ความคิดเห็นที่ 4
คราวนี้ Copy มาทั้งดุ้น
เงินบาทแข็งค่า
เศรษฐศาสตร์จานร้อน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปต่ำกว่า 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี จึงมีคำถามตามมาว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกหรือไม่ และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เกิดความเป็นห่วงตามมาอีกด้วยว่าการแข็งค่าของเงินบาทนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
ภัทรมองว่าค่าเงินบาทสามารถแข็งค่าต่อไปได้อีกเล็กน้อย โดยคาดการณ์ว่าเงินบาทจะขึ้นไปที่ 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในปลายปีนี้ และจะแข็งค่าขึ้นไปอีกปีหน้า และน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวมีความผิดพลาดได้มากเพราะยังไม่มีตำราใดที่สามารถทำนายค่าเงินได้อย่างแม่นยำโดยสม่ำเสมอ
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น? เงินบาทนั้นแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 15 เดือนแล้วจากระดับ 42 บาทต่อ 1 ดอลลาร์มาเป็น 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในขณะนี้คือแข็งค่าขึ้นมากถึง 12% หรือเกือบ 1% ต่อเดือน ซึ่งในระยะหลังนี้จะไปโทษว่าเงินดอลลาร์อ่อนก็จะไม่ถูกนัก เพราะค่าเงินดอลลาร์นั้นมีเสถียรภาพหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ คือเงินเยนและเงินยูโร
ดังนั้น จึงต้องมองได้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น น่าจะสืบเนื่องมาจาก ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นหลักมากกว่า ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยภายนอกปัจจัยหนึ่งคือ การแข็งค่าของเงินหยวนซึ่งเป็นผลมาจากการที่จีนเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาประกอบกับการที่จีนค่อยๆ ปล่อยให้เงินหยวนถูกกำหนดค่าโดยกลไกตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเป็นคู่แข่งกับจีนจึงแข็งค่าขึ้นตามเงินหยวนไปด้วย ทั้งนี้ เงินหยวนนั้นมีนัยว่าจะแข็งค่าขึ้นไปได้อีก 3-5% ภายใน 6-12 เดือนข้างหน้าตามการคาดการณ์ของเมอร์ริล ลินช์ ดังนั้น เงินบาทจึงมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย
แต่การแข็งค่าของเงินบาทนั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในประเทศไทยเองด้วย ดังนี้
1. การส่งออกที่ขยายตัวดีเกินคาด กล่าวคือการส่งออกปีนี้ยังขยายตัวได้ในอัตราสูงเกือบ 17% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขล่าสุดคือเดือนกันยายนนั้น การส่งออกขยายตัวสูงถึง 15% ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว โดยภัทรได้เคยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในครึ่งหลังของปีนี้น่าจะขยายตัวไม่เกิน 10% เมื่อการส่งออกขยายตัวดีเกินคาดไปประมาณ 5-6% ก็หมายความว่าประเทศไทยมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
2. การนำเข้าที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด คือแทนที่การนำเข้าจะขยายตัวประมาณ 15-20% ในปีนี้ การนำเข้าขยายตัวเพียง 5-10% เท่านั้น ส่วนต่างดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าการใช้เงินตราต่างประเทศของไทยต่ำกว่า "เป้า" เดือนละ 1,000-1,500 ล้านดอลลาร์ สาเหตุที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการนำเข้าจะขยายตัวมากก็สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ระดับสูง แต่ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมากลับปรับลดลงถึง 25%
ในขณะเดียวกัน การใช้กำลังการผลิตของโรงงานไทยนั้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ มา 3 ปีแล้ว จนหลายอุตสาหกรรม มีการใช้กำลังการผลิตเกิน 80% ไปแล้ว ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าภาคเอกชนจะต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนนั้นจะต้องส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น (จึงเชื่อว่าการนำเข้าจะขยายตัวได้ 15-20% โดยไม่ยากนัก) แต่ปรากฏว่าในปีนี้การลงทุนของภาคเอกชนกลับขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ราคาน้ำมันยังอยู่ที่ระดับสูงในครึ่งแรกของปี
ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองและความกังวลว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะอ่อนตัวลง ดังนั้น นักธุรกิจไทยจึงเลือกที่จะเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน เป็นผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นน้อยมาก จนให้ยอดการขาดดุลการค้าลดลงอย่างรวดเร็ว และดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุลกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ จึงไม่น่าจะแปลกใจว่าทำไมเงินบาทจึงสามารถแข็งค่าขึ้นได้โดยไม่ยาก
3.ดุลบริการที่เกินดุล การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้โดยรวมนั้นเป็นไปด้วยดี ทำให้มูลค่าการเกินดุลบริการนั้นมีความต่อเนื่อง และการเกินดุลบริการนั้นมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนถึง 300-400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประเทศไทย เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว
4. เงินทุนไหลเข้าประเทศสุทธิ ติดต่อกันมาเกือบ 10 ไตรมาส (หรือ 2 ปีครึ่ง) แล้ว ซึ่งการไหลเข้าสุทธินั้นอยู่ในระดับเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผมเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาประเทศไทยนั้น ก็คืออัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ที่ระดับสูงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา คือเมื่อกลางปีเงินเฟ้อสูงกว่า 6% แต่ในเดือนกันยายนนั้นลดลงเหลือต่ำกว่า 3%
ในขณะที่ในช่วงเดียวกันดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด ดังนั้น "ดอกเบี้ยจริง" หรือดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ จึงได้ปรับเพิ่มขึ้นมากในประเทศไทย ซึ่งช่วยทำให้เงินบาทเป็นเงินที่น่าลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
5. ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันมิให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีทุนสำรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าไปแทรกแซงโดยการขายเงินบาทเข้าไปในตลาดเพื่อซื้อเงินดอลลาร์มากักตุนเอาไว้ ทั้งนี้ การขายบาทย่อมจะทำให้ปริมาณบาทในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงนั่นเอง แต่การเข้าไปแทรกแซงดังกล่าวย่อมทำให้เชื่อได้ว่าหากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าไปแทรกแซงเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้นไปอีก จึงทำให้เกิดความต้องการที่จะเก็งกำไรค่าเงินบาท
กล่าวคือหากนักเก็งกำไรเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ยังพยายามกดค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขณะที่การนำเข้าขยายตัวต่ำและมีการตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับสูง ก็จะทำให้รู้สึกว่ามีการเข้ามาลงทุนในเงินบาทนั้น มีความเสี่ยงต่ำที่เงินจะเสื่อมค่าลง แต่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น
แต่ในที่สุดแล้ว ก็จะมีความเป็นไปได้สูงว่าการไหลเข้าของเงินทุน จะเสริมให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป (overshoot) ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกเริ่มฝืดเคือง แต่การนำเข้าขยายตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง และในที่สุด เงินบาทก็จะอ่อนค่าลงแต่ตรงนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ครับ
--------------------------------------
จากคุณ :
Kj 2nd
- [
25 ม.ค. 50 03:03:40
]
|
|
|