Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    บทเรียนยุบ “กองทุน 3-4-5”

    โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล จาก www.manager.com

    ใครที่ยังไม่ซาบซึ้งกับวลีเตือนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” ให้ไปถามคนที่ซื้อหน่วยลงทุน “กองทุนเปิดอยุธยาเพิ่มค่า 3-4-5”
         
           เพราะเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนอยุธยา จำกัด หรือ AYF ได้ยกเลิกกองทุนข้างต้นแล้ว
         
           นับเป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” ที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
         
           สำหรับคนที่กระเป๋าไม่ใหญ่ ไม่ใช่เศรษฐี ก็ยิ่งรู้สึกสูญเสีย เมื่อความพยายามเก็บออมเงินจากการทำงานแล้วหาทางให้ “เงินออมไปสร้างรายได้” ในยามที่ดอกเบี้ยธนาคารน้อยนิดหรือเป็นขาลง ตอนนี้ได้รับรู้ว่าอัตราผลตอบแทนของเงินที่ลงทุนผ่านกองทุนนี้กลับกลายเป็นต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์เสียแล้ว
         
           ความจริงเมื่อตอนที่มีการโฆษณาและชักชวนให้ซื้อกองทุนนี้ด้วยการเสนอผลตอบแทนที่ใช้ตัวเลข 3-4-5 เมื่อกลางปี 2548 ในยุคผู้บริหารชุดก่อนนับว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกที่ “ยั่วใจ” ใจลูกค้าได้มาก ทั้งตัวเลขผลตอบแทน และยัง “ประกันเงินต้น” อีกด้วย
         
           มีผู้คน 1,154 รายที่ขนเงินมาซื้อกองทุนเปิดอยุธยา 3-4-5 จนเงินลงขันเป็นขนาดกองทุนได้ 1,390 ล้านบาท
         
           ลองคิดดูว่า ขณะที่ปีแรกของกองทุนนี้ดอกเบี้ยในตลาดเงินอยู่ในระดับ 2% กว่า แล้วกองทุนนี้ในสังกัด AJF ตอนปี 2548 เริ่มให้ที่ 3% แล้ว
         
           แต่พอเข้าปีที่ 2 ดอกเบี้ยในตลาดกลับขึ้นจนแซงหน้าอัตรา 4% ของกองทุนเปิดอยุธยา ลูกค้ากองทุนนี้ก็คงลุ้นรอปีที่ 3 ก็จะได้ 5% ซึ่งจะแซงหน้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินซึ่งพลิกเป็นขาลง
         
           แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น!
         
           ผู้บริหารบริษัทจัดการกองทุนอยุธยา จำกัด ยุคใหม่ที่เปลี่ยนอักษรย่อว่า AYF มีจดหมายไปแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งสรุปประเด็นสำคัญคือให้เลือกข้อใดใน 2 ข้อ
         
           1. ถ้ายืนยันจะถือ “กองทุนเปิดอยุธยาเพิ่มค่า 3-4-5” ต่อไป อัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติในปีที่ 2 และ 3 ที่ได้ผลตอบแทนตามลำดับ “ไม่น้อยกว่า 4% และ 5% ต่อปี” ของมูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่ผู้ถือหน่วยเริ่มลงทุนตามราคาที่ตราไว้ จะขอแก้อัตราผลตอบแทนเป็น “ไม่น้อยกว่า 2% ต่อปี”
         
           2. ให้ยกเลิก “กองทุนเปิดอยุธยาเพิ่มค่า 3-4-5” และดำเนินการชำระบัญชี โดยจะชำระค่าขายคืนเงินต้นที่ลงทุนภายในวันที่ 10 เมษายน 2550
         
           ผลปรากฏว่า มติเกินกว่าร้อยละ 50 เลือกข้อ 2 เป็นอันว่ากองทุนนี้ถูกยกเลิก
         
           กรณีนี้ผมเข้าใจเหตุผลของทางผู้บริหารชุดปัจจุบันดีว่า ที่ต้องจัดการเช่นนี้เพราะโดนกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิด
         
           ตอนเริ่มกองทุนนี้ของผู้บริหารชุดก่อนได้นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน 4 ราย ที่ถูกประเมินว่ามีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารในระดับที่ดีตามกฎกติกาได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (A) บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (A-) บริษัท ไพรมัส ลิสซิ่ง (A+) และทรู มัลติมีเดีย (BBB)
         
           แต่พอมาถึงปลายปี 2548 ต่อเนื่องถึง 2549 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผู้บริหารของ AYF ก็เจอเข้ากับแนวโน้มการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ที่แย่ลงทั้งไพรมัส ลิสซิ่ง และทรู มัลติมีเดีย
         
           แน่นอนผู้บริหารและทีมงานบริหารเงินลงทุนของ AYF ก็ต้องหาทางขายตราสารหนี้ 2 ตัวที่ถูกลดความน่าเชื่อถือออกไป โดยที่ทรู มัลติมีเดีย รับซื้อคืนหุ้นกู้ไปในราคาพาร์ เงินส่วนนี้ถูกนำไปลงทุนในหุ้นกู้การบินไทย (AA-)
         
           ส่วนไพรมัส ลิสซิ่ง และบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต บริษัทแม่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต่างถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จนปัจจุบันอยู่ที่ BB+ ซึ่งต่ำกว่าระดับลงทุนได้จนต้องยอมขายตราสารหนี้รายนี้ให้กับเฮดจ์ฟันในต่างประเทศแบบลดราคา
         
           ดูจากการดิ้นรนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารเงินลงทุนก็แสดงว่า ผู้บริหาร AYF ก็ได้พยายามทำในสิ่งที่ไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ และอย่างน้อยก็ต้อง “คุ้มครองเงินต้น” ให้ลูกค้า
         
           การที่ AYF เสนอทางเลือก 1. ถ้าจะ “ทำต่อ” ก็ให้ผลตอบแทนแค่ 2% เพราะรู้อยู่ว่าการปล่อยตราสารหนี้ระดับเกรดต่ำออกไปในราคายอมขาดทุน เงินที่ได้มาไม่มีทางจะสร้างผลตอบแทนปีที่ 3 ระดับ 5% ได้แน่
         
           แต่สำหรับผู้ซื้อกองทุนซึ่งผมได้รับคำร้องเรียนหลายรายว่ารู้สึกผิดหวังที่เจอผลเช่นนี้ และถามว่าลูกค้าจะต้องรับผิดชอบด้วยการไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่โฆษณา แล้ว AYF รับผิดชอบอะไรบ้าง?
         
           ปรากฏการณ์เกิดขึ้นครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ผู้ลงทุนจะได้เรียนรู้ว่า “ความเสี่ยง” มีอยู่เป็นสัจธรรม แม้แต่กองทุนตราสารหนี้ที่มีคำมั่นสัญญาในการสร้างผลตอบแทนที่ชัดเจนกว่ากองทุนตราสารทุนที่เอาไปลงทุนในตลาดหุ้น แต่ก็ควรศึกษาข้อมูลหนังสือชี้ชวนหรือซักคนชวนซื้อกองทุนให้ละเอียด
         
           โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับ “ผลตอบแทน” จะเคียงคู่มากับ “ความเสี่ยง” ด้วย
         
           สำหรับผู้บริหารกองทุนแม้ทำตามกฎกติกา และทำแบบมืออาชีพแล้วก็ตาม แต่จำเป็นต้อง “กระทำ” และสื่อสารความเข้าใจว่าได้แสดงความรับผิดชอบต่อ “ลูกค้า” และแสดงความจริงใจให้ประจักษ์ขนาดไหน ก็จะช่วยให้ลูกค้า แม้จะรู้สึก “เสียหาย” ก็ยังไม่ “เสียความรู้สึก” จนเลิกคบค้า

    เห็นถามกันหลายคนว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็เลย copy มาให้อ่านกันครับ หรือถ้าจะอ่านต้นฉบับ ก็ตาม Link

    http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000040467

    จากคุณ : ผู้เฒ่าสายลม - [ 8 เม.ย. 50 21:00:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom