Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ทนง พิทยะ ผู้ปลดปล่อยค่าเงินบาทให้ลอยตัวปี40

    มีข่าวว่าจะพลังประชาชนจะให้เขากลับมานั่ง ขุนคลัง

    ลองอ่านนี่ดู

    คำให้การ"ทนง พิทยะ" กับการลอยตัวค่าเงินบาท ปี 40
    มติชนรายวัน  วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9827

    หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้นายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายอำนวย วีรวรรณ ที่ลาออกไป โดยครั้งนั้น นายทนงได้ดำเนินการเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือการลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หรือหลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ 11 วัน และการปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งเป็นการชั่วคราว

    "มติชน" ได้มีโอกาสพบนายทนง พิทยะ และสนทนาถึงเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการตัดสินใจลดค่าเงินบาท การปิดสถาบันการเงิน รวมไปถึงกรณีที่มีข่าวว่าธุรกิจสื่อสารบางแห่งได้รับผลประโยชน์จากการเก็งกำไรค่าเงินบาท และนี่คือรายละเอียดจากปากคำของผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

    - อยากให้เล่าเหตุการณ์ในการตัดสินใจลดค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ว่าเป็นอย่างไร

    คือหลังจากที่ผมได้รับโปรดเกล้าฯ ก็ได้ไปพูดคุยกับคุณอำนวย วีรวรรณ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ท่านบอกว่ามีเรื่องที่ฝากให้ทำต่อ คือเรื่องการลดค่าเงินบาท เพราะในระหว่างที่ท่านเป็นรัฐมนตรีนั้น ในที่ประชุมเรื่องนี้มีความเห็นขัดแย้งกัน 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องมีการลดค่าเงินบาท แต่อีกฝ่ายหนึ่งยืนยันว่ายังไม่ต้อง

    อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 หลังจากประชุมสภาเสร็จ ผมก็ได้รับแจ้งจากผู้ว่าการ ธปท.(นายเริงชัย มะระกานนท์) ให้เดินทางไปประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สถานที่ประชุมคือวังมัจฉา ครั้งนั้น ธปท.ได้แสดงฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่าเหลืออยู่เพียง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นทุนสำรองของฝ่ายออกบัตรที่ต้องใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรประมาณ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเราเหลือทุนสำรองที่ไร้ภาระเพียง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่พอรับมือหากเกิดเหตุอะไรขึ้น

    ผมรับฟังแล้วก็บอกแบงก์ชาติว่า ให้ไปคิดมาว่าจะทำอย่างไร ระหว่างการขยายแบนด์หรือลอยตัวค่าเงินบาท

    พอวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 ผู้ว่าการ ธปท. ก็โทรศัพท์มาบอกผมว่า ธปท.ได้หารือกันแล้วตกลงใจที่จะลอยตัวค่าเงินบาท แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำเมื่อไหร่ ผมก็บอกว่าให้ไปทำเรื่องมา

    พอวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540 บิ๊กจิ๋ว(พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จะต้องออกทีวีเพื่อแถลงผลงานของรัฐบาล ท่านก็มาถามผมว่า จะให้พูดยังไงดี เพราะเรื่องนี้แม้นายกฯจะรู้ว่าจะต้องลอยตัวค่าเงินบาทแน่ๆ แต่ก็พูดไม่ได้ ต้องเก็บเป็นความลับสุดยอด จนกว่าจะประกาศจริง

    ผมก็บอกท่านว่า ให้พูดว่าจะยังไม่มีการลดค่าเงินในขณะนี้ เราพูดว่ายังไม่ลด ไม่ได้บอกว่าจะไม่ลดนี่ ก็ให้พูดอย่างนี้ไป ตอนนั้นก็ถือว่าท่านรู้แล้วว่าจะต้องทำ แต่ไม่รู้ว่าวันไหนแค่นั้นเอง

