Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    มาแนะนำ ข้อเขียนของ ดร.นิเวศน์ ครับ ทำอย่างไรเมื่อหุ้นตก

    เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆสำหรับคนที่ชอบลงทุนหุ้นระยะยาวนะครับ

    มีความสุขกับการลงทุนนะครับ
    อ้างอิงจาก
    http://www.thaivi.com/article/value-investor/502-.html ครับ

    ทำอย่างไรเมื่อหุ้นตก
    โลกในมุมมองของ Value Investor
    ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  29 ม.ค. 2551
    (ยังไม่ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจครับ)

                   ตั้งแต่ต้นปีมาดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดหุ้นจะเจ็บตัวกันหนักและเป็นการเปลี่ยนภาพที่สดใสของตลาดหุ้นจากปีที่ผ่านมา    ตัวเลขคร่าว ๆ  ก็คือ  ปีที่แล้วดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นมาประมาณ  26%  ยังไม่นับรวมปันผลอีกประมาณ  3 – 4 %  ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมทั้ง  ๆ   ที่ประเทศไทย   “มีปัญหา”  มาตลอดทั้งปี     ปี 2551 นี้   นักวิเคราะห์ต่างก็ตั้งเป้าหมายว่าดัชนีหุ้นจะดีขึ้นไปอีกมาก   บางคนบอกว่าจะไปถึง 1,000 จุด เพราะ  สถานการณ์ต่าง  ๆ   โดยเฉพาะการเมืองจะดีขึ้น    แต่แล้ว   ปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ  เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของซับไพร์มที่สหรัฐอเมริกาก็ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำกันทั่วโลก    ผลก็คือ   เพียงแค่ประมาณเดือนเดียวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเราก็ตกลงมาแล้วประมาณ  11%  คือตกจากประมาณ 858 จุดเหลือเพียง 760 จุดในวันที่ 25 มกราคม 2551   และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นบทเรียนให้เรารู้ว่า   ตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่  “คาดไม่ได้”   และความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีอยู่ตลอดเวลา  โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรารู้สึกดีและสบายใจในการลงทุน

                   เมื่อตลาดตกอย่างหนักก็มักจะมีคนถามผมเสมอว่าเขาควรทำอย่างไร?   ขายทิ้งก่อนดีไหม?   บางคนก็ถามว่า  ควรจะ  “เข้า” หรือยัง?   ส่วนใหญ่ผมก็มักจะตอบว่าควร  “อยู่เฉย ๆ”  เพราะเราไม่รู้ว่าตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรแม้ว่าที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์แทบจะเรียกว่าเลวร้ายเกือบทุกวันและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิในตลาดเกือบทุกวัน    เหตุผลของผมก็คือ   พื้นฐานของเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ  ทุกอย่างยังเป็นปกติ  เพียงแต่ว่าเราค่อนข้างจะโตช้ากว่าเพื่อนบ้านบ้างในช่วงปีที่ผ่านมาและอนาคตคือในปีนี้ก็ยังดูเหมือนว่าจะมีอุปสรรคอยู่โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่อาจจะโตช้าลงจากความถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดขึ้น    แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้คงไม่ทำให้เราเกิดวิกฤติ    เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ   ตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงมาพอสมควรแล้ว    ดังนั้น   ถ้าเราขายหุ้นในวันนี้อาจจะเป็นว่าเราได้ขายไปในราคาถูก   ในทางตรงกันข้าม   ถ้าเราเข้าไปซื้อเพราะคิดว่าราคาหุ้นได้ตกลงมามากแล้ว   เราก็อาจจะผิดหวัง เพราะราคาหุ้นอาจจะลงต่อไปอีกเพราะความผันผวนของตลาดหุ้นโลกยังไม่สงบลงก็ได้

             ส่วนตัวผมเองนั้น   ในภาวะที่ดัชนีตลาดตกต่ำลงมาก ๆ   ผมมักจะเฝ้าดูราคาหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมทั้งที่ผมถือหุ้นอยู่และที่ผมอาจจะยังไม่ได้เป็นเจ้าของ    ดูว่าราคาหุ้นตัวนั้นตกต่ำลงมามากน้อยแค่ไหน   ถึงจุดที่น่าสนใจพอหรือยัง   ถ้ายังไม่ต่ำพอผมก็จะอยู่เฉย ๆ   แต่ถ้าราคาต่ำลงจนถึงจุดที่น่าสนใจมาก ๆ   ผมก็จะเริ่มคิดที่จะหาเงินมาลงทุน   ซึ่งน่าเสียดายว่าผมมักจะไม่มีเงินสดเหลือเพราะผมลงทุนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว    ถ้าผมต้องการเงินมาลงทุนผมก็ต้องขายหุ้นตัวอื่นที่ผมถืออยู่    ซึ่งก็มักจะน่าเสียดายอีกว่าผมไม่อยากขาย   เพราะราคามันลงมามาก   การขายในเวลาที่เลวร้ายอย่างนั้นผมรู้สึกว่าจะทำใจได้ยาก    ดังนั้น   โดยสรุปแล้ว   ช่วงที่ดัชนีตลาดตกต่ำอย่างหนัก   ผมมักจะไม่ค่อยทำอะไร    ผมชอบเปรียบตัวเองเหมือนเต่า   นั่นก็คือ   ในยามที่เกิดพายุฝนตกฟ้าคะนองรุนแรง   เต่าจะอยู่นิ่ง  ๆ   หลบฝนอยู่ในที่กำบัง  และถ้าจะให้ดีก็คือ   หดหัวไม่มองดูสายฟ้าที่ฟาดกระหน่ำลงมาไม่หยุดหย่อน   ว่าที่จริง   เวลาหุ้นตกหนักผมชอบที่จะหนีไปเล่นกอล์ฟเพื่อจะได้ไม่ต้องพะวงกับการตกลงของราคาหุ้นมากนัก

             เมื่อเวลาผ่านไป    ผมเชื่อว่าหุ้นก็มักจะกลับมาสู่ราคาที่มันควรเป็นตามปัจจัยพื้นฐานของมัน    ที่จริงมันก็เป็นอย่างนั้นทุกครั้ง   ดังนั้นถ้าเรา  “กอดหุ้น”  ที่ทำธุรกิจที่เรามั่นใจว่าจะสามารถฝ่ากระแสของเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยได้   เราก็ไม่เห็นว่าจะต้องกลัวอะไร     บางคนบอกว่า   เขาไม่ได้กลัวเรื่องของธุรกิจของบริษัทที่เขาลงทุน   แต่เขาคิดว่าหุ้นกำลังตกด้วยอิทธิพลของกระแสเงินหรือเดี๋ยวนี้ชอบเรียกว่า   “Fund Flow”  ดังนั้นเขาคิดว่าอย่างไรหุ้นก็จะต้องตกต่อ   เพราะในยามที่นักลงทุนกำลังขายหุ้นเพราะต้องการถอนตัวออกจากตลาด   ปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มีความหมาย   เราจึงควรขายไปก่อนเพื่อความปลอดภัยและกลับไปซื้อภายหลังเมื่อหุ้น “นิ่ง” แล้ว    แต่นี่ก็จะกลับไปสู่ประเด็นเดิมที่ว่า  “เราคิดว่าเรารู้ว่าเมื่อไรที่หุ้นจะนิ่ง”  ซึ่งผมก็อยากจะพูดย้ำอีกครั้งว่า   “เราไม่รู้”    และสิ่งที่พิสูจน์ก็คือ  ดัชนีหุ้นที่ดีดตัวขึ้นมาถึง 31 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 4.1%  ในวันที่ 25 มกราคม 2551  เมื่อมีข่าวว่ารัฐสภาสหรัฐตกลงอนุมัติแผนกู้เศรษฐกิจของประธานาธิบดีบุช

             สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนผม   ผมคิดว่าการที่หุ้นตกลงมามากนั้น   เป็นโอกาสที่เราจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพทางธุรกิจดีที่เดิมเราไม่อยากซื้อเพราะราคาหุ้นแพงเกินไป     ดัชนีหุ้นที่ตกลงมามากนั้น   ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะดึงราคาของหุ้นตัวอื่น  ๆ  ลงมาด้วยทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลง   ถ้าเรากล้าที่จะเข้าไปเก็บหุ้นเหล่านั้นและพร้อมที่จะถือยาวโดยไม่สนใจกับราคาหุ้นที่อาจจะปรับตัวลงต่อ   โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต  3-4 ปีขึ้นไปก็มักจะสูงกว่าปกติ    และความเสี่ยงที่จะขาดทุนก็มักจะน้อยกว่าปกติ      การขายหุ้นไปก่อนเมื่อดัชนีกำลังอยู่ในช่วงตกหนักนั้น   ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดอย่างแน่นอน   เพราะบ่อยครั้งก็ทำให้นักลงทุนหลายคน   “เอาตัวรอดไปได้”  และก็มาเล่าให้คนทั้งหลายฟัง     แต่หลายคนก็เสียหายหนัก  เพราะ  “หุ้นฟื้นอย่างไม่คาดฝัน”  และคนเหล่านั้นไม่ได้มาพูด   ข้อสรุปที่แท้จริงก็คือ   ไม่รู้ว่าคนที่เอาตัวรอดไปได้กับคนที่เสียหายเนื่องจากการขายหุ้น  ฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน

                   ผมเชื่อว่า   สำหรับนักเก็งกำไรแล้ว   การที่ดัชนีตลาดปรับตัวผันผวนรุนแรง  พวกเขาจะต้องเฝ้ากระดานและมักจะมี  Action  นั่นคือ  ไม่ซื้อก็ขายกันมากขึ้นมาก   แต่สำหรับนักลงทุน   โดยเฉพาะที่เป็น Value Investor  ผมคิดว่าเขาควรจะซื้อมากกว่าขาย   ส่วนตัวผมเองนั้น   ผมยึดภาษิตที่ว่า   Stay Calm, Stay Invest  นั่นก็คือ  ทำใจให้สงบและลงทุนต่อไป

    จากคุณ : noooon010 - [ 27 ม.ค. 51 21:16:42 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom