|
-- ดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโต ในหุ้นของคุณ (อีกครั้ง) --
..
ผมเข้าไปดูกระทู้ส่งการบ้านของชาว DSMers เป็นประจำครับ
แต่การนำมาแสดงผลลัพธ์หลังจากดำเนินการมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง แต่ละคนมีวิธีนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป
บางคนเปรียบเทียบให้ดูในหุ้นแต่ละตัว มีเงินเหลือในหุ้นตัวนั้นเท่าไหร่ มีเงินสดแฝงเท่าไหร่
ส่วนบางคนก็อาจจะนำเสนอไปอีกแบบหนึ่ง โดยเน้นการแสดงเงินสดแฝงที่ได้มา
แต่ผมกำลังจะบอกท่านว่า เงินสดแฝงที่ได้มานั้น ยังไม่ใช่ดัชนีที่ใช้วัดความเติบโตได้จริง
เพราะเงินสดแฝงอาจอยู่ในรูปแบบ แบบนี้ก็ได้
เช่น คุณ ซื้อหุ้น A มาในราคา 4 บาท จำนวน 100000 หุ้น คุณขายไปที่ราคา 3.90 จำนวน 10000 หุ้น และซื้อคืนได้ที่ราคา 3.80 จำนวน 10000 หุ้น
แล้วคุณก็ลงบัญชีว่ามีเงินแฝง = 0.1*10000 หุ้น = 1000 บาท
แต่เมื่อหุ้นยังลงต่อไปอีก คุณก็ได้ทยอยขายซ้ำไปอีกครั้ง
บางครั้ง คุณขายไป แต่คุณซื้อคืนไม่ได้ เพราะหุ้นกลับตัวราคาสูงขึ้นไปทันที
เงินสดแฝงที่คุณได้รับคือ 1000 บาท ก็จริงอยู่ แต่จำนวนหุ้นของคุณลดลง ในขณะที่ราคากลับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คุณซื้อคืนไม่ได้ซักที (อาจจะต้องรอเป็นปีๆ กว่าจะได้ซื้อคืน)
เพราะฉะนั้น เงินสดแฝงส่วนนี้ จึงอาจเป็นภาพลวงตาก็เป็นได้ จนกว่าคุณจะซื้อหุ้นส่วนที่ขายไปนี้กลับมาได้ เมื่อนั้นเงินสดแฝงจึงจะชี้วัดได้อย่างถูกต้อง
ผมอาจจะอธิบายให้คุณเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก
ที่จะบอกก็คือ การนำเสนอของแต่ละท่าน ก็เป็นไปตามแนวทางของตัวเอง ซึ่งคนอื่นไม่อาจรู้กับท่านว่า ธุรกิจของท่านได้เติบโตขึ้นจริงๆ (ตามตัวเลขเงินสดแฝง หรือ จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ที่คุณนำมาให้ดู)
ส่วนนี้อาจจะเป็นเพราะคุณเด่นศรี ไม่ได้สร้างตัวชี้วัด ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมาก็ได้
แต่สิ่งที่ผมนำมาฝากวันนี้ก็คือ ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ทุกคนสามารถนำมาเปรียบเทียบกัน และประยุกต์ใช้ได้กับ DSM โดยไม่กระทบกับวิธีการเทรดแบบ DSM เลย
ซึ่งข้อดีก็คือ ไม่ต้องมีปัญหาว่า หากมีหุ้นหลายๆ ตัว ตัวหนึ่งได้หุ้นเพิ่ม ตัวหนึ่งหุ้นลดลง มีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่ง คุณจะนำมาแสดงอย่างไร เพื่อให้คนอื่นๆ รู้ได้ทันทีว่า ธุรกิจของคนๆ นี้เติบโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์
หรือกรณีที่คุณขายหุ้นแล้วซื้อคืนไม่ได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจได้เติบโตขึ้น
เมื่อมันเป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถอ้างอิงกันได้ เปรียบเทียบกันได้ หรือเรียกได้ว่า "คุยกันรู้เรื่อง"
เจ้าดัชนีชี้วัดที่ผมเสนอไป ก็คือสิ่งเดิม นำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคุณอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือเห็นว่ามันมีประโยชน์อย่างไร เลยยังนำไปใช้ไม่ได้
ถ้าจะดูกันอย่างคร่าวๆ จะมีตัวเลขสำคัญๆ อยู่ 4 ตัว 1. เงินสดที่เหลืออยู่ (Cash , C) 2. ต้นทุนในส่วนของหุ้นที่เหลืออยู่ (Capital of Stock Remain , CSR) 3. เงินสดที่ถอนออกไป (Withdrawn , W) 4. เงินลงทุนที่ใส่เข้ามาในระบบ ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน (Total Capital , TC)
ศักยภาพของเงินทุน (Capital Power , CP) = C + CSR + W
ดัชนีวัดการเติบโต (Growth Index , GI) = (CP-TC)*100 / TC
ตัวเลข 4 ตัว ที่นำมาคิด มีอยู่อันหนึ่ง ที่คุณอาจจะงง ในการนำมาใช้ นั่นก็คือ ต้นทุนในส่วนของหุ้นที่เหลืออยู่ (CSR)
คราวที่แล้ว ผมแนะนำให้ใช้ตัวเลขคร่าวๆ (ซึ่งก็พอใช้ได้) แต่ยังไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นก็คือ ให้ใช้ตัวเลขมูลค่าหุ้น ที่แสดงให้เห็นอยู่แล้วในบัญชีของโบรกเกอร์
แต่เพื่อให้ถูกต้องยิ่งขึ้น วันนี้ผมจะแนะนำการลงบัญชีของหุ้นในส่วนที่เหลืออยู่ ด้วยการยกตัวอย่างให้ดู
สมมุติว่าคุณซื้อหุ้น A ครั้งแรกราคา 4 บาท จำนวน 100000 หุ้น
ต่อมาคุณขายไป 10000 หุ้น ที่ราคา 3.90
ตอนนี้คุณจะเหลือหุ้นอยู่ 90000 หุ้น (หุ้นละ 4 บาท) ต้นทุนส่วนของหุ้นที่เหลืออยู่ = 360000
ในขณะที่เงินสดคงเหลือ = 39000
เพราะฉะนั้นศักยภาพของเงินทุน = 360000 + 39000 = 399000 Growth Index = (399000-400000)*100/400000 = - 0.25%
ทีนี้ในกรณีที่หุ้นมีราคาตกลงมาให้คุณซื้อได้ที่ 3.80 เท่ากับว่าคุณใช้เงิน 38000 บาท ซื้อคืนมา 10000 หุ้น เหลือเงินสด 1000 บาท
ในการที่คุณได้หุ้นคืนมา 10000 หุ้น ให้คุณลงบัญชีต้นทุนของหุ้นที่ซื้อเข้ามาใหม่ ในราคาเดิมที่ซื้อไว้ (คือ 4.00)
นั่นเท่ากับว่า คุณมีหุ้น 100000 หุ้น (ที่ต้นทุนหุ้นละ 4.00 บาท เหมือนเดิม) ดังนั้น ต้นทุนส่วนของหุ้นที่เหลืออยู่ = 400000
ศักยภาพของเงินทุน = 400000 + 1000 = 401000 Growth Index = (401000 - 400000)*100/400000 = 0.25
ผมคงไม่คำนวณให้ดูต่อไปในกรณีที่หุ้นลงไปอีก ให้คุณขายออกไปอีกครั้ง เพราะมันก็จะคิดด้วยวิธีการเดิม
แต่ในกรณีที่คุณนำเงินกลับไปซื้อหุ้นตัวอื่น หรือ หุ้นตัวเดิม โดยไม่ใช่เป็นการซื้อคืน (หรือที่เรียกว่าแปลงร่างนั่นแหละครับ) ให้คุณลงบัญชีต้นทุนหุ้น ด้วยราคาใหม่ที่คุณซื้อเข้ามา
เมื่อทำแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะมีหุ้นกี่ตัว คุณจะมองเห็นภาพรวม ว่าเงินที่คุณลงทุนไปนั้น ตอนนี้มันเติบโตขึ้นหรือลดลงไปเท่าใด
และหากคุณเข้าใจ เข้าถึงสิ่งที่ผมเสนอ คุณจะมองออกเองว่า ตัวเลขนี้ ได้บอกว่า จำนวนหุ้นของคุณเพิ่มขึ้นจากวันแรกที่ลงทุนหรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนเงินสดแฝงที่ได้ด้วยเช่นกัน
มันอาจจะยุ่งยากถ้าคุณเทรดหุ้น ผ่านมาหลายเดือนหรือเป็นปีๆ ในการที่จะกลับไปดูต้นทุนของหุ้นตั้งแต่เริ่มเทรดมา
แต่ผมแนะนำให้คุณใช้ข้อมูลราคาเฉลี่ยของหุ้นที่เหลืออยู่ (ซึ่งโบรกเกอร์ได้แสดงข้อมูลนี้ในพอร์ตของคุณอยู่แล้ว)
หลังจากนั้น จึงค่อยๆ ลงบันทึกบัญชีอย่างละเอียดตามตัวอย่างที่ผมทำให้ดู
แล้วทีนี้ เวลามาคุยกันเรื่องการเติบโตของพอร์ตของคุณ มันก็จะเข้าใจในแบบเดียวกัน
ผมเห็นว่าส่วนนี้สำคัญมาก ถ้าคุณคิดว่า DSM เป็นระบบที่คนอื่นๆ น่าจะนำไปใช้ได้ด้วย
และน่าจะจัดเข้าเป็นมาตรฐานของ DSM ด้วยซ้ำไป
ผมคงจะไม่ตอบคำถามอย่างในคราวที่แล้วว่า ทำไมไม่ใช้มูลค่าพอร์ตเป็นตัววัด แทนที่จะเป็นต้นทุนของหุ้นที่เหลืออยู่
แต่ผมจะตอบคำถามหากท่านสงสัยในวิธีการปฏิบัติ
มีอะไรก็ถามกันได้นะครับ
สิ่งที่ผมเสนอมานี้ แน่นอนว่าไม่ใช่หัวใจของ DSM แต่มันเปรียบเสมือนอุปกรณ์เสริม ที่ช่วยให้คุณทำ DSM ได้ง่ายขึ้นครับ
..
จากคุณ :
ไม่เป็นดั่งใจ
- [
1 ก.ย. 50 16:52:24
]
|
|
|
|
|