ความคิดเห็นที่ 12
รู้เรื่องตลาดล่วงหน้า (ภาคสมบูรณ์)
ตลาดล่วงหน้าคือสถานที่ที่ทำการซื้อขายสินค้าโดยมีภาระผูกพันที่จะมีการส่ง มอบสินค้ากันในอนาคต สินค้านั้นอาจเป็นได้ทั้งสินค้าการเกษตร ตราสารอนุพันธุ์ ตราสารทางการเงิน เงินสกุลต่างๆ น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น และโดยที่การโอนย้ายเปลี่ยนมือยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องทำกันในรูปแบบของสัญญาซื้อขาย และการชำระเงินเพียงบางส่วนเพื่อเป็นการประกันสัญญา ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดล่วงหน้าก็มีทั้งผู้กำกับดูแล (เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์) นายหน้า (brokers) และผู้เข้าทำการซื้อขาย
เนื่องจากบทความนี้มีจุดประสงค์รวบรัดเพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นสู่ ตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตร จึงจะขออธิบายเฉพาะในส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าทำการซื้อขาย และวิธีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรเท่านั้น ในส่วนอื่นๆท่านสามารถหารายละเอียดได้จาก www.afet.or.th (ต.ส.ล.), www.aftc.or.th (ก.ส.ล.) และขอคำปรึกษาจากโบรกเกอร์ต่างๆไม่ต่ำกว่า 16 แห่งในขณะนี้ แต่ในหลักการโดยทั่วไปตลาดนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากตลาดหลักทรัพย์มากนัก
- ผู้เข้าทำการซื้อขายจะมี 3 ประเภทคือ
1. Hedger คือผู้ซื้อขายที่มีกิจการเกี่ยวข้องในตัวสินค้า และเข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง หรืออาจเข้ามาเก็งกำไรด้วยก็เป็นได้ (ไม่เหมือนและไม่ใช่ Hedge Fund ที่เราคุ้นเคย)
2. Speculator คือผู้ซื้อขายหรือนักเก็งกำไรเพื่อหวังผลต่างจากราคาเพียงอย่างเดียว
3. Arbitrageur เป็นนักเก็งกำไรจากผลต่างความเหลื่อมล้ำราคาของแต่ละตลาดทั่วโลก
- สินค้าในตลาด ขณะนี้มีเพียง 3 ชนิดคือ
1. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RU) (อาจเปลี่ยนตัวย่อในอนาคตใกล้ๆให้เป็นสากล) 2. ข้าวขาว 5% (WR) 3. แป้งมันสำปะหลัง (TS) ในช่วงแรกนี้ แต่ละสินค้ามีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ 6 เดือน แต่ในต่างประเทศอาจซื้อขายได้สูงสุดถึง 12-18 เดือน
- เงื่อนไขการซื้อขาย
1. การซื้อขายทำกันเป็นสัญญา โดยที่ปริมาณสินค้าของแต่ละสัญญาจะแตกต่างกันไป เช่น ยางแผ่นรมควัน 5,000 กิโลกรัม/สัญญา ข้าวขาว 5% 15,000 กิโลกรัม/สัญญา แป้งมันสำปะหลัง 15,000 กิโลกรัม/สัญญา
มีข้อกำหนดจำกัดปริมาณการถือครองสูงสุดของแต่ละสินค้าจาก ตสล. เพื่อป้องกันการกักตุนและปั่นราคา ตสล. จะประกาศปริมาณการถือครองสูงสุดในตัวสินค้าเป็นระยะๆ
2. ช่วงการซื้อขายเรียกว่า tick (ในตลาดหุ้นเรียก spread) ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละสินค้า คือ
ยางแผ่นรมควัน 0.10 บาท/กิโลกรัม ข้าวขาว 5% 0.02 บาท/กิโลกรัม แป้งมันสำปะหลัง 0.01 บาท/กิโลกรัม
มีเพดานขึ้น-ลงสูงสุด เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ แต่ใช้อัตราส่วนต่างกัน เช่นยางแผ่นขึ้นลงได้ไม่เกิน 3 บาท/กก. ข้าวขาว 0.30 บาท/กก. แป้งมัน 0.43 บาท/กก. โดย ตสล. จะออกประกาศเป็นช่วงๆ
3. แต่ละสินค้าจะมีสัญญาแยกเป็นเดือนๆ โดยมีทั้งหมด 6 เดือนล่วงหน้าในขณะนี้ ทั้งนี้ ตสล. มีระเบียบวิธีปฏิบัติอนุญาตให้เฉพาะ Hedgers เท่านั้นที่สามารถถือครองสัญญาจนถึงวันกำหนดส่งมอบ, กรณี Speculators และ Arbitrageurs ต้องทำการปิดสถานะสัญญา (Offset) ก่อนเวลาสิ้นสุดสัญญาเล็กน้อย แต่ละสินค้าจะต่างกันตามกำหนดจาก ตสล.
4. สามารถสั่งซื้อสินค้า (Long Position) หรือสั่งขายสินค้าโดยที่ยังไม่มีสินค้าในมือได้ (Short Selling) 5. หากได้สั่งซื้อไว้ก็ต้องสั่งขายก่อนวันส่งมอบตามอายุสัญญา หรือหากสั่งขายไว้ล่วงหน้าก็ต้องสั่งซื้อเพื่อคืนสัญญา กระบวนการนี้เรียกว่า Offset Position หรือการหักล้างสัญญา หรือปิดสถานะสัญญา
- เมื่อจะซื้อขายต้องทำอย่างไร
1. สมัครเข้าเป็นสมาชิกและส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ ที่มีอยู่ 16 แห่งในปัจจุบัน (หรือผ่าน Sub-Broker ปัจจุบันทราบเพียง 1 แห่ง ซึ่งคำสั่งซื้อขาย + สัญญาต่างๆยังคงทำผ่าน Broker ของตลาดตามปกติทุกประการ เพียงแต่มีบริการเสริมให้มากกว่า เรียกว่าได้บริการแถมแบบ Broker + Service Plus ด้วยค่าใช้จ่ายเท่ากัน)
2. สมัครเป็นสมาชิกซื้อขายประเภทผู้ค้าล่วงหน้า (Trader) โดยตรงกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ต.ส.ล.) ถ้าท่านคิดว่ามีปริมาณการซื้อขายที่มากพอ และไม่อยากเสียค่าคอมมิชชั่นให้กับโบรกเกอร์
3. ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อหรือขาย 1 ครั้งทางโบรกเกอร์คิด 0.15% x VAT 7% โดยคิดจากมูลค่าเต็มของสัญญา ไม่ใช่จากเงินประกันสัญญา
- การวางเงินประกัน
เนื่องจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ผู้ซื้อขายไม่ต้องชำระเงินเป็นจำนวนเต็มของมูลค่าสินค้า แต่ต้องมีเงินประกันตามกำหนดของ ตสล. ประมาณ 5-10% ของมูลค่ารวมสินค้า ฉะนั้นการส่งคำสั่งซื้อขายได้ จะต้องมีเงินฝากอยู่กับโบรกเกอร์ก่อนแล้ว เงินประกันมี 2 ประเภทดังนี้
1. Initial Margin (IM) เป็นเงินประกันเบื้องต้น จำนวนแล้วแต่จะเรียกและประกาศโดย ตสล. ซึ่งไม่เกิน 5-10% ของมูลค่ารวมสินค้าที่จะซื้อขาย เช่น ซื้อยางแผ่นรมควัน 1 สัญญา 5,000 กิโลกรัม ราคา 60.00บาท/กก. รวมมูลค่า 300,000 บาท แต่เวลาสั่งซื้อขายล่วงหน้า ใช้เงินประกัน (Initial Margin) เพียง 12,000-12,700 บาทเท่านั้น
2. Maintainance Margin (MM) เป็นเงินประกันขั้นต่ำสุดเพื่อคงสถานะการถือสัญญา ซึ่งเมื่อได้ทำการสั่งซื้อขายสินค้าแล้ว เกิดมีผลขาดทุนทางบัญชีที่คิดจากราคาปิดของวัน จะถูกเรียกให้เติมเงินประกันเพื่อให้เต็มตาม Initial Margin อีกครั้ง เงินประกันขั้นต่ำนี้จะประมาณ 75% ของ Initial Margin หรือเมื่อไหร่ที่ Initial Margin ลดลง 25% ก็จะถูกเรียกให้เติมเงิน (Margin Call) เพื่อกลับไปสู่ 100 % Initial Margin อีกครั้ง จำนวนวงเงิน Maintainance Margin ถูกกำหนดโดย ตสล. เช่นกัน
3. การละเว้นไม่เติมเงินรักษาสถานะหากโบรกเกอร์ได้เรียกแล้ว มีผลทำให้เกิดการใช้สิทธิ Force Sell ตามมาในวันรุ่งขึ้น
4. เงินประกัน Initial Margin (IM), Maintainance Margin (MM) ที่เรียกเก็บจากลูกค้าแต่ละประเภท จะแตกต่างกันโดยลูกค้าประเภท Speculators และ Arbitrageurs ถูกกำหนดวงเงินไว้สูงสุด
- ปัจจัยการซื้อขาย
1. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จากฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ พฤติกรรมผู้บริโภค ผลผลิตทั้งในประเทศและประเทศคู่แข่งขัน นโยบายรัฐบาล ภาษี ราคาอ้างอิงในต่างประเทศ ฯลฯ
2. การวิเคราะห์ทางเทคนิค โดยใช้กราฟเป็นเครื่องมือ
- เวลาทำการของตลาด (ตสล.)
วันจันทร์ - ศุกร์ เว้นวันหยุดธนาคาร 10.30 น. - 12.00 น. 13.30 น. - 15.00 น.
- คำศัพท์และคำย่อที่ควรรู้
1. Futures = ตลาดล่วงหน้า 2. AFET = Agricultural Futures Exchange of Thailand ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (ต.ส.ล.) 3. Long = ซื้อ 4. Short = ขาย 5. Settlement Price = ราคาปิด 6. Offset = ล้างสัญญา, ปิดสถานะสัญญา 7. IM = Initial Margin เงินประกันขั้นต้น 8. MM = Maintainance Margin เงินประกันขั้นต่ำ 9. Margin Call = การเรียกให้เพิ่มเงินประกันจากเงินประกันขั้นต่ำ ไปสู่เงินประกันขั้นต้น 10. OI = Open Interest สัญญาคงค้าง ที่เกิดจากการที่คำสั่งซื้อและขายยังไม่ปิดสถานะ
- บทสรุปก่อนเข้าทำการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า
1. เลือกและทำสัญญาเป็นสมาชิก Broker
2. ฝากเงินล่วงหน้ากับ Broker 1 วันก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย
3. เลือกสินค้าที่จะเข้าซื้อหรือขาย โดยทำการวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้าแล้ว
4. กำหนดจุดซื้อขาย จุด Stop Loss เป็นระบบไว้ล่วงหน้าเผื่อเหตุสุดวิสัย
5. เลือกจำนวนสัญญาที่จะเข้าซื้อหรือขาย เปรียบเทียบจำนวนเงินค่าสินค้ากับเงินประกันที่มี
6. เลือกเดือนที่จะซื้อหรือขาย ทั้งนี้ควรเลือกเดือนที่มี Open Interest สูงพอควรเพื่อให้มีสภาพคล่อง
7. เลือกว่าจะทำการสั่งซื้อ (Long) หรือสั่งขายล่วงหน้า (Short) ระวังส่งคำสั่งให้ถูกต้อง
8. เมื่อสั่งซื้อหรือขายไว้แล้ว ก่อนครบกำหนดเดือนตามสัญญา ต้องทำการล้างสัญญาปิดสถานะ
