-สรรพากรย้ำ"โอ๊ค-เอม"จ่ายภาษีมี.ค.หน้า
ทั้งนี้ การตรวจสอบกรณีการประเมินภาระภาษีจากการซื้อขายหุ้นชิน คอร์ปฯดังกล่าว ในส่วนของหุ้นที่นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซื้อจากบ.แอมเพิล ริช 329 ล้านหุ้น ซึ่งมีการประเมินว่าจะมีภาระภาษีถึง 4,000 ล้านบาท แต่ผู้บริหารกรมสรรพากรได้วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวไม่มีภาระภาษีจะต้องเสียเลย จนต่อมาสตง.ได้เข้ามาตรวจสอบและเรียกผู้บริหารกรมสรรพากรมาชี้แจง แต่กรมสรรพากรโต้แย้งว่าสตง.ไม่มีอำนาจเรียกสอบ และยืนกรานว่ากรมดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ จนคณะกรรมการกฤษฏีกาต้องวินิจฉัยว่าสตง.มีอำนาจ
หลังการยึดอำนาจ คปค.มีคำสั่งตั้งคตส.ขึ้นมาตรวจสอบ ในการเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงครั้งสุดท้ายของนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ตัวแทนครอบครัวชินวัตร มีการออกข่าวว่า นายพานทองแท้-นางสาวพิณทองทา ชินวัตร จะยอมเสียภาษีในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเดือนมีนาคม 2550 จากนั้นนายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร เริ่มให้สัมภาษณ์ชี้ว่า ต้องรอดูการชำระภาษีในเดือนมีนาคม 2550 ก่อน หากผู้เสียภาษีไม่ยื่นเสียในส่วนนี้ ทางเจ้าหน้าที่จึงจะชี้ว่ามีภาระภาษีที่จะต้องชำระหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากร เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กรณีความผิดในการประเมินภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯนั้น ในทางกฎหมายขณะนี้ถือว่ายังไม่มีความผิดใด ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาการยื่นชำระภาษีดังกล่าว แต่หากครบระยะเวลาที่ต้องยื่นชำระภาษีแล้ว (มกราคม-มีนาคม 2550) จะมีความผิดเกิดขึ้นในกรณีที่เข้าข่ายมีภาระภาษีต้องชำระเท่านั้น โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีที่มีการยื่นเสียภาษีและกรณีไม่มีการยื่นเสียภาษีที่ผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรต้องมีความผิดแตกต่างกันไปตามนั้น
-เจ้าหน้าที่ไม่ผิดแค่พลาด
ส่วนกรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ถือเป็นการซื้อขายหุ้นของบริษัทในต่างประเทศ กฎหมายภาษีของสรรพากรไทยจึงไม่ครอบคลุม โดยกรณีการยื่นเสียภาษีนั้น ถือว่าไม่ได้มีความผิดใด ๆ เกิดขึ้น แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรที่ให้ความเห็นไปก่อนหน้านี้ว่า ไม่เข้าข่ายเสียภาษีจะต้องรับผิดชอบอย่างไรนั้น เมื่อพิจารณาแล้วไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐแต่อย่างใด เป็นเพียงการวินิจฉัยที่ผิดพลาดเท่านั้น การเอาผิดจึงอาจจะมีเพียงการว่ากล่าวตักเตือน หรืออย่างมากก็อาจจะถูกโยกย้ายออกไปยังส่วนงานอื่น
แต่สำหรับกรณีที่ไม่มีการมายื่นเสียภาษี ผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่จะเข้าข่ายการกระทำผิดทั้งคู่ โดยในส่วนของผู้เสียภาษีนั้น ทางกรมสรรพากรจะออกหมายเรียกให้มายื่นเสียภาษีพร้อมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่วินิจฉัยผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐ หากมีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประมาทเลินเล่อ จะต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง นอกจากนี้ในม.8 แห่งพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิด ถ้าพนักงานของรัฐประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จะโดนรับไล่เบี้ยให้เจ้าหน้าที่รัฐชดใช้และฟ้องศาลปกครอง ดังกรณีศาลแพ่งตัดสินคดีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 186,015 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 กรณีออกคำสั่งทำธุรกรรมสวอปปกป้องค่าเงินเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัวปี 2540
http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0121551&issue=2155
จากคุณ :
ช่างหัวมัน
- [
10 ต.ค. 49 13:18:07
]