จับ ตาแบงก์ชาติ-คลังงัดมาตรการชุดใหญ่อุ้มเศรษฐกิจ หลังแบงก์ชาติส่งสัญญาณลดอาร์/พี 1วันเหลือ 4.75% ด้านคลังเร่งวางแนวทางเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 50 ที่ 93% หวังช่วยกระตุ้นศก.ฟื้น และผ่อนคลายผลกระทบมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% กูรูประเมินผล 1 เดือนของมาตรการเห็นผลบวกไม่ชัดเท่าผลข้างเคียงทางลบ ต่างชาติชะงักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติย้ำหนักแน่นบาทอ่อนลงแล้ว 2% ด้าน"ศุภวุฒิ สายเชื้อ" จี้แบงก์ชาติแก้ที่ต้นเหตุบาทแข็ง เพราะโครงสร้างศก.ไทยพึ่งภาคส่งออกสูงถึง 70% ของจีดีพี
ท่ามกลางกระแสการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 ที่มีแนวโน้มการขยายตัวลดลง ในขณะที่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) 1 วันจากระดับ 4.9375% เป็น 4.75% ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กนง. ให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลง แต่ผลของมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2549 เพื่อแก้ปัญหาการเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น กลับยังเป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจไทยอยู่
+ชี้บาทแข็งเพราะไทยพึ่งส่งออก 70%
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ" ได้จัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "ผลกระทบ-แนวโน้มจากมาตรการ 30%" เพื่อติดตามผลกระทบจากมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2549 หรือนับเป็นเวลา 1 เดือนพอดี โดยส่วนใหญ่ยังสะท้อนมุมมองต่อมาตรการกันสำรอง 30% ของธปท.ว่า ไม่ได้เห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจชัดเจนเท่ากับผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้น
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ามาตรการของธปท. เกิดผลเสียตามที่มีการพูดกันมาโดยตลอด ส่วนผลดีนั้นยังไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้นักลงทุนที่เข้ามาทำธุรกรรมใน ประเทศไทยนอกเหนือจากความเสี่ยงภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ ลดลง
นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิยังฟันธงว่า ปัญหาของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่านั้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การไหลเข้าของเงินทุนหรือการเข้ามาเก็งกำไร แต่อยู่ที่โครงสร้างทางการค้า (Trade Account) หรือการเกินดุลการค้า เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศไทยที่สูงถึง 70% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป ในขณะที่ความต้องการใช้ดอลลาร์มีน้อยกว่าดอลลาร์ที่มี ตลาดจึงส่งสัญญาณว่าหากไม่ได้ใช้ดอลลาร์เงินบาทก็จะต้องแข็งค่า
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มี 3 ทางคือ 1. แบงก์ชาติต้องซื้อดอลลาร์เก็บเข้าทุนสำรองต่อไป และยอมรับภาระขาดทุนไปเรื่อย ๆ 2.การเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีความชัดเจนว่าจะมีการนำเงิน ดอลลาร์ไปใช้ และ 3. การเปิดให้เอกชนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งควรพิจารณาเปิดเสรีให้คนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่เพราะหวังว่าจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า หรือเพราะกลัวว่าเงินบาทจะแข็งค่าเพราะมีดอลลาร์อยู่มาก
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัญหาของโครงสร้างของประเทศไทยที่เป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจที่เกินดุล บัญชีเดินสะพัด สิ่งที่ประเทศไทยทำได้เพื่อบรรเทาปัญหาในการปรับโครงสร้าง คือ การลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ธปท.ประกาศใช้มาตรการ 18 ธ.ค.นั้น โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าอยู่ในภาวะที่จำเป็น ซึ่งจนถึงขณะนี้จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะใช้มาตรการที่รุนแรงขนาดนี้แล้ว เงินบาทก็ยังไม่อ่อนค่าลงมากนัก แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า หลังธปท.ออกมาตรการ กันสำรอง 30% มีผลให้ค่าเงินบาทหยุดแข็งค่าได้พอควรและกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง เห็นได้จากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐซึ่งเคยแข็งค่าถึงระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันอาจเกิดผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด คือ สภาพคล่องและทิศทางของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมาตรการของธปท. ทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนในการกู้เงินจากต่างประเทศสูงขึ้น ซึ่งมีผลให้บริษัท และรัฐวิสาหกิจต้องหันมากู้เงินในประเทศแทน ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง และเป็นตัวผลักให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศหรือดอกเบี้ยตลาดสูงขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีทิศทางที่จะปรับลดลงก็ตาม
สิ่งที่ทำให้เรามีปัญหาในวันนี้ คือ 1. นโยบายของไทยตามการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกไม่ทัน 2. รูปแบบการจัดการปัญหาเงินที่แข็งค่าของไทยซึ่งน่าจะใช้รูปแบบของประเทศ อื่นๆในเอเชียมากกว่าที่จะใช้รูปแบบของลาตินอเมริกา เพราะจะมีผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจมากกว่า และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว
+ต่างชาติชะลอลงทุนตราสารหนี้
ทางด้าน นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสายงานด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการธปท.ทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับสูงขึ้น สะท้อนต้นทุนทางการเงินของภาครัฐ คือ กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นในการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี นี้ ส่วนผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ คือ นักลงทุนต่างประเทศชะลอการซื้อขาย เห็นได้จากช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2549 ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาเทรดในตลาดตราสารหนี้สูงถึง 20% ของมูลค่าเทรดแต่ละวัน แต่หลังวันที่ 18 ธ.ค. 2549 ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศลดลงเหลือเพียง 1-2% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศยังถือตราสารหนี้อยู่ถึง 1 แสนล้านบาท
ขณะที่นายทรงพล ชีวปัญญาโรจน์ ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากธปท.มีมาตรการออกมาเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ประกอบการ (ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก) ที่ควรจะมีความเข้าใจต่อตลาดและการบริหารจัดการความเสี่ยง จะมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติเกินไป เช่น การแทรกแซงหรือจัดการมากเกินไป อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ในปัจจุบันสภาพโครงสร้างทางการเงินของผู้ประกอบการ ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ
"ผมห่วงโครงสร้างทางการเงินของบริษัทข้ามชาติที่ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม หมายความว่าอาจใช้ทางเลือกทางการเงินในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาตลาดของเราทางการเงินในประเทศ ซึ่งผมเชื่อว่าตลาด Corporate Bond น่าจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่ผู้ลงทุนเองก็ต้องมีการพัฒนาต่อฐานให้กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันฐานผู้ลงทุนยังค่อนข้างแคบซึ่งเป็นเรื่องของปัญหาด้านโครง สร้าง" นายทรงพลกล่าว
+กระทุ้งธปท.ลดดบ.ทั้งปี 2%
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันจาก 4.9375% เหลือ 4.75% โดยนางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดชี้ว่าอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง การบริโภคและการลงทุนใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 แม้การส่งออกยังขยายตัวดีแต่ยังมีความไม่แน่นอนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ โลกในปีนี้ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงจากปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะราคาน้ำมัน
สอดรับกับความเห็นของภาคเอกชน ที่เห็นแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ โดยดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 อุปสงค์ของภาคเอกชนในประเทศขยายตัวเพียง 2.9% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากนับตั้งแต่ปี 2541 ทั้งๆที่ในช่วงดังกล่าวยังไม่ได้เกิดสถานการณ์ระเบิด ธปท.ยังไม่ได้ประกาศมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น และยังไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งแรกอาจจะต้องปรับลดถึง 0.50% (มติที่ประชุม กนง.ครั้งแรก 17 มกราคม 2550 ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 4.9375 % เหลือ 4.75%) จึงจะมีผลให้ภาคธุรกิจเกิดความตื่นตัว และนักลงทุนกลับมาวางแผนการลงทุน และเป็นการส่งสัญญาณที่เข้มแข็งต่อเศรษฐกิจว่าธปท.จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจใน ประเทศเติบโต โดยคาดว่าในปีนี้ทั้งปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงได้ถึง 1.5-2%
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกครั้งว่า หากธปท.ยืนยันว่าอยากจะให้เงินบาทอ่อนค่า แสดงว่าธปท.ไม่กลัวเงินเฟ้อ ดังนั้นแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงปรับลดลงได้ โดยส่วนตัวคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงได้ถึง 2% อย่างไรก็ตาม บล.ภัทรฯ คาดว่าธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีเพียง 0.75%
+แบงก์ชาติชี้บาทอ่อนแล้ว 2%
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ" ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทย 2550 หมูหรือไม่หมู?"
(อ่านรายละเอียดของงานสัมมนาที่หน้า 8)
ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลของมาตรการสำรองเงิน 30% ว่า เมื่อเทียบข้อมูลของวันที่ 15 มกราคม 2550 กับวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ค่าเงินบาทอ่อนค่าไป 2% ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคนี้ ขณะที่เงินเกาหลีอ่อนลง 1.2% ไต้หวันดอลลาร์อ่อนลง 0.05% อินโดนีเซียอ่อนลง 0.03% เยนอ่อนลง 1.9% ส่วนเงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าขึ้น 1.4% ฟิลิปปินส์แข็งขึ้น 1.0% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวชี้ชัดว่าการมีมาตรการไปนั้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง 2% เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นเลยในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้บอกว่าค่าเงินบาทจะต้องอ่อนตลอด เพราะค่าเงินบาทคงจะต้องเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค
จากคุณ :
GS Mobile
- [
23 ม.ค. 50 12:35:54
]