9. ต้องไม่ลืมตัวว่าการ Trade ใน Futures เป็นความเสี่ยงสูง สามารถทำกำไรให้ได้มากกว่า 100% แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำความเสียหายขาดทุนได้มากกว่า 100% เช่นกัน ฉะนั้นการมีวินัยขั้นอุกฤตในการ Stop Loss จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
10. ไม่ควรใช้เงินเกินกว่า 25-30% ของเงินที่มีทั้งหมดในการเล่นตลาดล่วงหน้า เพราะต้องเตรียมสำรองในกรณีเกิดความเสียหายที่ไม่คาดฝัน จะไม่ต้องขายบ้านลูกเมียไปชดใช้
11. วิธีหนึ่งในการ Stop Loss ง่ายๆอย่างคนไม่รู้และไม่แนะนำ แต่อาจจำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ไม่ประสีประสาก็คือ การปล่อยให้ Broker บังคับขายเมื่อต้องถูกเรียก Maintainance Margin เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งแปลว่าเข้าซื้อขายผิดจังหวะ ต้องลดความเสี่ยงโดยไม่ฝืนตลาด และถอยหลังประเมินตัวเองใหม่
12. ต้องติดตามข่าวสารเกี่ยวข้องกับตัวสินค้าอย่างใกล้ชิด เพราะความเสียหายจะมีอย่างไม่จำกัด หากไม่รู้จัก Stop Loss หรือ Cut Loss
- คุณสมบัติ Broker ที่ดี
1. เป็นสมาชิกที่มีชื่อในบัญชีผู้ให้บริการ 16 แห่งของ ตสล.
2. มีบทวิเคราะห์ทั้งปัจจัยพื้นฐาน และ เทคนิค ของตัวสินค้า
3. มีบทวิเคราะห์ตลาดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า เช่น ตลาดสินค้าชนิดเดียวกันของตลาดอ้างอิงในต่างประเทศ ตลาดน้ำมัน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ
4. มีบริการให้ข้อมูล คำแนะนำ มีมนุษย์สัมพันธที่ดีต่อลูกค้า
5. มีบริการเสริมฟรีโดยให้โปรแกรมกราฟเรียลไทม์ Next View และ/หรือ โปรแกรมเรียลไทม์ AFET จาก Efinancethai
6. สำหรับข้าพเจ้าชอบกราฟ AFET เรียลไทม์จาก Efinance มากกว่าเพราะวิธีใช้เช่นเดียวกับ Efinance SET เรียลไทม์ และเป็นสมาชิกกับโบรกที่มีนักวิเคราะห์ที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว (ไม่ใช่ marketing ที่ไม่มีความรู้จริงด้านเทคนิค) ไม่ว่าพอร์ตจะเล็กจะใหญ่ไม่สำคัญ ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้หาได้ยากนัก เป็น Broker + Service Plus ในขณะที่ค่าใช้จ่าย ค่าคอมมิชชั่นเท่ากัน ทุกอย่างเหมือนกันแต่ได้บริการมากกว่า
ขอความมีโชคและความร่ำรวยจงเกิดกับทุกท่านที่ไม่ประมาทในตลาดแห่งนี้ แต่สำหรับผู้ไม่เชื่อมั่น ไม่มีระบบการซื้อขาย ไม่รู้จักหยุดขาดทุน ไม่แนะนำครับ อันตราย!!!!!! ถึงขั้นหมดตัวได้ง่ายๆ.......
- - - - จบ - - - -
จากคุณ :
mr.stock
- [
17 พ.ย. 49 01:26:13
]
|
|
|