Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    คัมภีร์ของนักเก็งกำไร

    ใครชอบเก็งกำไร  ก็ลองอ่านดูนะครับ !

    คัมภีร์ของนักเก็งกำไร
    ถ้าพูดว่า  Securities Analysis และ Intelligent Investor คือคัมภีร์ของ Value Investment  แล้ว  The Battle for Investment  Survival  เขียนโดยเจอรัลด์  เลิบ  ก็น่าจะเรียกว่าเป็นคัมภีร์ของนักเก็งกำไรได้เช่นกัน

               หนังสือของเลิบ  ซึ่งเป็นโบรกเกอร์และเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์เล่มนี้เขียนขึ้นในปี 1935 ซึ่งใกล้เคียงกับหนังสือ  Securities Analysis ของเบน เกรแฮมที่เขียนขึ้นในปี  1934  ซึ่งเป็นเวลาหลังการเกิดวิกฤติตลาดหุ้นนิวยอร์คในปี  1929


               เนื้อหา  แนวความคิด  หลักการลงทุนระหว่าง  เบนเกรแฮม  กับ เลิบ นั้น  แน่นอน  อยู่กันคนละขั้ว  เหมือนกับกลางวันกับกลางคืน  ทั้งคู่ต่างก็อ้างว่าวิธีของตนนั้นคือวิธีที่จะทำให้ร่ำรวยหรือเอาตัวรอดได้ในตลาดหุ้น


               ทั้งคู่มองว่าการลงทุนซื้อขายหุ้นนั้นเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ความรู้  ความสามารถ  และประสบการณ์สูงที่จะประสบความสำเร็จ  และทั้งคู่เห็นว่าเป้าหมายของการซื้อขายหุ้นก็คือการรักษาเงินต้น  และทำกำไรที่ดี  และสามารถชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อได้  ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้น ดูเหมือนว่าทั้งสองคนมองกันคนละมุม


               เลิบมองว่าการลงทุนในหุ้นนั้นคุณต้องทำแบบเก็งกำไรซื้อขายหุ้นเร็ว  ดูภาวะตลาดหลักทรัพย์และจับกระแสให้ถูกต้อง  เขามองว่าการลงทุนถือหุ้นยาวเพื่อรอกินปันผลนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเพราะผลตอบแทนที่คาดหวังจะต่ำเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ต่อปี  และโอกาสที่จะขาดทุนเพราะเงินต้นหายจะมีมากถ้าคุณคาดการณ์ผิด  สำหรับเลิบแล้ว  หุ้นราคาถูกสไตล์  Value Investment  นั้นไม่มีประโยชน์เพราะมันอาจจะถูกไปนานแสนนาน  เขาเห็นว่าควรเข้าซื้อหุ้นที่เริ่มจะแพงและแพงขึ้นเรื่อย ๆ


               วิธีการลงทุนแบบของเลิบนั้น  เขาแนะนำให้ใช้เงินเก็งกำไรเพียงส่วนหนึ่งของพอร์ตเท่านั้น  ไม่แนะนำให้ลงทุนเงินทั้งหมดในหุ้นแบบ  Value Investment  ตัวอย่างเช่น  ถ้ามีเงิน  100  คุณอาจจะใช้เงินเพียง  20 – 30%  เข้าซื้อหุ้นเพียงหนึ่งหรือสองตัว  โดยในช่วงแรกซื้อแต่น้อย  ถ้าผิดพลาดก็ให้ขายตัดขาดทุนหรือ Cut Loss  ทันที  แต่ถ้าหุ้นขึ้นไปให้ทะยอยซื้อเพิ่มไปเรื่อย ๆ และปล่อยให้กำไรเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่า Let Profit Run   เลิบมองว่าวิธีแบบนี้จะทำให้ได้กำไรเป็น  100%  ในเงินที่ลงไปภายในเวลาอันสั้นซึ่งดีกว่าการลงทุนด้วยเงินทั้ง  100%  และได้ผลตอบแทนเพียง  10%  ซึ่งต้องเสี่ยงเงินมากกว่า


               เลิบเห็นว่าเราไม่ควรปล่อยให้เงิน “ทำงาน” ตลอดเวลาโดยการ  Fully Invest  แบบนักลงทุนระยะยาวทั้งหลาย  ถ้าภาวะตลาดไม่ดีให้ถือเป็นเงินสดไว้ไม่ต้องทำอะไร  แต่เมื่อภาวะเอื้ออำนวยเขาจะเข้า “แรงและเร็ว” พูดง่าย ๆ  เขาแนะนำให้  “เล่นรอบ”  และเล่นตามภาวะตลาดในขณะที่เขาเห็นว่าการเลือกซื้อหุ้นโดยไม่สนใจภาวะตลาดแบบเบนเกรแฮมนั้นไม่ถูกต้อง  เพราะถ้าตลาดไม่ดีต่อเนื่องยาวนานหรือเข้าไปซื้อตอนตลาดอยู่ในช่วงสูงสุดหรือดัชนีอยู่บนดอย  หุ้นดีอย่างไรก็ไปไม่รอด


              เลิบไม่เน้นให้กระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นหลาย ๆ ตัว  เขาคิดว่าควร “ใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียวและเฝ้าดูให้ดี”  แบบเดียวกับวอเร็น  บัฟเฟตต์  ซึ่งแตกต่างจากเบน  เกรแฮมที่เน้นการกระจายถือหุ้นถูกจำนวนมาก ๆ ไว้ในพอร์ต  เลิบเห็นว่าการกระจายความเสี่ยงแบบนี้เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ยังมีฝีมือไม่พอ  แต่คนที่คิดจะรวยจากตลาดหุ้นนั้นต้องเล่นแบบเน้นลงทุนในหุ้นน้อยตัวด้วยเงินจำนวนมาก


              การเก็งกำไรทุกครั้งสำหรับเลิบแล้วจะต้องมีแผนหรือมีกลยุทธ์ชัดเจน  การเข้าหรือออกจากหุ้นแต่ละตัวจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ  เช่น  ถ้าลงทุนโดยเก็งว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วถ้าเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นก็ต้องขายหุ้นทิ้งไม่ใช่ปล่อยรอไปเรื่อย ๆ  หรือถ้าเก็งว่าจะประกาศปันผลออกมาดีและหุ้นจะขึ้น  เมื่อเหตุการณ์เกิดแล้วก็ต้องขายหุ้นทิ้งเป็นต้น


              ในความเห็นของเลิบ  การลงทุนนั้นเหมือนกับการทำสงครามที่นักลงทุนก็คือ “นักรบ”  ที่ต้องซื้อ ๆ ขาย ๆ ทำกำไรและเอาตัวรอดในยามวิกฤต  ความเสี่ยงต่อหายนะนั้นมีอยู่ตลอดเวลา  สำหรับเขาแล้ว  ตลาดหลักทรัพย์เป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  และบ่อยครั้งไร้ซึ่งเหตุผลซึ่งทำให้การวิเคราะห์บริษัทแบบของเบน เกรแฮม  นั้นไม่มีประโยชน์  เพราะมันเหมือนกับการเข้าไปตรวจสุขภาพทหารในสนามเพลาะในขณะที่ทั้งกระสุนและระเบิดกำลังถล่มเข้ามา  ชีพจรของทหารไม่ได้บอกว่าโอกาสของการอยู่รอดจะเป็นอย่างไร  และนี่คงเป็นที่มาของชื่อหนังสือที่แปลว่า “การยุทธเพื่อความอยู่รอดของการลงทุน”


               ในช่วงที่หนังสือของเลิบและของเบน เกรแฮมออกสู่ตลาดในปี  1934 – 35 นั้น  นักลงทุนในอเมริกาแบ่งออกเป็น  2  ค่ายคือ  คนที่ซื้อขายหุ้นระยะสั้นแบบเก็งกำไรที่น่าจะเป็นคนส่วนใหญ่  และพวกที่ซื้อและถือยาวแบบเบน เกรแฮมที่น่าจะเป็นคนส่วนน้อย  ณ วันนี้  กลุ่มที่เล่นหุ้นแบบถือยาวเติบโตขึ้นมาก  ในขณะที่เทรดเดอร์นั้นแทบจะหมดไปแล้วจากตลาดหุ้นสหรัฐ  หนังสือ The Battle for Investment Survival  เองก็หยุดพิมพ์มานานและนักลงทุนเลิกสนใจที่จะอ่านในขณะที่  The Intelligent Investor  ยังขายได้เรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเพราะเรื่องของภาษีที่เอื้อต่อคนถือหุ้นยาว  และประสบการณ์ของนักลงทุนที่ผ่านมายาวนานเกือบ  70  ปีของการซื้อขายหุ้น  คนอเมริกัน ณ วันนี้เชื่อกันว่า  การลงทุนที่ทำกำไรได้ดีที่สุดก็คือการถือหุ้นยาว  เขาต่างก็เห็นว่านั่นคือวิธีการที่ทำให้วอเร็น บัฟเฟตต์ทำเงินได้เป็นล้าน ๆ ดอลลาร์


               ในฐานะของ Value Investor แน่นอน  ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการลงทุนของเลิบ  ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดน่าจะทำผลตอบแทนที่ดีกว่าโดยการลงทุนแบบ Value Investment  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่รักการเก็งกำไรแล้ว  การศึกษาคัมภีร์เล่มนี้น่าจะเพิ่มโอกาสทำกำไรได้ดีกว่าการเล่นตาม ๆ กันไปโดยไม่ได้ศึกษาไบเบิลของศาสดา  แม้ว่าศาสนานี้กำลังถดถอยลงจนแทบไม่เหลือสาวกในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วอย่างในสหรัฐ

    จากคุณ : stoes - [ 2 มี.ค. 51 17:26:58 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom