Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    จากไทยรัฐ : ตลาดหุ้นไทยพังไม่ยี่หระ'ฉลองภพ' ขอซบอก 'รสนา' ยืนข้างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเพื่อหาข้อยุติในการแบ่งแยกทรัพย์สินพร้อมประเมินราคาเช่าที่ดินและท่อก๊าซ ภายหลังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องแบ่งแยกทรัพย์สิน 3 รายการคืนรัฐ วานนี้ (17 ธ.ค.) ซึ่งประกอบด้วย นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ปตท., นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน, ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคนกลาง 3 รายประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและกรมธนารักษ์  

    ปรากฏว่าในระหว่างที่ตัวกลางคือ กรมธนารักษ์ได้แจ้งต่อนายฉลองภพ ถึงเรื่องการกำหนดเกณฑ์ อัตราค่าเช่าท่อซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานการเช่าที่ดินเช่นเดียวกับกรณีของการท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ที่กำหนดเก็บอัตราค่าเช่าที่ 2-5% ซึ่งกรมธนารักษ์ได้เสนอให้จัดเก็บค่าเช่าในอัตรา  2.5%  ของ รายได้ต่อปีเหมือนกรณีการคิดค่าเช่าที่ดินของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย  (ทอท.) ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ ทำให้นายฉลองภพรู้สึกไม่พอใจ และย้อนถามกลับเจ้าหน้าที่ไปทันทีว่า ใครใช้ให้กรมธนารักษ์กำหนดอัตราค่าเช่าท่ออัตรานี้ สิ่งที่ตนต้องการไม่ใช่อัตรานี้ เพราะถือว่าต่ำเกินไป ต้องการให้ ปตท. จ่ายค่าเช่าท่ออัตรา 20% เพราะเห็นว่า ปตท.เป็นธุรกิจที่มีกำไร  “ผมอยากได้เหมือนกรณีที่มาบุญครองจ่ายค่าเช่าให้กับจุฬาฯ  ไม่เช่นนั้นผมจะไปตอบคุณรสนา โตสิตระกูล และพวกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้อย่างไร”

    จากนั้นนายปิยสวัสดิ์ และผู้บริหาร ปตท. ก็ได้ชี้แจงว่า ปตท.เป็นผู้ลงทุนท่อเองทั้งหมด และก็มีเพียงกิจการ ปตท.เท่านั้นที่จะเป็นผู้เช่า ซึ่งอัตรา 20% คงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและก๊าซได้ รวมทั้งไม่สามารถจะตอบผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งถือเป็นอัตราที่ ปตท.ไม่สามารถจะจ่ายได้ อีกทั้งยังมีภาระหนี้สินจากการลงทุนที่สูงอยู่ แต่นายฉลองภพก็ยังยืนกรานให้ไปหาทางเพื่อชี้แจงผู้ถือหุ้น เองและไม่สะทกสะท้านว่าจะเกิดผลต่อสังคมใดๆตามมา

    ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พอมาถึงตรงจุดนี้จึงทำให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียด โดยนายฉลองภพบอกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (18  ธ.ค.) ตนได้เสนอให้มีการจัดเก็บค่าเช่าท่อจาก  ปตท.ในอัตรา  20%  อย่างแน่นอน ส่วนนายปิยสวัสดิ์ตอบว่า ตนก็จะนำข้อมูลในฝั่งของตัวเองเสนอ  ครม.เช่นกัน และถามนายฉลองภพกลับไปว่า ถ้า  ครม.ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกแนวทางของใครแล้วจะทำอย่างไร นายฉลองภพกล่าวว่า “ผมจะจ้างคนกลางเข้ามาประเมินราคาเอง ซึ่งหมายความว่าการพิจารณาเรื่อง ปตท.ก็จะล่าช้าออกไป หุ้นของ ปตท.ก็ต้องถูกแขวนป้ายห้ามซื้อขายไปอีก 2-3 เดือน” นายฉลองภพกล่าวทิ้งท้าย  

    ด้านนายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง จะเสนอรายละเอียดการโอนท่อก๊าซธรรมชาติให้กับกรมธนารักษ์ โดยรายละเอียดจะมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องระยะเวลาจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จ, ค่าเช่าท่อก๊าซฯ, ภาษีการโอนที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะให้คำนวณย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2544, อัตราค่าเช่าท่อจากกรมธนารักษ์ เพื่อให้  ครม.อนุมัติกรอบหลักเกณฑ์เบื้องต้น เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสามารถเปิดขายหุ้น  ปตท.ได้ในบ่ายวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าเช้าวันพุธที่ 19 ธ.ค.นี้

    ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์  (ก.ล.ต.)  กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการห้ามการซื้อขายหุ้น   ปตท.เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับตลาดภาพรวม โดยเฉพาะกองทุนส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศล้วนถือหุ้น  ปตท.ไว้มาก ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาและความโกลาหล กระทบไปถึงประชาชนนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในกองทุนรวม รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่จำเป็นต้องขายหน่วยลงทุนเพื่อนำเงินไปใช้จะได้รับผลกระทบรวมทั้งผู้ที่จะเกษียณอายุทั้งนักลงทุนและข้าราชการด้วย ขณะที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. กล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้อาจกระทบต่อราคาหุ้นของ ปตท.บ้างเล็กน้อย แต่ไม่มีใครถามถึงกรณีที่ ปตท.ต้องแบกรับภาระหนี้เงินกู้อีกหลายหมื่นล้านบาทที่ลงทุนก่อสร้างท่อก๊าซฯ

    ผู้สื่อข่าวรายงานจากวงการตลาดเงินตลาดทุน ว่า หากทางการไม่สามารถตกลงในกรณีการแยกท่อก๊าซคืนกระทรวงการคลัง รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าเช่าได้ ซึ่งจะทำให้มีการขึ้นป้าย SP ห้ามการซื้อขายหุ้น ปตท.นานจนเกินเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายกับความน่าเชื่อถือของประเทศ ให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย นอกจากนี้ยังเกิดความเสียหายกับนักลงทุนที่ถือหุ้น ปตท.ด้วย เพราะทำให้ไม่สามารถซื้อขายหุ้น ปตท.ได้ ผู้ถือหุ้นก็สามารถฟ้องร้องได้ นอกจากนี้การโอนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลัง ในส่วนของท่อเส้นที่  3  นั้น การก่อสร้างเกิดจากเงินลงทุนของ  ปตท.เองหลัง

    จากแปรรูปเข้าตลาดหุ้นแล้ว   ซึ่งเงินที่ลงทุนก็เป็นเงินที่ระดมได้จากผู้ถือหุ้นและจากการกู้เงินสูงถึง 73,000 ล้านบาท ถือเป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าตลาดหุ้นแล้ว หากจะยึดคืนคลังต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนั้น หากเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ก็อาจฟ้องร้องกระทรวงการคลังได้

    ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด วานนี้ (17 ธ.ค.) ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ด้วย.

    จากคุณ : ผู้เฒ่าสายลม - [ 18 ธ.ค. 50 08:41:19 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom