เฉลี่ยต้นทุนอย่างเหนือชั้น
สรวิศ อิ่มบำรุง
การลงทุนในตราสารที่มีความ "ผันผวน" ของราคาสูง เช่น หุ้น ,หน่วยลงทุนของกองทุนหุ้น(Equity Fund) ,หน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(Long Term Equity Fund : LTF) ,หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในหุ้น(Retirement Mutual Fund : RMF) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดัชนีตลาดหุ้น(Index Fund)
แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าซื้อตอนไหนดี จะใช้เงินลงทุนที่เตรียมไว้ทั้งก้อนเข้าไปซื้อ "ครั้งเดียว" หมด ก็กลัวว่าจะเข้าซื้อผิดจังหวะ ซึ่งอาจจะเสี่ยงเกินไป
คุณเองก็สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ด้วยการเข้า "ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ" ในการเข้าซื้อแต่ละครั้งอาจจะซื้อถูกจังหวะบ้าง ผิดจังหวะบ้าง แต่ในที่สุดต้นทุนในการลงทุนก็จะเฉลี่ยกันไป ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมี "ต้นทุน" ในการลงทุนโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าการเข้าลงทุนเพียงครั้งเดียว
Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวของเทคนิคการลงทุน เพื่อช่วยให้คุณสามารถเฉลี่ยต้นทุนอย่างเหนือชั้นมาฝากกัน
................................
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องราวของการบริหารต้นทุนอย่างเหนือชั้น "วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่า ผู้ลงทุนจะต้องมีการวางแผนทางการเงิน มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตซึ่งอาจจะเป็นเป้าหมายเพื่อที่ตัวเองจะได้เกษียณเร็ว เกษียณรวยแล้วจึงมองหาเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายในชีวิตนั้นได้
จากนั้นจึงค่อยมาถึงการนำเทคนิคในการเฉลี่ยต้นทุนเหล่านี้มาใช้ เพื่อตอบโจทย์ในการลงทุนของตัวเอง สมมติคุณอยากมีเงิน 20 ล้านบาท ตอนที่เกษียณอายุ เพื่อคำนวณหาเงินลงทุนต่องวดตลอดระยะเวลาการลงทุน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางเอาไว้
การออมที่สม่ำเสมอผ่านระยะเวลาผ่านผลตอบแทน จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายในการลงทุนระยะยาวได้ แต่หลายคนบอกว่าจะไปหาผลตอบแทน 10% จากไหน ฝากแบงก์ได้แค่ 3% แน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยง ดังนั้นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นก็ควรจะมีความเชื่อหรือมั่นใจ ว่าในระยะยาวราคาหุ้นในตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีความเชื่อเช่นนี้ก็ควรจะเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนประเภทอื่นๆ แทน
"แต่โดยเฉลี่ยในระยะยาวต่อปี ถ้าคุณสามารถลงทุนในหุ้นได้ 10 ปีขึ้นไป เฉลี่ยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-12% ต่อปี ถ้าคุณมองเห็นสิ่งนี้ ก็น่าจะมีกำลังใจที่จะเก็บออมหรือลงทุนผ่านตลาดหุ้น เพื่อเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ตรงนั้นจึงจะนำมาสู่เรื่องของการบริหารต้นทุนเพื่อให้การลงทุนในหุ้นระยะยาวของคุณมีต้นทุนที่ต่ำเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่านั่นเอง"
@รู้จักลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน
วรวรรณบอกว่า หนึ่งในวิธีการลงทุนในหุ้นเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คือ วิธีของ "Dollar Cost Averaging" เป็นวิธีการลงทุนเพื่อเฉลี่ยต้นทุนโดยนักลงทุนจะต้องมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นช่วงๆ ต้องมีวินัยในการลงทุน และต้องตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป
ตัวอย่างเช่น นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนมาหนึ่งก้อน เพื่อลงทุนในกองทุนหุ้นแล้ววางแผนจะถือไว้ยาวประมาณ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี โดยจะทยอยซื้อลงทุนเดือนละครั้ง ทุกๆ เดือน ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันในแต่ละครั้ง เช่น เดือนละ 2,000 บาท
ด้วยวิธีการของ Dollar Cost Average นักลงทุนจะต้องซื้ออย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินลงทุนที่เท่ากันทุกๆ เดือน ไม่ว่าภาวะของตลาดหุ้นในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร จะทำให้ตอนที่ราคาหุ้นถูก เราจะได้หน่วยลงทุนจำนวนมากขึ้น และในตอนที่ราคาหุ้นสูง เราจะได้จำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง เมื่อเฉลี่ยๆ แล้วต้นทุนก็จะอยู่ในระดับกลางๆ แต่จะต่ำกว่าราคาตลาดโดยรวม
"ห้ามซื้อเกินเมื่อเกิดความรู้สึกฮึกเหิม และห้ามกลัวเมื่อเห็นตลาดหุ้นตกต่ำย่ำแย่ การมีวินัยในการลงทุนเช่นนี้จะช่วยตัดความเสี่ยงที่เกิดจากความอ่อนไหวของอารมณ์นักลงทุนที่แปรปรวนไปตามกระแสในตลาด และหากในระยะยาวตามแผนการลงทุนที่กำหนดไว้ราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น ผู้ลงทุนก็กำไรแน่นอน แต่หากตลาดลงก็อาจจะขาดทุนได้เช่นเดียวกัน ถ้าต้นทุนเฉลี่ยของเราที่ทยอยสะสมมาสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น แต่จากสถิติระยะยาว การทยอยซื้ออย่างสม่ำเสมอแบบ Dollar Cost Averaging นี้ นักลงทุนจะได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งเป็นผลดีต่อนักลงทุนในการลงทุนระยะยาวอย่างแน่นอน"
@ตัวอย่างการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging
นาย A ลงทุนผ่านกองทุนหุ้นด้วยเทคนิค Dollar Cost Averaging ด้วยเงินลงทุนที่เท่ากันทุกๆ งวด งวดละ 10,000 บาท ในงวดแรกที่ลงทุนหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาท นาย A จะซื้อหน่วยลงทุนได้ทั้งหมด 1,000 หน่วย ทำให้นาย A มีหน่วยลงทุนในพอร์ตเท่ากับ 1,000 หน่วย(=10,000/1,000) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนเท่ากับ 10,000 บาท
ในงวดที่ 2 ราคาหน่วยลงทุนลดลงมาเหลือ 8 บาท นาย A ใช้เงินลงทุนเท่าเดิมคือ 10,000 บาท แต่ราคาหน่วยลงทุนถูกลง ทำให้นาย A ซื้อหน่วยลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,250 หน่วย(=10,000/8) ทำให้หน่วยลงทุนในพอร์ตของนาย A เพิ่มขึ้นเป็น 2,250 หน่วย(=1,000+1,250) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนเท่ากับ 18,000 บาท(=2,250*8)
งวดที่ 3 ราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 12.50 บาท นาย A ใช้เงินลงทุนเท่าเดิม คือ 10,000 บาท แต่ราคาหน่วยลงทุนแพงขึ้น ทำให้นาย A ซื้อหน่วยลงทุนได้เป็นจำนวนที่น้อยลงคือ 800 หน่วย(=10,000/12.5) ทำให้หน่วยลงทุนในพอร์ตของนาย A เพิ่มขึ้นเป็น 3,050 หน่วย(=2,250+800) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนเท่ากับ 38,125 บาท(=3,050*12.5)
"ด้วยวิธี Dollar Cost Averaging นาย A ใช้เงินลงทุนรวม 30,000 บาท ได้หน่วยลงทุนมา 3,050 หน่วย คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 9.84 บาท จะเห็นว่าการลงทุนด้วยวิธี Dollar Cost Averaging จะเป็นการสะสมการลงทุนต่อเนื่องเป็นงวดๆ ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง จำนวนหุ้นหรือจำนวนหน่วยลงทุนในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นทุกๆ งวด โดยผู้ลงทุนจะรับรู้กำไรจากการลงทุนวิธีนี้จะต้องเลือกจังหวะเวลาในการขายออกเพื่อทำกำไรเมื่อเราพอใจในกำไรที่ทำได้"
โดย วรวรรณ บอกว่า วิธีการของ Dollar Cost Averaging เป็นการใช้เงินจำนวนที่เท่ากันเข้าลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นวิธีการที่อยากจะแนะนำให้กับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีความชำนาญใช้ประโยชน์จากวิธีการนี้ โดยอาศัยความสม่ำเสมอในการลงทุนเป็นหัวใจในการเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลงเป็นสำคัญ ซึ่งการลงทุนอย่างสม่ำเสมอยังช่วยสร้าง "วินัยในการลงทุน" ที่ดีให้กับผู้ลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้น Dollar Cost Avearaging จึงเหมาะสมกับคนที่เริ่มรู้จักออมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนชีวิตล่วงหน้าได้ดีพอสมควร แล้วไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวายว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือตลาดหุ้นจะตก เราไม่สนใจ เพราะเป็นวิธีการออมและลงทุนทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ
จากคุณ :
หมูอวบ
- [
23 เม.ย. 50 10:09:45
]