ความคิดเห็นที่ 4
ช่วงไล่ราคานี้ อาจจะกินเวลา 3 วันถึง 1 เดือน ขึ้นกับว่าเป็นหุ้นอะไร ภาวะตลาดอย่างไร เช่น ถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไรที่ไม่มีพื้นฐานจะกินเวลาสั้น แต่ถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานดีจะใช้เวลานานกว่า และถ้าเป็นภาวะกระทิง นักปั่นหุ้นจะยิ่งทอดเวลาออกไป เพื่อให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงที่สุดเท่าที่ตั้งเป้าเอาไว้ ในช่วงต้นของการไล่ราคา นักลงทุนรายใหญ่อาจยังคงมีการสะสมหุ้นเพิ่มอยู่บ้าง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียนในแต่ละพอร์ตที่ใช้ปั่นหุ้นอยู่ พอปลายๆ มือจะใช้วิธีไล่ราคาแบบไม่เก็บของ คือ ตั้งขายเอง เคาะซื้อเอง เมื่อซื้อได้ ก็จะนำหุ้นจำนวนนี้ย้อนไปตั้งขายอีกในราคาที่สูงขึ้น และเคาะซื้อตามอีก ทำเช่นนี้หลายๆ รอบ สลับกันไปมาระหว่างพอร์ตต่างๆของตนเอง ค่อยๆ ดันราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หากมีหุ้นของรายย่อยถูกซื้อติดเข้ามาจนรู้สึกว่าเป็นภาระมากเกินไป ก็อาจมีการเทขายระบายของออกไปบ้าง แต่เป็นการขายไม้เล็กๆ ในลักษณะค่อยๆ รินออกไป เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยตกใจเทขายตามมากเกินไป ตัวหุ้นเองจะได้มีการปรับฐานตามหลักเทคนิค เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหม่ที่ยังไม่ได้ซื้อ จะได้กล้าเข้ามาซื้อ 5) การปล่อยหุ้น เมื่อหุ้นขึ้นมาได้ 80% ของราคาเป้าหมายแล้ว ระยะทางที่เหลืออีก 20% ของราคาคือช่วงของการทยอยปล่อยหุ้น ช่วงนี้จะเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตายการลงทุนของนักปั่นหุ้น ถ้าทำพลาด นักลงทุนรายย่อยรู้เท่าทัน หรือตลาดไม่เป็นใจ เช่น เกิดสงครามโดยไม่คาดฝัน นักปั่นหุ้นเองที่จะเป็นผู้ติดหุ้นอยู่บนยอดไม้ จะขายก็ไม่มีใครมารับซื้ออาจต้องรออีก 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะมีภาวะกระทิงเป็นจังหวะให้ออกของได้อีกครั้ง อีกทั้งอาจจะไม่ได้ราคาดีเท่าเดิม หรือถึงกับขาดทุนก็ได้ วิธีการปล่อยหุ้น เริ่มจากการรอจังหวะที่ข่าวดีจะประกาศออกมาเป็นทางการ นักปั่นหุ้นซึ่งรู้มาก่อนแล้วจะเริ่มไล่ราคาอย่างรุนแรง 4-5 ช่วงราคา มีการโยนหุ้น เคาะซื้อเคาะขายกันเองครั้งละหลายแสนหุ้นปริมาณซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อดึงดูดความสนใจของรายย่อย เมื่อรายย่อยเริ่มเข้าผสมโรง นักลงทุนรายใหญ่จะตั้งขายหุ้นในแต่ละช่วงราคาไว้หลายๆ แสนหุ้น และจะเริ่มเคาะนำ ส่งสัญญาณไล่ซื้อครั้งละ 100 หุ้นบ้าง 3,000 หุ้นบ้างหรือแม้แต่ครั้งละ 100,000 หุ้น หลายๆ ครั้ง เมื่อหุ้นที่ตั้งขายใกล้หมด เขาจะเคาะซื้อยกแถวพร้อมกับตั้งซื้อยันรับที่ราคานั้นทันที ครั้งละหลายแสนหุ้น ถามว่าเขาตั้งซื้อครั้งละหลายแสนหุ้น เขากลัวไหมว่าจะมีคน หรือนักลงทุนสถาบันขายสวนลงมา คำตอบคือ กลัว แต่เขาก็ต้องวัดใจดูเหมือนกัน หากมีการขายสวนก็ต้องใช้วิธีเคาะซื้อแต่ไม่ใช้วิธีตั้งซื้อ นักลงทุนรายย่อยเมื่อสังเกตว่ามีการไล่ซื้อ จะเข้ามาซื้อตาม นักลงทุนรายใหญ่ซึ่งคอยนับหุ้นอยู่ พอเห็นมีเหยื่อมาติด จะเคาะนำที่ราคาใหม่ที่สูงขึ้นอีก แต่เพื่อให้ไม่ต้องซื้อหุ้นเข้ามาเพิ่ม เขาจะเคาะซื้อไม้หนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้นที่ตั้งขายอยู่เป็นหุ้นในกลุ่มของตนเอง สมมติตนเองตั้งขายไว้ 500,000 หุ้น เมื่อได้รับการยืนยันจากเทรดเดอร์ว่า เริ่มมีการเคาะซื้อ จากนักลงทุนอื่น ถึงคิวหุ้นของตนแล้ว เช่นอาจมีคนเคาะซื้อเข้ามา 10,000 หุ้น เขาจะทำทีเคาะซื้อเองตามอีก 200,000 หุ้น เพื่อให้รายย่อยฮึกเหิม เมื่อซื้อแล้วเขาก็จะเอาหุ้น 200,000 หุ้นนี้มาตั้งขายใหม่ ยอมเสียค่านายหน้า ซื้อมาขายไปเพียง 0.5% แต่ถ้าสำเร็จจะได้กำไรตั้ง 50-100% เพราะฉะนั้น การไล่ซื้อช่วงนี้จึงเป็นการซื้อหนักก็ต่อเมื่อ ซื้อหุ้นตนเองตบตารายย่อยขณะที่ค่อยๆ เติมหุ้นขายไปทีละแสนสองแสนหุ้น ส่วนการตั้งซื้อ ( BID ) ที่ตบตารายย่อยว่าแรงซื้อแน่นนั้น หากสังเกตดีๆ จะพบว่าเมื่อตั้งซื้อเข้ามาสองแสนหุ้น สามแสนหุ้น สักพักจะมีการถอนคำสั่งซื้อออก แล้วเติมเข้ามาใหม่เพื่อให้การซื้อนั้นไปเข้าคิวใหม่อยู่คิวสุดท้าย และจะทำอย่างนี้หลายๆ ครั้ง นักลงทุนรายย่อยที่ตั้งซื้อเข้ามา จะถูกดันไปอยู่คิวแรกๆ หมด และถ้าเขาเห็นว่านักลงทุนอื่น มีการตั้งซื้อเข้ามามากพอสมควรแล้ว นักลงทุนรายใหญ่ก็จะมีการเทขายสลับเป็นบางครั้ง เรียกได้ว่ามีทั้งการตั้งขายและเคาะขายพร้อนกันเลยทีเดียว หากจะสรุปวิธีการที่ใช้ในช่วงปล่อยหุ้นนี้ สามารถแบ่งออกได้ 4 วิธีการย่อย มีการตั้งขายหุ้น ( OFFER ) ไว้ล่วงหน้า หลายแสนหุ้นในแต่ละขั้นเวลา เริ่มเคาะซื้อนำครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง และจะเคาะซื้อหนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้นที่ตั้งขาย ( OFFER ) เป็นหุ้นในกลุ่มของตน เมื่อซื้อได้จะรีบนำมาตั้งขายต่อ และจะมีการเติมขายหุ้นตลอดเวลา เมื่อหุ้นที่เสนอขาย ( OFFER ) ใกล้หมด จะเคาะซื้อยกแถว แล้วตั้งเสนอขาย ( BID )เข้ามายันหลายแสนหุ้น แต่จะทยอยถอนออกแล้วเติมเข้าตลอดเวลา 4) เมื่อหุ้นของคนอื่นที่ตั้งซื้อ ( BID ) มีจำนวนมากพอจะมีการเทขายสวนลงมาเป็นจังหวะๆ เขาจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หุ้นในพอร์ตของตนเอง จะค่อยๆ ถูกระบายออกไป และในสุดท้ายเมื่อข่าวดีได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น เขาจะทำทีเคาะไล่ซื้อหุ้นตนเองอย่างหนัก แต่จะไม่ตั้งซื้อแล้ว เพราะกลัวถูกขาย ดังนั้นจึงเป็นภาพเหมือนมีคนมาไล่ซื้ออย่างรุนแรง แล้วอยู่ๆ ก็หยุดไปเฉยๆ ถามว่าแล้วเขาปล่อยหุ้นไปตอนไหน คำตอบคือ เขาทยอยตั้งขายไปในระหว่างที่เขาทำทีซื้อนั่นเอง ผู้เคราะห์ร้าย คือ รายย่อยที่ไปเคาะซื้อตาม แต่รีรอที่จะขายเพราะเห็นว่ายังมีแรงซื้อแน่นอยู่ สุดท้ายต้องติดหุ้นในที่สุด บทสรุป ตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นแหล่งระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญของประเทศชาติ ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสให้นำเงินออมเข้ามาลงทุนกับบริษัทชั้นดีในตลาดหลักทรัพย์ หากเขาเหล่านั้นลงทุนด้วยความรู้ ความเข้าใจ ย่อมสามารถสร้างผลกำไร และความมั่นคงให้กับตนเอง และครอบครัว แต่ถ้าเข้ามาลงทุนด้วยวิธีเก็งกำไรโดยปราศจากความรู้ ย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของนักปั่นหุ้นที่มีอยู่มากมายในตลาดหุ้นได้ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว เปรียบได้ดั่งสายฝนซู่ใหญ่ที่พัดสาดเข้ามาอีกครั้ง แสงระยิบระยับของกระดานหุ้นเร้าใจแมลงเม่าไม่แพ้แสงไฟในฤดูฝน เหล่าแมลงเม่าน้อยใหญ่พากันโบยบินเข้าตลาดหุ้น และแล้วตำนานเรื่องเดิมของเหล่าแมลงเม่าก็เริ่มต้นอีกครั้ง
จากคุณ :
GS Mobile
- [
22 ก.พ. 50 07:27:23
]
|
|
|