ความคิดเห็นที่ 2
จำกัดความเสี่ยง (2) Value Way วิบูลย์ พึงประเสริฐ 1 มิถุนายน 2550
บทความที่แล้วได้กล่าวถึงการจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยการลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาหุ้นให้เป็นไปตามดัชนีตลาดหุ้น
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถทำให้ความเสี่ยงที่มีนั้นหมดไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า ความเสี่ยงจากการลงทุนนั้นไม่สามารถกำจัดได้ แต่เราสามารถจำกัดได้ อาทิตย์นี้จะกล่าวถึงวิธีการในการจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนอีกหนึ่งวิธี
ในทางทฤษฎีการลงทุนมักกล่าวถึงความเสี่ยงว่าเป็นเรื่องของราคาหุ้นที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอดเวลาของการซื้อขาย ถ้าหุ้นนั้นมีนักลงทุนขายออกมามาก ราคาหุ้นจะลดลง ในทางกลับกันถ้าหุ้นนั้นมีคนซื้อมาก ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น การเข้าซื้อหุ้นของนักลงทุนในตลาดหุ้นมักเรียกกันว่า แรงซื้อ ส่วนการขายเรียกกันว่า แรงขาย
ในเวลาปกติ ถ้าแรงซื้อมากกว่าแรงขาย หุ้นจะขึ้น แต่ถ้าแรงขายมากกว่าแรงซื้อ หุ้นนั้นจะมีราคาลดลง นักเก็งกำไรในตลาดหุ้นได้ใช้หลักการของแรงซื้อ และ แรงขายในการจำกัดความเสี่ยงในการลงทุน
นักเก็งกำไรมักมองเทรนด์หรือแนวโน้มของตลาดหุ้นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเมื่อใดที่แนวโน้มหุ้นเป็นขาขึ้น เนื่องจากมีแรงซื้อเข้ามามาก นักเก็งกำไรจะทำการซื้อหุ้น และถือไว้ตราบที่แนวโน้มตลาดยังเป็นขาขึ้นอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ตลาดเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลงแล้ว นักเก็งกำไรจะขายหุ้นที่ถืออยู่และออกจากตลาดไปชั่วคราว
กลยุทธในการลงทุนเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากพอสมควร โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ เพราะการมองแนวโน้มของหุ้นนั้นจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์อย่างมาก บางครั้งนักลงทุนคิดว่าแนวโน้มหุ้นเริ่มเป็นขาลงแล้วจึงขายหุ้นออกไป แต่เมื่อขายไปแล้ว ราคาหุ้นกลับยังปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในตลาดหุ้นเรียกอาการนี้ว่าเป็นการขายหมู ขายหุ้นทีไร หุ้นกลับวิ่งทุกที
เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวตลาดคงปรับตัวลดลงและราคาหุ้นคงลดลงกลับมาที่เดิมใหม่ แต่ในความเป็นจริงบางครั้ง ราคาหุ้นไม่ลดลงอย่างที่นักลงทุนคิด แถมปรับตัวขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนเมื่อถึงระยะหนึ่ง นักลงทุนกลัวว่าตนเองจะตกรถไฟจึงกลับไปซื้อหุ้นอีกครั้ง แต่ไม่ทันไร ราคาหุ้นกลับลดลง จนทำให้ขาดทุนได้
เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับตลาดหุ้นทั่วโลกมาโดยตลอด มีเรื่องเล่าว่า ในปี ค.ศ. 1720 เซอร์ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่งของโลกในยุคนั้น ถือหุ้นของบริษัทเซาส์ซี (South Sea Company) ซึ่งเป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในอังกฤษ นิวตันได้ตัดสินใจขายหุ้นบริษัทนี้ออกไปโดยได้กำไรถึง 100 เปอร์เซนต์รวมเป็นเงิน 7,000 ปอนด์ อย่างไรก็ตามในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อนิวตันถูกครอบงำโดยความกระตือรือร้นแบบสุดขั้วของตลาดหุ้น เขากลับเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเซาท์ซีอีกครั้ง ในระดับราคาที่สูงกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลให้เขาต้องขาดทุนมากกว่า 20,000 ปอนด์ (คิดเป็นเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ เขาจะห้ามไม่ให้ใครพูดว่า เซาส์ซี ให้เขาได้ยิน
จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าการขาดทุนจากตลาดหุ้นถือว่าเป็นเรื่องปกติของนักลงทุน ดังนั้นการมีประสบการณ์ในการมองแนวโน้มหุ้นให้ถูกต้องถือว่าเป็นการจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนวิธีหนึ่งโดยเฉพาะนักเก็งกำไร
จากคุณ :
คนเมล่อ
- [
17 มิ.ย. 50 15:37:11
]
|
|
|