ความคิดเห็นที่ 5
เซฟมาจากสมาชิกในห้องนี้มาโพสท์เนื้อหาในกระทู้น่ะครับ
วิธี คห1 น่าจะคือ Value Averaging ครับ
ผศ.ดร. คมวุธ วิศวไพศาล หัวหน้าศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดลอง มหาวิทยาลัยศรีปทุม ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ปีที่ 12 ฉบับที่ 744 วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2549
Value Averaging (VA) เป็นกลยุทธ์การลงทุนวิธีหนึ่งที่คิดค้นโดย ดร.ไมเคิล อเดลสัน จาก บริษัทมอร์แกนแสตนเลย์ ในอดีตท่านเคยเป็นศาสตราจารย์ในภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แนวความคิดของ VA เป็นการต่อยอดมาจาก วิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนหรือที่เรียกว่าวิธี Dollar Cost Averaging (DCA) โดย DCA เป็นการซื้อหน่วยลงทุน (หรือหุ้น) ด้วยเงินลงทุนที่เท่ากันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลงทุน 10,000 บาททุกเดือน เป็นต้น แต่กลยุทธ์ VA เป็นการควบคุมให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตการ ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
แนวคิดของ VA ได้แสดงไว้ในตารางข้างล่าง โดยสมมุติให้เราตั้งเป้าหมายไว้ในใจล่วงหน้าว่า จะลงทุนโดยให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตเพิ่มขึ้นเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นในเดือนแรก เราเริ่มซื้อหน่วยลงทุนที่มีราคา 10 บาทต่อหน่วย โดยใช้เงิน 10,000 บาท ทำให้ซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 1,000 หน่วย
ในเดือนที่สองราคาหน่วยลงทุนได้ปรับตัวลดลงไปเป็น 9 บาท ซึ่งทำให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตลดลง เหลือเพียง 9,000 บาท (หน่วยละ 9 บาท จำนวน 1,000 หน่วย) แต่เนื่องจากในเดือนที่สอง มูลค่าสุทธิที่ เราได้ตั้งเป้าไว้ควรจะเป็น 20,000 บาท ดังนั้น เราจึงต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 11,000 บาท (9,000 บาท+11,000 บาท= 20,000 บาท) ทำให้ซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 11,000 / 9 = 1,222 หน่วย (เข้า ทำนอง ราคายิ่งถูก ยิ่งซื้อมากขึ้น)
สำหรับในเดือนที่สาม ราคาหน่วยลงทุนเริ่มปรับตัวขึ้นไปเป็น 12 บาท ทำให้มูลค่าสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 26,664 บาท (หน่วยละ 12 บาท จำนวน 2,222หน่วย) และในเดือนที่ สามนี้มูลค่าสุทธิที่เราได้ตั้งเป้าไว้ควรจะเป็น 30,000 บาท ดังนั้น เราจึงใช้เงินลงทุนในเดือนนี้เพียง 3,336 บาท (ลดจำนวนเงินในการซื้อลง เมื่อราคาสูงขึ้น) ทำให้ซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 278 หน่วย
และสุดท้ายในเดือนที่สี่ ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะกระทิง ส่งผลให้ราคาหน่วยลงทุนดีดตัวขึ้นไปสูง ถึง 20 บาท ทำให้มูลค่าสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 บาท (หน่วยละ 20 บาท จำนวน 2,500 หน่วย) แต่ใน เดือนที่สี่มูลค่าสุทธิควรจะเป็น 40,000 บาท ดังนั้นในเดือนนี้ เราต้องขายหน่วยลงทุนมูลค่า 10,000 บาท ออกมาเพื่อปรับให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตไม่เกิน 40,000 ตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งนับเป็นการขายทำกำไร เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อราคาหน่วยลงทุนเริ่มร้อนแรงเกินไป
เมื่อสิ้นเดือนที่สี่ จำนวนหน่วยลงทุนสะสมที่ ได้คือ 2,000 หน่วย โดยใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 14,336 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 7.17 บาทต่อหน่วย ซึ่ง ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง หากเราทดลองใช้วิธี DCA โดยการซื้อเฉลี่ยทุกเดือนๆละ 10,000 บาท เมื่อสิ้นเดือนที่สี่ จำนวนหน่วยลงทุนสะสมที่ได้คือ 3,444 หน่วย โดยใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 40,000 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 11.61 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดที่ 20 บาท อยู่ 42 % แต่เมื่อ เปรียบเทียบกับการลงทุนแบบ VA แล้ว ถือว่าต้นทุนของการลงทุนแบบ DCA ยังสูงกว่าพอสมควร เนื่องจาก DCA เป็นการซื้ออย่างสม่ำเสมอแต่จะไม่มีการขายทำกำไร และเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นสู่ภาวะ ร้อนแรงจะ ทำให้ต้นทุนของการลงทุนแบบนี้ค่อยๆสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเราได้สะสมหน่วยลงทุน จำนวนหนึ่งในราคาต้นทุนที่สูงขึ้น (แทนที่จะขายทำกำไรออกไปบ้างบางส่วนในแบบ VA)
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ VA กับตลาดหลักทรัพย์ไทย ได้แสดงไว้ในกราฟดังรูปโดยได้รวบรวม ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ย้อนหลังประมาณ 6 ปี คือตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2544 จนถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 รวม 71 เดือน โดยสมมุติให้เราซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีราคาต่อหน่วย เท่ากับและเคลื่อนไหวไปตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) เพื่อทำการเปรียบเทียบต้นทุน เฉลี่ยระหว่างของการลงทุนแบบ DCA ซึ่งทำการซื้อหน่วยลงทุน 10,000 บาท ทุกวันทำการแรกของ เดือน กับการลงทุนแบบ VA ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตเพิ่มขึ้นเดือนละ 10,000 บาท โดยจะซื้อ (หรือขาย) หน่วยลงทุนทุกวันทำการแรกของเดือนเช่นเดียวกัน
กราฟรูปนี้ได้แสดงการเคลื่อนไหวของ SET Index เมื่อเทียบกับต้นทุนเฉลี่ยของการลงทุนทั้ง แบบ DCA และ VA จะเห็นได้ว่า ต้นทุนเฉลี่ยของการลงทุนทั้งสองแบบล้วนต่ำกว่าดัชนี SET Index อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเราลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยใช้ DCA พบว่าต้นทุนเฉลี่ยเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 71 อยู่ที่ 470.77 จุด ในขณะที่ดัชนี SET Index อยู่ที่ 730.87 จุด ในกรณีนี้ถ้าเราขายหน่วยลงทุนทั้งหมดก็จะได้ กำไรสุทธิ 55% แต่ถ้าเราลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยใช้ VA ก็จะมีต้นทุนเฉลี่ยเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 71 อยู่ที่ 404.76 จุด หากเทียบกับ SET Index ที่ 730.87 จุด แล้วเราจะได้กำไรสุทธิสูงถึง 81% ซึ่งจะเห็นได้จาก กราฟว่าต้นทุนเฉลี่ยของการลงทุนแบบ VA จะต่ำกว่าแบบ DCA ตามเหตุผลที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น
ข้อสังเกตที่สำคัญอีกจุดหนึ่งบนกราฟ จะเห็นได้ว่าในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัว เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเดือนที่ 30 ถึง 37 (ช่วงเดือน พฤษภาคม 2546- มกราคม 2547) ในทางตรงกัน ข้าม ต้นทุนของ VA ก็ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลจากการขายทำกำไรออกมาบางส่วน เมื่อมูลค่าของเงินลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ในตอนแรก ในขณะที่ต้นทุนของ DCA กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะได้ทำการซื้อหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือนโดยไม่สนใจภาวะตลาด ทำให้ เกิดความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อราคาหน่วยลงทุนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากตัวอย่างโดยสังเขปนี้ พบว่ากลยุทธ์ การลงทุนแบบ Value Averaging จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดต้นทุนของการลงทุนได้อย่างดี
จากคุณ :
EncodeO
- [
26 ก.พ. 50 14:29:43
]
|
|
|