ความคิดเห็นที่ 18
บทความจากโพสต์ ทูเดย์
ทฤษฎีสองสูง
โดย ดร.ชาติชัย พาราสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาติประกันชีวิต จำกัด
ก่อนอื่นผมต้องขอกราบเรียนว่าบทความวันนี้มิได้ตั้งใจที่จะเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์บุคคลท่านใดเป็นการส่วนตัว หรือต้องการเยาะเย้ยถากถางท่านผู้ใหญ่ว่ามิได้มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะการช่วยกันออกความเห็นเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม โดยเฉพาะจากผู้ใหญ่ ที่มีประสบการณ์โดยตรงในด้านธุรกิจการค้า
ผมเชื่อของผมเสมอมาว่าเก่งทฤษฎีแค่ไหนก็ไร้ความหมาย หากนำมาใช้ปฏิบัติไม่เป็น ดังนั้นการที่มีผู้ปฏิบัติออกมาให้ความเห็นทางด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ นักทฤษฎีอย่างผมต้องตั้งใจฟังและนำความเห็นหรือข้อแนะนำนั้นมาพิจารณาว่าเป็นไปได้ตามหลักเศรษฐศาสตร์และมีประโยชน์จริงต่อการวางนโยบายเศรษฐกิจหรือไม่
แน่นอนว่า ข้อแนะนำทางเศรษฐกิจที่ผมจะพูดถึงวันนี้คงจะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้นอกจาก "ทฤษฎีสองสูง" ของท่านธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ท่านได้กรุณาบรรยายในหัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย" เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทฤษฎีหรือแนวคิดของท่านมีหลักการง่ายๆ คือ ให้พืชผลเกษตรมีราคาสูง ซึ่งเมื่อชาวไร่ชาวนามีรายได้มากก็จะบริโภคสินค้าอื่น เช่น สินค้าอุตสาหกรรม ได้เพิ่มขึ้น เมื่อสินค้าขายดี เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายก็ร่ำรวยไปด้วย
นอกจากนั้น การที่เกษตรกรมีรายได้ดีและธุรกิจขายของได้เพิ่มขึ้น ย่อมจะนำไปสู่การลงทุนเพื่อทำการเกษตรและลงทุนขยายโรงงาน แบงก์เองก็ยินดีที่จะปล่อยกู้ เพราะการปล่อยกู้คนรวยนายแบงก์ที่ไหนก็ชอบ ภายใต้ทฤษฎีนี้ เศรษฐกิจจึงจะมีแต่รุ่งกับรุ่ง เพราะทั้งการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น
ปัญหามีอยู่นิดเดียวตรงที่เมื่อราคาสินค้าน้อยใหญ่ ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น (Demand Push) มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้คงที่จะทำอย่างไร วิธีแก้ไขก็ไม่ยากคือเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้นพอเพียงกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงเรียกทฤษฎีหรือแนวคิดนี้ว่า "สองสูง" คือ ทั้งราคาสินค้าสูงและเงินเดือนสูง
ดูเผินๆ แล้วทฤษฎีนี้ทำให้เกิด Win-Win Situation คือชาวนาก็รวย นักธุรกิจก็รวย มนุษย์เงินเดือนก็ไม่เดือดร้อน (อาจจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไปเพราะบริษัทที่ตนทำงานมีกำไรดีขึ้น) แม้แต่รัฐบาลยังรวยตามเขาไปด้วยเพราะเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่แท้จริงแล้วความคิดนี้ไม่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และเมื่อนำมาปฏิบัติจะเกิดผลลบมากกว่าผลดี
เหตุที่ทฤษฎีนี้ไม่ถูกต้องตามหลักเศรษฐ ศาสตร์เพราะมีการเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจวัดกันที่จำนวนเงิน หากสินค้าราคาแพงขึ้น ผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น ย่อมจะหมายความว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ที่ถูกต้องแล้วเศรษฐกิจวัดกันเชิงปริมาณคือปริมาณการผลิตหรือปริมาณการบริโภค เศรษฐ กิจที่ดีคือเศรษฐกิจที่ผลิต (บริโภค) ได้มากขึ้น