    ส่วนผมเองก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะประกาศลอยตัววันไหน ตอนนั้นคิดถึงขั้นว่าจะให้ธนาคารพาณิชย์ปิดทำการวันที่ 30 มิถุนายน แล้วประกาศ แต่เผอิญวันนั้นแบงก์ต้องปิดบัญชีงวดครึ่งปี จะยุ่งมากปิดแบงก์ไม่ได้ ก็พอดีว่าวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันหยุดครึ่งปีของแบงก์ ไม่มีใครทำงานอยู่แล้ว ซึ่งวันนั้นมีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พอประชุมเสร็จ คุณเริงชัย กับ ดร.ศิริ(นายศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ขณะนั้น) ก็มาขอพบบิ๊กจิ๋ว เพื่อจะแจ้งให้ทราบว่าจะประกาศลอยตัวค่าเงินบาท วันที่ 2 กรกฎาคม

    - พล.อ.ชวลิตว่าอย่างไร

    บิ๊กจิ๋ว ถามว่า จริงหรือน้อง?

    ผมก็บอกว่า เรื่องนี้ผมรับผิดชอบเองถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เพราะผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    พอวันที่ 2 กรกฎาคม แบงก์ชาติก็โทร.หานายแบงก์ตั้งแต่เช้ามืด ตี 4 ได้มั้ง เรียกนายแบงก์ทุกคนมาที่แบงก์ชาติ แล้วประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

    ส่วนเรื่องการปิด 56 ไฟแนนซ์นั้น ความตั้งใจของผมคือปิดชั่วคราว เพื่อหยุดการถอนเงินออกจากแบงก์ เพราะตอนนั้นเงินไหลออกจากแบงก์วันละ 2 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่ทำอะไรแย่แน่ ตอนนั้นเราตั้งใจว่าจะแยกสินทรัพย์ดี สินทรัพย์เสียออกจากกัน ออกเป็น Good Bank กับ Bad Bank แล้วเอา Good Bank มารวมกัน อาจจะตั้งเป็นธนาคารขึ้นก็ได้ ก็ให้คุณบันเทิง(นายบันเทิง ตันติวิทย์) เป็นคนไปศึกษา

    - แสดงว่า พล.อ.ชวลิตทราบมาตลอดว่าจะต้องมีการลดค่าเงินบาท

    ท่านรู้ตลอดแหละ เพราะมันมีบทศึกษามากมาย เอกสารของไอเอ็มเอฟ(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ก็ระบุไว้ แต่ท่านพูดไม่ได้

    - รู้เรื่องการแต่งคณะทูตลับไปเจรจาขอกู้เงินจากจีนไหม

    รู้ แต่วันที่เขาเดินทาง ผมต้องไปประเทศญี่ปุ่น

    คือตอนนั้นพอรู้ว่ามีทุนสำรองที่ไม่มีภาระเพียง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก็ถามแบงก์ชาติว่าต้องกู้อีกเท่าไหร่ ถึงจะพอรับมือ แบงก์ชาติก็บอกว่าประมาณ 14.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    บิ๊กจิ๋วก็เรียกประชุม ซึ่งมีบางคนคิดว่าจีนเป็นบ้านพี่เมืองน้อง และบิ๊กจิ๋วก็สนิทกับจีนตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นทหาร น่าจะกู้ได้

    - ถ้าต้องการกู้ 14.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แล้วทำไมตัวเลขที่ไปเจรจาถึงกลายเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

    บางคนเขาคิดว่า ไหนๆ จะไปกู้แล้ว ก็เอา 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยแล้วกัน แล้วสุดท้ายจีนก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไรมา มีเพียงจดหมายฉบับหนึ่งเท่านั้น

    ในส่วนของผมก็คิดว่ากระบวนการกู้เงินเป็นหมื่นล้านเหรียญสหรัฐจากประเทศอื่น ไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำตามมาตรฐานสากลที่ทำกันจะง่ายกว่า

    ผมจึงเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ไปพบกับนายฟุกุดะ ซึ่งเป็นลูกของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและเป็นวุฒิสมาชิก พอเขารู้ก็ติดต่อรัฐมนตรีคลังของเขาทันที คือมึตสึชิกะ ให้เราได้คุยกัน ก็มีการหารือกันในหลักการโดยญี่ปุ่นตกลงที่จะช่วยไทยภายใต้กรอบของไอเอ็มเอฟ

