Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ++++++ วิกฤติระลอกใหม่มาแล้ว ++++++

    ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯที่เกิดจาก “ซับไพร์ม” หรือ “สินเชื่อบ้านคุณภาพต่ำ” จากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ วันนี้ได้ส่งผลกระทบหลายระลอกไปยัง “ระบบการเงิน-ตลาดหุ้น-เศรษฐกิจ” ทั่วโลก รวมทั้ง “ไทย” ด้วย


    ยังไม่มีใครรู้ “คลื่นยักษ์” ระลอกสุดท้ายจะมาเมื่อไร และจะจบลงอย่างไร




    ข้อมูลที่ผมคิดว่าถูกต้องที่สุดก็คือ “คำเตือน” ของรัฐมนตรีคลัง ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ที่ออกมาเตือนให้คนไทยเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก “วิกฤติซับไพร์ม” อย่างตรงไปตรงมา



    เช่น การบริโภคในประเทศจะหดตัวลงจากราคาหุ้นที่ตกต่ำ



    การส่งออกก็จะชะลอลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีปัญหา ทำให้ ความต้องการบริโภคลดลง เป็นต้น



    นี่คือ สัญญาณอันตรายระลอกแรก




    สัญญาณอันตรายระลอกที่สอง ดร.ฉลองภพ เตือนว่า ยังมีความผันผวนของตลาดเงิน ที่จะเกิดจากภาวะตลาดหุ้นดีดกลับ



    เมื่อดัชนีราคาหุ้นไทยลดลงไปมาก จนถึงระดับที่นักลงทุนต่างชาติเห็นว่า ราคาหุ้นถูกมากแล้ว ก็อาจจะนำเงินเข้ามาซื้อหุ้นไทยใหม่อีกระลอก




    อาจเกิดภาวะเงินไหลบ่ากลับจนท่วมตลาดอีกก็ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “ค่าเงินบาท” อีกครั้ง



    รัฐมนตรีคลังได้เตือนแบงก์ชาติด้วยว่า จะต้องเตรียมพร้อมในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้เกิดความผันผวน




    ต้องมีแผนรองรับในกรณีที่เงินทุนไหลออกช่วงนี้ อาจไหลกลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทได้



    นี่คือ คลื่นใหญ่ หรือคลื่นยักษ์สึนามิ จากการระเบิดของฟองสบู่ สินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯ



    ที่ยังมาไม่ถึงประเทศไทยในตอนนี้




    ประเด็นที่ผมรู้สึกสังหรณ์ใจก็คือ

    ทำไมธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ไม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา สวิส ออสเตรเลีย ฯลฯ



    ต่างก็อัดฉีดเงินก้อนใหญ่มหาศาลสู่ระบบการเงินในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมารวมกันร่วม 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ



    สภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลกกำลังเหือดหายหรือ


    ไม่มีใครรู้ “สินเชื่อซับไพร์มสหรัฐฯ” ที่ถูกนำมาทำเป็น “ตราสารหนี้ทางการเงิน” แล้วนำออกขายต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยทอดในตลาดเงินทั่วโลก



    มีจำนวนเงินเท่าไร เบื้องต้น นายเบน เบอร์นาเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯคาดว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์



    แล้วทำไมธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจเหล่านี้ อัดฉีดเงินลงไปร่วม 400,000 ล้านบาทแล้ว ก็ยังเอาไม่อยู่



    ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารลงร้อยละ 0.5



    และอัดฉีดเงินเข้าไปอีก 6,000 ล้านดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ รวมแล้วกว่า 94,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะทำให้ดัชนีราคาหุ้นทั่วโลกกระเตื้องขึ้น



    แต่กระเตื้องขึ้นในแง่จิตวิทยาเท่านั้น เพราะปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำซับไพร์มทั้งหมดก็ยังคงอยู่



    ที่น่ากลัวก็คือ “คลื่นยักษ์” ที่ “กำลังก่อตัว” จากการแตกของฟองสบู่ยักษ์สหรัฐฯครั้งนี้ ยังไม่รู้ว่ามันจะพุ่งเข้ากระทบฝั่งเมื่อไร จะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจโลกมากมายแค่ไหน



    เมื่อถึงเวลานั้นเราจึงจะรู้ว่าคลื่นยักษ์ระลอกสุดท้ายนี้มีความรุนแรงแค่ไหน



    นี่คือ ผลพวงจากการโลกาภิวัตน์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราเปิดประเทศเสรี เราก็ต้องพร้อมที่จะรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะรับมือกับผลกระทบได้แค่ไหน




    เตรียมพร้อมได้แล้วครับ ผมเตือนคุณแล้วนะ.



    http://www.thairath.co.th/news.php?section=society03&content=58030

    จาก นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 20 สิงหาคม 2550

    จากคุณ : Learn and Live - [ 20 ส.ค. 50 12:34:55 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom