|
บลจ.กรุงไทยออกกองทุน January Effect 6 เดือนตั้งเป้าผลตอบแทน15%
บลจ.กรุงไทยออกกองทุน January Effect 6 เดือนตั้งเป้าผลตอบแทน15% Source - ผู้จัดการรายวัน (Th) Thursday, September 13, 2007 10:52
ผู้จัดการรายวัน - บลจ.กรุงไทยออกกองทุนหุ้นดักปรากฏการณ์ January Effect เผยเน้นลงทุนสั้น 6 เดือนในหุ้นพื้นฐานดี ให้ผลตอบแทน 15% ระบุตลาดหุ้นไทยสดใสหลังมีการเลือกตั้งช่วยหนุน มั่นใจปิดกองทุนพร้อมจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนได้ก่อนครบอายุ ด้านแผนกกองทุนส่วนบุคคล ชูโปรดักต์ล่อใจลูกค้า ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลเมืองลุงแซม 2 ปี รีเทิร์น 15.7% ต่อปี
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21 กันยายน-2 ตุลาคมนี้ บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนรวมกรุงไทยแจนยัวรี่เอ็ฟเฟค 1 (KTJAN1) มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าว จะเน้นลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนที่ดี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.กำหนด
ทั้งนี้ กองทุนอาจจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน แต่จะไม่ลงทุนตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structure Note)
ทั้งนี้ กองทุนรวมกรุงไทยแจนยัวรี่เอ็ฟเฟค 1 เป็นกองทุนปิดอายุการลงทุนประมาณ 6 เดือน ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับปรากฏการณ์ January Effect โดยกองทุนตั้งเป้าผลตอบแทนไว้ที่ 15% ซึ่งหากผลการดำเนินการเข้าเป้าก่อนจะครบอายุกองทุนในวันที่ 4 เมษายน 2551 ก็จะปิดกองทุนทันที ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่ากองทุนดังกล่าวจะสามารถให้ผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายก่อนกำหนด หรืออาจจะสามารถปิดกองทุนได้ก่อนเดือนมกราคม ปีหน้า
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยของ บลจ. กรุงไทย ได้ศึกษาผลการเกิด January Effect ในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2534-2549 ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม โดยในเดือนมกราคมมีการปรับตัวขึ้นประมาณ 11 ครั้ง ใน 16 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4.73% ซึ่งนับว่าเป็นเดือนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด รองลงมาได้แก่ เดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้น 9 ครั้ง ใน 16 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.77%
สำหรับ January Effect เป็นปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป โดยในตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา จะมีการขายในช่วงปลายปีเพื่อต้องการ Create Tax Losses ของนักลงทุนประเภท tax-conscious เพื่อ write off ขาดทุนกับกำไรที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ อาจเกิดจากการขายเพื่อรับรู้กำไร (Recognize Capital Gains) ในช่วงปลายปี และเพื่อทำราคาปิดของนักลงทุนประเภทกองทุน ซึ่งการขายหุ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลงในช่วงปลายปี และจะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงต้นปี หลังจากที่นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกครั้ง
ส่วนตลาดหุ้นไทยกับ January Effect เกิดขึ้นเพราะแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่เข้าออกตลาดหุ้นทั่วโลกได้อย่างเสรี และหลายครั้งที่มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคและมักถูกชี้นำทิศทางการเคลื่อนไหวจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลต่อทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังได้รับปัจจัยเสริมภายในประเทศจากความคลี่คลายทางการเมือง โดยการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นน่าจะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การลงทุนในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง
นายธีรพันธุ์กล่าวต่อถึงแผนงานสำหรับกองทุนส่วนบุคคล (ไพร-เวตฟันด์) ว่า ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมแล้วที่จะนำกองทุนส่วนบุคคลไปลงทุนในต่างประเทศ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดช่องทางให้สามารถไปลงทุนได้ โดยในเบื้องต้นบริษัทจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินก่อน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้ ขณะนี้สามารถลงทุนได้ทันที
โดยโปรดักต์ที่บริษัทจะแนะนำให้ลูกค้านั้น คือ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ด้วยการซื้อพันธบัตรอายุ 2 ปี หลังจากนั้นก็นำไปขายในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (REPO) แล้วนำเงินที่ได้มาดังกล่าวกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง และทำเช่นนี้ไปประมาณ 4 ครั้ง ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนกลับมาเฉลี่ยต่อปี 15.7% ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวเท่ากับการลงทุนในพันธบัตรอายุ 8-10 ปี โดยที่ความเสี่ยงต่ำกว่า
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะนำรูปแบบการลงทุนดังกล่าวจัดตั้งเป็นกองทุนรวมด้วย แต่อาจจะต้องรอจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันผู้ลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีประกาศอนุญาตให้สถาบันที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา สามารถลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคลแล้ว บริษัทก็จะแนะนำการลงทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ลงทุนที่สนใจด้วย
ทั้งนี้ หลังจากกองทุนส่วนบุคคลสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้แล้ว บริษัทคาดว่ารูปแบบการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา จะมีนักลงทุนให้ความสนใจและคาดว่าจะมีเงินใหม่เข้ามาลงทุนกับบริษัทประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้พอร์ตกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมประมาณ 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
ช่วยกัน comment หน่อยนะคะ น่าสนใจหรือเปล่า
จากคุณ :
I Promise
- [
13 ก.ย. 50 17:18:59
]
|
|
|
|
|