    หลังจากนั้นอีก 2 อาทิตย์ ผมก็บินไปญี่ปุ่นอีกที เพื่อร่วม Tokyo Round ที่ทางญี่ปุ่นจัดให้เพื่อให้เราเจรจาขอกู้เงิน ซึ่งนอกจากญี่ปุ่น ก็มีตัวแทนจากสหรัฐ แคนาดา จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน มาร่วม

    Tokyo Round ครั้งนั้น ไอเอ็มเอฟ บอกว่าจะให้เรากู้ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่นแจ้งว่าให้กู้ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ พอมาถึงสหรัฐ เขาบอกว่าเขาไม่มี อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเพิ่งเข้าไปช่วยเหลือเม็กซิโกอยู่ และกระบวนการให้กู้ของเขาต้องผ่านสภา แต่เขารับว่าจะช่วยทางไอเอ็มเอฟ เพราะเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่

    ต่อมาแคนาดา บอกว่าจะให้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนออสเตรเลีย แจ้งว่ายังไม่รู้ จีนก็แจ้งว่ายังไม่รู้ อินโดนีเซีย แจ้งว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วก็มีมาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ

    พอ 4 โมงเย็น ออสเตรเลียก็บอกมาว่า เขาจะช่วย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจีน กว่าจะรู้ก็ 6 โมงเย็น ว่าเขาตกลงช่วยเรา 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะตัวแทนที่จะมาร่วมประชุมให้คำตอบอะไรไม่ได้ เขาต้องโทรศัพท์ไปปรึกษารัฐบาลเขาก่อน ก็เลยมาล่าที่สุด

    สุดท้ายเราได้ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพราะหลังจากนั้นก็มีผู้ให้กู้เพิ่มอีกส่วนหนึ่ง

    - รู้สึกอย่างไรที่มีข่าวว่าสนิทสนมกับธุรกิจสื่อสารบางแห่ง ทำให้ข่าวรั่ว

    ผมคงหยุดความคิดใครไม่ได้ เปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้

    แต่คำถามคือ ผมเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

    และนับแต่วันที่ผมเป็นรัฐมนตรีคลัง ถึงวันลอยตัวค่าเงินบาท ถ้าสมมุติว่าตอนนั้นมีใครรู้ว่าเราจะลอยตัว เขาจะไปหาซื้อดอลลาร์เพื่อเก็งกำไรได้ที่ไหน ตอนนั้นแบงก์ชาติเขาไม่ขายดอลลาร์แล้ว หมดหน้าตักแล้ว

    - แล้วทำไมมีข่าวว่ากลุ่มนี้ไม่ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเลย ไม่เหมือนธุรกิจอื่น

    ใครบอกว่าเขาไม่ขาดทุน คุณไปดูบัญชีของแต่ละบริษัทในกลุ่มช่วงนั้นสิ ก็มีบางแห่งที่ไม่ขาดทุนแม้จะกู้เงินดอลลาร์มาทำโครงการ แต่เนื่องจากรายได้จากการให้เช่าเครื่องมือสื่อสารของเขาก็รับเป็นเงินดอลลาร์เหมือนกัน ก็ไม่เป็นไร เหมือนการบินไทย ที่กู้เงินต่างประเทศแต่รายได้ก็เป็นเงินตราต่างประเทศ ก็ไม่ขาดทุน แต่มีบางบริษัทที่รายได้เป็นเงินบาท งบการเงินปีนั้นเขาก็ขาดทุนเหมือนกัน ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเผอิญเขาขายกิจการในต่างประเทศได้ในราคาแค่ 50% ของราคาทุน แต่เนื่องจากได้เป็นเงินดอลลาร์ ตีกลับเป็นเงินไทยก็เลยเท่าทุน

    ทั้งหมดนี้ไปดูบัญชีเขาได้ คนที่พูดส่วนใหญ่ก็เดาเอา เขารู้อย่างที่ผมรู้หรือเปล่า

    อืม เห้อ

    จากคุณ : ยิ้มไว้เมื่อหุ้นลง - [ 27 ธ.ค. 50 22:30:49 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom