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนกระทั่งมีการตีความว่านั่นคือลางบอกเหตุว่า "คลังถังแตก" !!!!

    สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความงุนงงต่อสาธารณชนมาก เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงการคลังมักโอ่ประโคมอย่างยิ่งใหญ่เสมอๆว่าปีงบประมาณฯ 2549 นี้จะจัดทำงบประมาณแบบสมดุล เช่นเดียวกับปี งบประมาณฯ 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่ารัฐมั่นใจในเรื่องการจัดเก็บรายได้มาก และตามข้อมูลก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะ 6 เดือนแรกของปี งบประมาณ ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2548-มีนาคม 2549 ) คลังจัดเก็บรายได้ๆทั้งสิ้น 568,004 ล้านบาท หรือมากกว่าประมาณการณ์ 8,535 ล้านบาท

    อีกทั้งผู้บริหารกระทรวงคลังตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการคนปัจจุบันลงมาถึงระดับอธิบดีออกมาประสานเสียงว่า ปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณอาทิ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบก่อสร้างนั้น เป็นเพียงข้อบกพร่องทางเทคนิคเท่านั้น

    เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (กันยายน 2548-ธันวาคม 2549) รายจ่ายของรัฐกระจุกตัวเพราะงบฯก้อนใหญ่ต้องถูกกันให้ องค์การปกครองสวนท้องถิ่น (อปท.) แต่ในขณะเดียวกัน รายรับจากการจัดเก็บภาษีเข้ามาไม่สมดุลกัน และปัญหาดังกล่าวได้มีการแก้ไขด้วยการกู้ผ่านตั๋วเงินคลังมาเสริมสภาพคล่องอีก 80,000 ล้านบาทแล้ว

    แต่ปรากฎว่าล่วงเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ปัญหาเงินสดขาดมือของกระทรวงวายุพักตร์กลับไม่ทีท่าคลี่คลายลงแต่ประการใด ตรงกันข้ามในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมายังมีข่าวปูดออกมาทำนองว่ามีเงินคงคลังเหลือสำรองจ่ายเพียง 14 วัน อีกทั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลัง ต่อตั๋วเงินกู้จากแบงก์ออมสินที่ครบกำหนดใช้คืน (เมษายน2549) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปอีก 5 ปี ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการคลังยังมิได้บรรเทาลงแต่ประการใด

    ทำไมการคลังจึงประสบปัญหาทั้งที่จัดเก็บรายได้ๆสูงกว่าประมาณการณ์ จากการตรวจสอบเบื้องลึกพบว่า เรื่องขายหน้าของกระทรวงการคลังครั้งนี้ มีที่มาหลายสาเหตุ ทั้งจากปัญหาสะสมอันเกิดจากความผิดพลาดในการกำหนดของนโยบายของรัฐบาล และการบริหารที่ผิดพลาดของข้าราชการประจำเอง

    วินัยการคลังหย่อนยาน

    ในส่วนแรก หรือความผิดพลาดจากการกำหนดนโยบายของรัฐ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือการที่รัฐบาลทักษิณตั้งแต่สมัยแรก(2544-2548)ถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารงบประมาณใหม่ด้วยการ โยกงบลงทุนจากส่วนอื่นๆไปเติมใน "งบกลาง " ซึ่งปกติแล้วงบในส่วนนี้รัฐบาลที่ผ่านมามักกำหนดไว้ไม่เกิน 10 %

    ของวงเงินงบประมาณรวม แต่ภายหลังที่รัฐบาลชุด "ทักษิณ 1" เข้ามาบริหารในปี 2544 ได้มีการผลักดันเพิ่มงบกลาง ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 9.6 % ในปีงบฯ 2544 หรือปีแรกของยุคทักษิณ เป็น 22.8 % ในปีงบประมาณฯ 2547 ที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ระหว่างปีงบประมาณฯ2547-2548 หรือ 2 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นสุดรัฐบาลทักษิณ 1 รัฐบาลได้อัดงบกลางเพิ่มขึ้นอีก 135,000 ล้านบาท และ 50,000 ล้านบาทตามลำดับ โดยงบฯส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลนำไปรวมเป็นงบกลางในปีงบฯ 2547 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 265,825.7 ล้านบาท หรือ 22.8 % ของงบประมาณรวม (เดิมกำหนดไว้ 129,784.7 ล้านบาทหรือ 12.6 % ของงบรวม) เช่นเดียวกับปีงบประมาณฯ 2548 ที่งบกลาง เพิ่มขึ้นเป็น 250,190 ล้านบาท หรือ 20 % ของงบฯรวม (เดิม 200,190 ล้านบาทหรือ 16.7%ของงบรวม)

    เหตุผลของรัฐบาลที่เพิ่มงบกลางขึ้นอย่างพรวดพราดในปีงบฯ 2547 และ 2548 เนื่องจากกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ทะลุเป้า มากกว่าประมาณการณ์ถึง 95,840 ล้านบาท และ 50,000 ล้านบาทตามลำดับ รัฐบาลจึงโยกเอารายได้ส่วนเกินดังกล่าวมาเพิ่มในส่วนของบกลางโดยหวังว่าจะเป็นปัจจัย กระตุ้นการบริโภค และการลงทุนภาครัฐ เพื่อเป็นหัวจักรฉุดเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูอย่างถึงที่สุด

    ทั้งนี้แม้เหตุผลในการเพิ่มงบกลางของรัฐบาลทักษิณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักการที่ดีแต่กระบวนการพิจารณางบกลางที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภาหากสามารถอนุมัติได้โดยตรงจากโต๊ะที่ประชุมครม. ซึ่งแน่นอนไม่มีใครเสียงดังเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเท่ากับว่างบฯนับหมื่นนับแสนล้านสั่งการมาจากคนเพียงคนเดียว ซึ่งขัดการหลักธรรมธิบาลในการบริหารการคลังที่ดี และการบริหารงบประมาณของแผ่นดินด้วยกระบวนการดังกล่าวหมิ่นเหม่อย่างยิ่งว่าจะขัดหลักการวินัยการคลังที่ดี

    บริหารผิดพลาด

    นอกจากการบริหารงบฯที่ต่างจากหลักวินัยการคลังที่ดีแล้ว การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การคลังของชาติอยู่ภาวะสะอึกเป็นระยะๆในปัจจุบัน

    ในการประชุม ครม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสั่งการให้ กระทรวงการคลัง เร่งใช้งบฯที่ค้างอยู่ในระบบให้หมดภายในปีงบประมาณฯ 2548 โดยให้ใช้งบฯปี 2548 เหลื่อมข้ามไปถึงต้นปีงบฯ 2549( ราวธันวาคม2548) โดยเขาระบุว่าการบริหารดังกล่าวจะทำให้ข้าราชการเข้าใจถึง แคชโฟลว์ (กระแสเงินสด)

    "ปีงบประมาณกับคำว่า Cash flow มันควรจะสัมพันธ์กัน ควรจะพอดีกันถึงจะบริหารเงินได้ถูก หมายความว่า ปีนี้ตั้งงบฯว่าจะใช้เท่าไหร่มันควรจะได้ใช้ทั้งหมด" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงหลักการล้างท่อในครั้งนั้น

    หากการตัดสินใจ"ล้างท่อ"ด้วยการใช้งบฯเหลื่อมปีดังกล่าวส่งผลข้างเคียงมาถึง การใช้จ่ายในช่วงต้นปี

    งบฯ 2549 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548 ) เนื่องจากปกติช่วงเวลาดังกล่าวการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆจะชุกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะงบที่ต้องจัดสรรให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามกฎหมาย ซึ่งมียอดรวม 327,113 ล้านบาท หรือ 24.1% ของงบประมาณฯรวม ซึ่งปรกติวงเงินส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรในช่วงต้นปีงบฯประมาณ

    กู้เพิ่มกลบตัวแดง

    ทั้งนี้ไตรมาสแรกของปีงบฯ 2549 กระทรวงการคลังจ่ายออกเป็นเม็ดเงิน รวมถึง 454,340 ล้านบาท

    หรือ 35 % ของวงเงินงบฯรวม ขณะที่ตามแผนการคลังกำหนดรายจ่ายไว้เพียง 22 % ซึ่งเท่ากับว่ามีการใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดไว้ถึง 13 % ในขณะที่มีรายรับเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน 271,425 ล้านบาท หรือ ตัวเลขติดลบถึง 182,915 ล้านบาท และเมื่อเลาะลงไปในรายละเอียดพบว่า 6 เดือนของปีงบฯที่ผ่านมา กระแสเงินสด ของคลังอยู่ในสภาพปริ่มๆระหว่างเส้นแบ่งลบกับบวก

    นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการจ่ายเกินเป้ายังเป็นผลจากรายจ่ายนอกงบฯอาทิ งบฯสำหรับการเลือกตั้ง 2 เมษายนฯ 2,000 ล้านบาท และงบฯคือภาษีพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)อีก 2,000 ล้านบาท การจ่ายออกจึงไม่สัมพันธ์กับการรับเข้า การบริหารการคลังจึงออกอาการสะอึกเป็นพักๆมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

    ความจริงฝ่ายข้าราชการประจำมองออกแล้วว่า มีโอกาสที่จะเกิด สภาวะรายรับกับจ่ายไม่สมดุล

    จึงเตรียมแผนรับมือด้วยการเสนอให้ เจ้ากระทรวงการคลัง ทะนง พิทยะ เตรียมกระแสเงินสดด้วยการกู้เพิ่มผ่าน ตั๋วเงินคลังอีก 130,000 ล้านบาท (เดิมกู้ด้วยวิธีการเดียวกันนี้ไปแล้ว 170,000 ล้านบาท ) แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้ ครม. ปรับลดวงเงินกู้เหลือเพียง 80,000 ล้านบาท เพราะมั่นใจว่าสามารถกุมสภาพการบริหารกระแสเงินสดได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีการบริหารงบฯสำหรับอปท.ใหม่ และเกรงว่าการกู้เพิ่มถึง 130,000 ล้านบาทจะไปกระทบกับกรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ว่าหนี้ต้องไม่เกิน 15 % ของงบฯรวม

    หาก ความหวังดีของ รัฐมนตรีคลัง ทนง กลับกลายเป็นผลร้าย เพราะรายได้จากการจัดเก็บภาษีวิ่งไล่ไม่ทันรายจ่ายที่พุ่งประดังเข้ามารอบทิศในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณตามที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งปรากฎว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา (เดือน 6 ปีงบประมาณ)บางวันรายรับจะน้อยกว่ารายจ่ายถึง 800 ล้านบาท กระทั่งคลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเสนอ ครม.(28 มีนาคม 49) ขอต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินที่กู้จาก ออมสิน วงเงิน 5,000 ล้านบาท มาหล่อเลี้ยงสภาพคล่องในช่วงปลายไตรมาสสองต่อไตรมาสสามของปีงบฯ

    ถ้าถามว่าเหตุใดจึงนำการบริหารการคลังในช่วงที่ผ่านมาจังคลาดเคลื่อนขนาดนี้ ส่วนหนึ่งย่อมเป็น ผลข้างเคียงจากนโยบายของรัฐบาลที่คำนึงแต่ผลเฉพาะหน้า หากไม่ตระหนักถึงผลข้างเคียงที่จะตามา และอีกส่วนย่อมถือเป็นความ ผิดพลาดที่เกิดจากการบริหารการคลังของข้าราชการประจำจึงทำแคชโฟลว์พลาดอย่างไม่น่าให้อภัย


    หากที่น่าติดตามคือ "ปัญหาการคลังสะอึก"จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ!!  


    http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T082111o&issue=2111

    จากคุณ : อ่านขาด - [ 8 พ.ค. 49 08:17:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป