 |
"หนี้บัตรเครดิต" วัฒนธรรมใหม่ ถลุงเงินอนาคต "
เอามาให้อ่านกันเล่นๆค่ะ (ป.ล.ข้อมูลอาจจะเก่าไปหน่อย แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในปัจจุบันได้อยู่ค่ะ โดยในส่วนตัวแล้วก็ได้แต่เป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติเวลาเห็นคนเป้นหนี้บัตรเครดิตมากๆ แต่ก็คงจะทำอะไรไม่ได้ เพราะสิทธิในการใช้เงินเป็นสิทธิส่วนบุคคลค่ะ) "หนี้บัตรเครดิต" วัฒนธรรมใหม่ ถลุงเงินอนาคต
กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา "พอล ครุกแมน" กูรูใหญ่ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้สะท้อนมุมมองต่อสังคมไทยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเวลานี้คือหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้บัตรเครดิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปรารภต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯรัฐบาลไปหามาตรฐานในการควบคุมบัตรเครดิตที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 7 ล้านใบ
การส่งสัญญาณของนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำของประเทศเกี่ยวกับ "หนี้" ของคนไทยรอบนี้ ย่อมไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอย่างน่าสนใจ
"ในช่วงที่ผ่านมา มีคนถามผมตลอดเวลาว่าเศรษฐกิจน่าเป็นห่วงจริงหรือเปล่า ? ฟองสบู่จะแตกไหม ?
และสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้และได้สัมผัสตลอดเวลาคือ เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นน้อยมาก ใน ขณะที่สินค้ามีราคาแพงขึ้น หนี้สินจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อนๆ หันไปใช้บัตรเครดิตกันเยอะมาก
เวลาไปรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจกับหอการค้าไทย คณะกรรมการมักจะถามเสมอว่าหนี้บัตรเครดิตเป็นอย่างไรบ้าง ลูกน้องผมถูกทวงหนี้ทุกวัน มีคนงานลาออกเนื่องจากเป็นหนี้บัตรเครดิตเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 คน"
ทั้งหมดคือสภาพปัญหาหนี้บัตรเครดิต ที่สะท้อนผ่านคำพูดของคนที่อยู่รอบๆ ตัวผู้ อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าฯ ทำให้ต้องทำวิจัยเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
และท้ายที่สุดก็พบว่า หนี้บัตรเครดิตนั้นน่าห่วงกว่าหนี้ภาคครัวเรือนอยู่มาก
ดร.ธนวรรธน์บอกว่า จากงานวิจัยในช่วงที่ผ่านมา และการเก็บตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเห็นว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 31,387 บาทต่อครัวเรือน หรือ 3.80 เท่าของรายได้ในปี 2537 เป็น 203,940 บาทต่อครัวเรือน หรือ 7.11 เท่าในปี 2547 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้นก็ยังไม่ค่อยน่าห่วงมากนัก เพราะส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคและการซื้อทรัพย์สิน
แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดในสายตาของ ดร.ธนวรรธน์ คือ สถานการณ์หนี้บัตรเครดิตของคน ไทยที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ออกบัตรเครดิตต่างเร่งหาลูกค้าบัตรเครดิตเพื่อทำยอดที่ได้รับมอบหมายมาจากส่วนกลาง ส่งผลให้ปัจจุบันจำนวนบัตรเครดิตมีสูงถึง 8,648,100 ใบ
แบ่งเป็นบัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นผู้ออก จำนวน 3,163,600 ใบ บัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นผู้ออก จำนวน 965,434 ใบ และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จำนวน 4,519,066 ใบ
จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด ในปี 2548 พบว่า ผู้ที่ถือครองบัตรเครดิตต่อรายลดลงจากปี 2547 ระดับ NPL ของบัตรเครดิตในปี 2545-2547 ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก อยู่ที่ร้อยละ 4.0-3.4 และ 2.9 ของหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด
แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การถือครองบัตรเครดิตต่อบุคคลในปี 2547-2548
พบว่าจำนวนบัตรโดยเฉลี่ยในการถือของประชาชนลดลง โดยปี 2547 ตัวเลขอยูที่ 4.2 ใบ ต่อคน และในปี 2548 ตัวเลขลดลงเหลือเพียง 2.8 ใบต่อคน
ส่วนใหญ่คนไทยจะถือครองบัตรเครดิตประมาณ 1-3 ใบต่อคน สูงสุดคือ 21 ใบ/คน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจำนวนบัตรเครดิตที่ถือโดยเฉลี่ยต่อคนนั้นจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือการใช้บัตรเครดิตที่มีการใช้ในลักษณะการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นใน***ส่วนที่มากขึ้น จากร้อยละ 18.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 32.4 ในปี 2548
สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมในการใช้บัตรเครดิตเพื่อการก่อหนี้มากยิ่งขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระดับรายได้ของผู้ถือบัตรเครดิตที่น้อยกว่า 30,000 บาท จะมีโอกาสในการเกิดหนี้บัตรเครดิตได้สูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง
นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าฯยังได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใกล้ชิดกับผู้ใช้บัตรเครดิตอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่าภาระหนี้ของผู้ถือบัตรเครดิตมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
และเมื่อถามถึงสถานการณ์หนี้บัตรเครดิต และหนี้ครัวเรือนน่าเป็นห่วงเพียงใด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้ครัว เรือนของไทยน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในอนาคต 3 ปีข้างหน้า
โดยสรุปหนี้บัตรเครดิตเป็นสถานการณ์ที่กลุ่มตัวอย่างมีความกังวล และวิตกว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต
แต่ถึงกระนั้นยังไม่มีข้อมูลใดที่ชี้ชัดว่า ปัญหาหนี้บัตรเครดิตจะก่อให้เกิด NPL เพิ่มมากขึ้น และเป็นปัญหามากต่อระบบการเงินโดยรวม
จากคุณ :
takihikari
- [
วันเข้าพรรษา 18:24:32
]
|
|
|
|
|