Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    นักวิชาการชี้คำวินิจฉัยคดียุบพรรคเข้าข่ายนิติธรรมอำพราง

    นักวิชาการชี้คำวินิจฉัยคดียุบพรรคเข้าข่ายนิติธรรมอำพราง
    13:50 น.

    นักวิชาการด้านสังคมวิทยาฯ วิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคการเมือง โดยเป็นห่วงวิธีวินิจฉัยที่ใช้วิธีการรับฟังหรือเชื่อได้ว่าของพยานบุคคล ที่ไม่สืบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่มาตัดสิน ย้ำเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับแนวปฏิบัติตามหลัก “นิติธรรม” อาจเข้าข่ายนิติธรรมอำพราง ส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองไทย

    กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีนายจรัญ ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานกลุ่มฯ จัดเสวนาทางวิชาการวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคการเมือง โดยนายวรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอรายงานการค้นคว้าเรื่อง “นิติธรรมอำพรางกรณีศึกษาวิเคราะห์คำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญ 30 พ.ค.2550” ระบุว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อสถานภาพองค์กรการเมืองจำนวนมาก ไม่เพียงเฉพาะ 5 พรรคการเมือง แต่ยังส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อสถานการณ์การเมืองที่ปรากฏความเห็นแตกต่าง ขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และความเห็นที่แตกต่างสำคัญประการหนึ่งมีความเกี่ยวข้องมาจากสาระสำคัญของการทำคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

    นายวรพล ได้ศึกษาวิเคราะห์คำวินิจฉัย โดยรวบรวมจากบันทึกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและออกแบบพัฒนาตรรกวิธีการวิเคราะห์ เพื่อค้นคว้าหาข้อสรุปว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยด้วยวิธีคิดกระบวนวิธีพิจารณาและวิธีทำคำวินิจฉัยที่สมเหตุสมผลอย่างไร มีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับหลักความสมเหตุสมผลทางนิติธรรมอย่างไร

    นายวรพล ระบุผลวิเคราะห์โดยสรุปว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการฯ ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนวิธีพิจารณาและการใช้เหตุผลชุดต่าง ๆ จัดเรียงลำดับให้เห็นเป็นความสมเหตุสมผลทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง สาระสำคัญของคำวินิจฉัยกรณีพรรคประชาธิปัตย์ คือ การสรุปความสุจริตของพรรคดังกล่าว ทั้งที่พยานหลักฐานที่ถูกนำมากล่าวอ้างชี้แจงแก้ตัวเป็นเพียงการยกคำกล่าวอ้างของบุคคลอื่นที่ไม่มีการพิสูจน์ ทั้งยังมีข้อบกพร่องเพียงพอให้ต้องตรวจสอบต่อไป แต่กลับไม่ได้รับความสนใจนำเข้าสู่กระบวนวิธีพิจารณาตรวจสอบพิสูจน์อย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย เนื่องจากคณะตุลาการฯ ให้รับฟังพยานเหล่านั้นได้ เสมือนเป็นความจริง ดังระบุว่า “ฟังได้ว่า” หรือ “เชื่อว่า” พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา ดังนั้น คำวินิจฉัยกรณีพรรคประชาธิปัตย์ แม้อาจกล่าวไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยปล่อยผู้ผิดให้เป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ต้องรับโทษ แต่เป็นการด่วนวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาสุจริต ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์สาระสำคัญของการกระทำว่าเป็นความผิดหรือไม่

    ส่วนกรณีคำวินิจฉัยของพรรคไทยรักไทย คือ การสรุปความผิดและลงโทษ บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พิสูจน์แน่ชัดเพียงพอว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริง ดังการกล่าวอ้างว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ว่าจ้าง สนับสนุนเจ้าหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และแกนนำพรรคการเมืองเล็กให้ส่งผู้สมัครที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วัน ลงสมัครเลือกตั้ง แต่ได้นำเอาความ “เชื่อว่า” หรือ “ฟังได้ว่า” พรรคไทยรักไทยกระทำผิดมาเชื่อมโยงเชิงตรรกะกับข้อกฎหมายที่มีลักษณะการลงโทษย้อนหลัง การวินิจฉัยลงโทษดังกล่าวที่อาศัยเนื้อหาคำให้การจากพยานบุคคลที่ให้ถ้อยคำต่อแกนนำพรรคประชาธิปัตย์มาใช้กล่าวหา มีปัญหาทั้งด้านที่มา และเนื้อหาสาระที่มีข้อพิรุธจำนวนมาก ซึ่งหากตรวจสอบจริงจังจะทำให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นพยานหลักฐานจริงหรือเท็จเพียงใด

    นายวรพล สรุปว่า จากเหตุผลการวิเคราะห์ดังกล่าว เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับแนวปฏิบัติตามหลัก “นิติธรรม” และคณะตุลาการฯ ยังกระทำการอันอาจขัดแย้งกับหลักนิติธรรมซ้ำซ้อน ด้วยการตัดสินลงโทษผู้ที่เห็นว่ามีความผิด โดยการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะการวินิจฉัยให้ผู้ที่พิสูจน์ได้ว่ามีความผิดต้องรับผิดและได้รับการลงโทษตามควรแก่เหตุ ถือเป็นแนวปฏิบัติของตุลาการฯ ที่มีภาวะนิติธรรมที่เป็นธรรมและชอบธรรม แต่การวินิจฉัยให้ผู้บริสุทธิ์ต้องมีความผิดและได้รับการลงโทษ คือ ความเป็นอธรรมและไม่ชอบธรรม

    อย่างไรก็ตาม นายวรพล ระบุในตอนท้ายของบทวิเคราะห์ โดยคาดหวังว่า ผลงานทางวิชาการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เพื่อให้ความสนใจต่อวิธีวิเคราะห์ทางวิชาการมากกว่าวาทกรรมการเมือง โดยเฉพาะแวดวงตุลาการที่มีงานสำคัญเกี่ยวข้องกับการพิจารณาชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานบุคคลและวัตถุพยานต่าง ๆ ในการใช้ความละเอียดถี่ถ้วนพิจารณาประเด็นข้อถกเถียงโต้แย้งหรือข้อพิพาทระหว่างบุคคลและองค์กร เพื่อให้ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานความจริงและสติปัญญามากกว่า ความมีอคติลำเอียง ซึ่งจะช่วยลดทอนปัญหาขัดแย้งรุนแรงจากการถกเถียงต่าง ๆ ของสังคมและการเมืองไทย

    http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=264578&lang=T

    จากคุณ : devil amature2 - [ 15 มิ.ย. 50 17:03:51 A:58.181.182.32 X: TicketID:139465 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom