ความคิดเห็นที่ 5
สคบ.ฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนแปรรูปปตท.
สหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค ฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนแปรรูปปตท.มิชอบ
(31สค.) เวลา 10.30 น. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ และผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ส.ว.กทม. ในฐานะกรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค (สอบ.), นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงาน ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี (ครม.) , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายวิเศษ จูภิบาล รักษาการ รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีข้อพิพาทเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา( พรฎ.) กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน) พ.ศ.2544 และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ..2544 เพื่อการแปรรูปกิจการ ปตท. ตามมติครม.วันที่ 21 ส.ค.44 ขัดต่อ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ซึ่งผู้ฟ้องทั้งห้า ขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ ยกเลิก เพิกถอน พระราชกฤษฎีกาแปรรูปกิจการ ปตท. ทั้ง 2 ฉบับ
โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องเป็นผู้ใช้น้ำมันและก๊าซของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จาก การที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม ได้ดำเนินการยกเลิกและแปรสภาพกิจการ ปตท. ที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของ ก.พลังงงาน ไปเป็น บมจ.ปตท. โดยกระบวนการแปรรูป ปตท. ขัดกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะองค์ประกอบคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ครบถ้วนซึ่งตาม มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ฯ ให้คณะกรรมการ ฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน ที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชี และให้มีคนในกิจการของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูป อย่างน้อยด้านละ 1 คน
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว มีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวคือ นายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังพบว่า นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีต ประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. และนายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการเตรียมการจัดตั้ง ฯ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ฯมาตรา 12 และ 18 ที่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใน บมจ.ปตท. ทั้งที่กฎหมายห้ามคณะกรรมการ ฯ ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ ที่ได้มีการแปรรูป และในส่วนการตรา พรฎ.ทั้ง 2 ฉบับ ปรากฏด้วยว่าคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนโดยไม่เปิดเผย และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างกว้างขวางตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543 ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ที่ได้รับรองให้บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผลของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ก่อนดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อตนเอง
และยังปรากฏด้วยว่าในการตรา พรฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ฯ มีเจตนาไม่สุจริต ที่ส่งผลให้ บมจ.ปตท. มีอำนาจมหาชนของรัฐในการเวนคืนที่ดิน การประกาศเขต และรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน ที่มีผลทำให้มีการนำทรัพย์สินบางอย่างอันเป็นสาธารณะ สมบัติของแผ่นดินที่ไม่สามารถซื้อขายได้ ให้ไปอยู่ในการถือครองเอกชนที่แสวงหากำไร นอกจากนี้การกำหนดสิทธิประโยชน์ ยังส่งผลให้ บมจ.ปตท. มีอำนาจผูกขาดขายน้ำมันราชการ ผูกขาดการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติ สิทธิการยกเว้นการเสียภาษีป้าย รวมทั้งสิทธิการวางหนังสือค้ำประกันธนาคารต่อกรมศุลกากร และอื่น ๆ และกับการจัดสรรและกระจายหุ้น พบว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นธรรม คือ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมีสิทธิเข้า ถึงการเป็นเจ้าของ บมจ.ปตท. ซึ่งขัดกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ ปตท.ก่อนการแปรรูป ที่ว่า แปรรูปเพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของ บมจ.ปตท.
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด รับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำหมายเลข ฟ.47/2549 เพื่อมีคำสั่งต่อไปว่า คดี อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุด ที่จะมีคำพิพากษาได้หรือไม่ต่อไป
ภายหลังยื่นฟ้องแล้ว น.ส.สารี กรรมการและ ผจก.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้ฟ้อง อ่านคำ แถลงการณ์ เหตุที่ต้องฟ้องนายกรัฐมนตรี ในการแปรรูป ปตท. ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่าย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำพิพากษายกเลิก และแปรสภาพกิจการการไฟฟ้าฝ่ายการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อันมีผลทำให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ยุติการนำ กฟผ. เข้าไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อรักษาสาธารณะสมบัติและทรัพย์สินของชาติอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศาเลขาธิการมูลนิธิ ฯ และตน พร้อมทั้งน.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการ สอบ. , น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการ สอบ. , นางภินันท์ โชติรสเศรณีประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงาน ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม จึงนำคดีมายื่นฟ้อง ซึ่งการตรา พรฎ.แปรรูปปตท.ทั้ง 2 ฉบับ มีผลทำให้รัฐ ต้องสูญเสียอำนาจการควบคุม และต่อรองในกิจการ ปตท.ไปอย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ปตท. ตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ได้แก่ การรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นต้นทุนหลักของค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน
ขณะที่นายนคร ชมพูชาติ ทนายความ กล่าวว่า แม้ปตท. จะได้มีการแปรรูปแล้วตั้งแต่ปี 2544 แต่ขั้น ตอนการแปรรูปขัดต่อกฎหมายหลายเรื่อง ซึ่งการร่างคำฟ้องเพิกถอนกิจการแปรรูป ปตท. ครั้งนี้ ยึด บรรทัดฐานและแนวทางคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีเพิกถอนการแปรรูปกิจการ กฟผ. แต่เนื่องจากปตท. มีการแปรรูปไปแล้ว ดังนั้นผู้ฟ้องจึงไม่ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อออก มาตรการคุ้มครองชั่วคราวแต่อย่างใด
จากคุณ :
มือใหม่DSM
- [
2 ก.ย. 49 17:46:59
]
|
|
|