เมื่อเราพูดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดด้วยตัวเลข GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% หมายความว่าคนไทยเราบริโภคสินค้าได้เป็นปริมาณเพิ่มขึ้น 5% ไม่ใช่คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 5% รายได้ของคนไทยอาจจะไม่เพิ่มขึ้นเลยก็ได้ เช่น หากปีนั้นเกิดภาวะเงินฝืด รายได้ของประชาชนลดลง แต่ราคาสินค้าลดลงเร็วกว่ารายได้ ทำให้ประชาชนสามารถบริโภคได้เพิ่มขึ้น ก็ต้องนับว่าปีนั้นเศรษฐกิจดี
อย่าเพิ่งงงครับ ผมยกตัวอย่างให้เห็นจะดีกว่า
สมมติว่าบนเกาะแห่งหนึ่ง มีโรงงานผลิตอาหารอยู่โรงงานเดียวชื่อ โรงงานพีซีอาหารคน ทุกคนบนเกาะนี้เป็นลูกจ้างของโรงงานนี้หมด คนงานที่ทำงานที่นี่ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท คนงานเมื่อได้ค่าจ้างแล้วก็จะนำเงินไปซื้ออาหารกินจากโรงอาหารของโรงงานที่ราคาจานละ 20 บาท กล่าวคือกินได้วันละ 5 จาน
วันดีคืนดี ท่านประธานที่เป็นเจ้าของโรงงานมีปรารภว่า เพื่อให้โรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นจะขึ้นราคาอาหารเป็นจานละ 40 บาท เพราะตนเองเป็นผู้ผลิตอาหารรายเดียว จะขึ้นราคาอย่างไรก็ไม่มีใครขัดขวางได้ แน่นอนว่ารายได้ของโรงงานจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทันที ซึ่งท่านก็คิดว่ารวยขึ้นเพราะขายอาหารได้เป็นเม็ดเงินเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
แต่ในขณะเดียวกันท่านก็เห็นใจคนงานว่าต้องซื้ออาหารแพงขึ้น จึงได้ประกาศขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 200 บาท ปรากฏว่างานนี้ไม่มีใครมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลยครับ คนงานก็เหมือนเดิมคือทำงานทั้งวันสามารถนำรายได้ไปซื้ออาหารกินได้ 5 จานเหมือนเดิม ท่านประธานก็ไม่ดีขึ้น เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นต้องนำไปจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นหมด สิ่งที่เพิ่มในเกาะนี้มีอย่างเดียวคือตัวเลข
จากตัวอย่างของเศรษฐกิจปิดคือเศรษฐกิจที่ไม่มีการค้าขายกับภายนอก แนวความคิดของ "สองสูง" ไม่ได้ผลอย่างแน่นอน เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นต้องนำไปจ่ายค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภค (ในเชิงปริมาณ) ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อปริมาณการบริโภคไม่เพิ่มขึ้น การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตก็ไม่มีความจำเป็น เศรษฐกิจก็ย่ำอยู่กับที่ คือมีอัตราการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ 0%
แน่นอนว่าเศรษฐกิจของทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เป็นเศรษฐกิจเปิด มีการค้าขายกับประเทศอื่นอย่างเสรี ดังนั้นมีความเป็นไปได้ไหมว่าทฤษฎีสองสูงที่ว่าจะเป็นประโยชน์
อย่าลืมว่าแนวความคิดสองสูงช่วยให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้น ถึงแม้สินค้าที่ผลิตในประเทศจะแพงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรและจากค่าแรงที่สูงขึ้น สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศก็ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้คนไทยสามารถบริโภคสินค้านำเข้าได้มากขึ้น
คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ในระยะยาว เพราะในที่สุดเราจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนค่าจนถึงจุดที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าไม่ต่างกับราคาสินค้าภายในประเทศ ประโยชน์ (ชั่วคราว) จากแนวความคิดสองสูงก็จะหมดไป แต่ขอเตือนว่าในช่วงการปรับตัวอุตสาห กรรมส่งออกจะเจ๊งกันระนาวเพราะ (1) แรงงาน หายากและแพง เนื่องจากแรงงานเขากลับไปทำการเกษตร เพราะทำนาได้รายได้ดีกว่าทำงานโรงงาน (2) ต้นทุนการผลิตสูงทำให้ขายสินค้าไปต่างประเทศไม่ได้ นอกจากค่าแรงจะแพงแล้ว วัตถุดิบอะไรต่อมิอะไรในประเทศก็จะแพงไปหมด แหม ก็คนผลิตเขากินข้าวนี่ครับ เขาไม่ได้กินแกลบ เมื่อข้าวแพง น้ำมันพืชแพง หมูแพง ไก่แพง ไข่แพง วัตถุดิบที่เขาผลิตก็ต้องขึ้นราคา ไม่อยากบอกว่าในภาวะเช่นนี้ แม้แต่แกลบยังจะแพงเลย
เอ ถ้าหลักเศรษฐศาสตร์บอกว่าทฤษฎีสองสูงนี้ไม่ได้ผล เหตุใดราคาของพืชผลการเกษตรในบางประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป ถึงสูงกว่าบ้านเรามาก ทำให้เกษตรกรในบ้านเขามีรายได้มากกว่าเกษตรกรบ้านเราหลายเท่า ขอโทษนะครับ ที่บอกว่าราคาพืชผลการเกษตรสูงนี่เทียบกับอะไร เอาข้าวไทยมาเทียบกับข้าวญี่ปุ่นไม่ได้หรอก ลองเอาราคาข้าวไปเทียบกับราคาก๋วยเตี๋ยว (หรือ บะหมี่) ที่ขายอยู่ข้างทางของทั้ง 2 ประเทศ แล้วจะเข้าใจแจ่มแจ้ง ก๋วยเตี๋ยวบ้านเราที่ทำจากข้าวราคาชามละ 25 บาท บะหมี่โซบะที่ทำจากข้าวเหมือนกันราคาชามละ 600 เยน (ใส่ไข่เพิ่มจะกลายเป็น 700 เยน ถ้าพิเศษจะกลายเป็น 800 เยนเลยพี่) หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 180 บาท ดูแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าชาวนาญี่ปุ่นต้องมีรายได้มากกว่าชาวนาไทย 7 เท่าถึงจะมีชีวิตอยู่รอดที่นั่น
ดังนั้น เพื่อที่จะให้ชาวนาของเขาไม่สูญพันธุ์ ญี่ปุ่นจึงต้องกีดกันไม่ให้ข้าวจากประเทศอื่นเข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นมิใช่ผลของทฤษฎีสองสูง แต่เป็นเพราะค่าครองชีพในเมืองที่สูง จึงดันให้ราคาพืชผลการเกษตรสูงตาม จะเรียกว่าทฤษฎี "สูงเมืองดันสูงชนบท" ก็น่าจะได้ ชาวนาญี่ปุ่นมีรายได้ดีอย่างไร ก็มีรายได้ต่ำกว่าคนทำงานโรงงานพอสมควร เพราะหากชาวนาญี่ปุ่นรวยจริงจากราคาพืชผลที่สูง หนุ่มๆ สาวๆ ลูกหลานชาวนาของเขาคงไม่หนีไปทำงานตามโรงงานในเมืองหมดหรอก ปล่อยคนชราอยู่บ้านทำนา ชาวนาญี่ปุ่นจะรวยได้ก็ต่อเมื่อขายที่นาให้เขาสร้างบ้านสร้างโรงงาน เท่านั้นแหละครับ (เอ เหมือนบ้านเราเปี๊ยบเลย)
หากจะถามต่อว่าเหตุใดเศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงอยู่ได้ทั้งๆ ที่ราคาสินค้าเกษตรแพง คำตอบคือ ก็ค่าแรงเขาแพงกว่า (นะซิโว้ย) คนจบปริญญาตรี ที่เพิ่งเริ่มทำงานของเขาได้เงินเดือนเดือนละประมาณ 7 หมื่น ถึง 1 แสนบาท ราคาข้าวกิโลละเท่าไหร่ก็ซื้อได้ ส่วนของเราจบมาได้เงินเดือน 7,000 ถึง 1 หมื่นบาท
ดังนั้น ไม่ใช่แค่ว่าชาวนาไทยจนกว่าชาวนาญี่ปุ่น แรงงานไทยก็จนกว่าแรงงานญี่ปุ่นเหมือนกัน สรุปแล้วหากอยากจะช่วยชาวนา ต้องช่วยภาคอุตสาหกรรมก่อน เมื่อภาคอุตสาหกรรมรวยแล้ว ชาวนาก็รวยตาม ที่ไหนในโลกก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละครับ ยุโรปก็เป็นอย่างนี้ อเมริกาก็เป็นอย่างนี้ แม้แต่ไต้หวันก็เป็นอย่างนี้
ทฤษฎี "สองสูง" เป็นแนวความคิดที่น่าสนใจและควรค่าที่จะถกทางวิชาการ แต่เมื่อถกแล้วจะพบว่าแนวความคิดนี้เป็นไปไม่ได้ในแง่ทฤษฎีและมีจุดด้อยในทางปฏิบัติมาก ด้วยเป็นทฤษฎีที่ฝืนกลไกตลาด มันมีเหตุผลที่ดีว่าเหตุใดค่าหมอจึงแพงกว่าค่าจ้างคนรับใช้ในบ้าน เหตุผลเป็นเพราะใครๆ ก็ทำงานบ้านได้ แต่การเป็นแพทย์รักษาคนมันยาก และเมื่อใดที่คนรับใช้ได้เงินเดือนเท่ากับแพทย์ วันนั้นคณะแพทย์ศาสตร์ก็จะไม่มีใครเรียน ด้วยจะร่ำเรียนให้เหนื่อยทำไม ไปเป็นคนใช้เขาดีกว่า เห็นไหมครับว่าตลาดตัดสินใจให้หมด และตัดสินถูกต้องด้วยว่าสินค้าอะไรควรมีราคาเท่าใด
สรุปแล้ว ในโลกนี้ไม่มีอะไรจะประเสริฐกว่ากลไกการตลาดแล้ว
จากคุณ :
ดาบผ่าลม
- [
6 มิ.ย. 51 14:35:52
]
|
|
|