Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ทำความรู้จัก "ซูเปอร์คลาส" คลับคนรวย ครอบโลก "มือที่มองไม่เห็น" แห่งศตวรรษที่ 21

    ทำความรู้จัก "ซูเปอร์คลาส" คลับคนรวย ครอบโลก "มือที่มองไม่เห็น" แห่งศตวรรษที่ 21



    คำถามที่มักจะได้ยินบ่อยช่วงเดือนสองเดือนนี้ คือ ใครควบคุมโลก จริงหรือที่คนไม่กี่พันคนสามารถกำหนดความเป็นไปของโลกเอาไว้ในมือ

    ที่มาของคำถามทำนองนี้ ดังขึ้นหลังจากที่ "เดวิด รอธคอปฟ์" อดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ ที่สามารถเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลากแง่มุมได้มากอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อต้นเดือนเมษายน

    Superclass : The Global Power Elite and the World They Are Making

    ความฮือฮามาจาก "หัวใจ" ของ ซูเปอร์คลาส ตีแผ่อำนาจบารมีของ กลุ่มคนจำนวนหนึ่งประมาณ 6,000 คน ที่มากล้นจนสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินในแต่ละวัน ของหลายประเทศ หลายรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์หลายล้านคนทั่วโลก

    นิตยสารดังหลายฉบับของโลก หยิบเอาหนังสือของรอธคอปฟ์ มาขยายความ อาทิ ในนิวส์วีก ฉบับ 14 เมษายน 2551 เรื่อง "No one to rein the super rich superclass" หรือ ใน ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับ 24 เมษายน 2551 เรื่อง "The global ruling class : Billion-dollar babies"

    จุดร่วมของหลายบทความพุ่งไปที่ประเด็นที่ว่า "ยอดคนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดบนโลกใบนี้ ไม่เคยลงเลือกตั้ง แต่กลับมีส่วนช่วยสร้างระบบ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียม ทั้งในแง่ช่องว่าง รายได้ และการกระจายอำนาจทั่วโลก"

    พวกเขาทำได้อย่างไร !!

    รอธคอปฟ์ลำดับภาพ และสาเหตุที่ทำให้อำนาจรวมศูนย์ในมือของ "คนส่วนน้อย" แต่ร่ำรวยมหาศาล เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะลดลงเลย ระหว่างให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง โดยย้อนอดีตกลับไปที่หนังสือของ ซี ไรต์ มิลล์ส ซึ่งเขียนขึ้นในยุค 50 ว่า งบประมาณด้านการทหารของสหรัฐมีมูลค่ามากกว่ายอดขายของบริษัทขนาดใหญ่สุดของประเทศรวมกัน แต่ปัจจุบันงบประมาณด้านการทหารน้อยกว่ายอดขายในแต่ละปีของเอ็กซ์ซอน และ วอล-มาร์ต กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สุดของประเทศ 2 รายแรก ถึง 50%

    นั่นหมายความว่าขนาดของกลุ่มทุน อเมริกาขยายใหญ่กว่าเดิมมากมาย

    ขยับมาที่ยุค 60 บริษัทข้ามชาติแต่ละราย โดยเฉลี่ยจะมีบริษัทลูกไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติมีบริษัทในเครือประมาณ 10,000 แห่ง รอธคอปฟ์คำนวณให้เห็นความยิ่งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่สุดของโลก โดยประเมินคร่าวๆ ว่า ยอดขายในแต่ละปีของเอ็กซ์ซอนมีขนาดใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของประเทศสวีเดน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขนาดใหญ่สุดลำดับที่ 9 ของโลก

    ปัจจุบันบริษัทชั้นนำ 250 อันดับแรกของโลก มียอดขายรวมกันเท่ากับ 1 ใน 3 ของมูลค่าจีดีพีโลก ขณะที่บริษัทชั้นนำ 2,000 รายทั่วโลก มีพนักงานรวมกันประมาณ 70 ล้านคน หมายความว่าพวกเขาอาจจะมีจำนวนสูงถึง 500 ล้านคน หากนับรวมถึงคนใกล้ชิดของพนักงานเหล่านั้นด้วย

    จำนวนสาขา มูลค่ายอดขาย ขุมข่ายพนักงาน และคนงาน

    ระดับล่าง ยิ่งหากรวมเอาซัพพลายเออร์และผู้จัดจำหน่ายเข้ามาคำนวณด้วย แน่นอนว่าจะมีคนเกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นเป็นพันล้านคน

    นี่คือความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่สุดของโลก และอิทธิพลที่พวกนี้มีต่อโลก ความสัมพันธ์และอิทธิพลจะกระทบต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมากทันที ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ 2,000 บริษัท ตัดสินใจใดๆ ในทิศทางบริษัท จะมีผลเปลี่ยนแปลงมาถึงการดำเนินชีวิตของเป็นพันล้านคนด้วย



    "มือที่มองไม่เห็น" ของซูเปอร์คลาส

    ประชากรโลกมีทั้งสิ้น 6 พันล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 3 พันล้านคนมีรายได้ เลี้ยงชีพต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่อีก 2 พันล้านคนมีงานที่ดีทำ และครึ่งหนึ่งของคนจำนวนดังกล่าวทำงานให้กับบริษัทขนาดใหญ่ของโลก 2,000 แห่ง

    นักเขียนท่านนี้เปลี่ยนประเด็นมาที่ศูนย์รวมของอำนาจ โดยระบุว่า คนที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ คนที่อยู่บนยอดสุดของพีระมิด แตกต่างกันไปตามโครงสร้างบริษัท

    อำนาจของคนเหล่านี้อยู่ตรงไหน รอธคอปฟ์แนะให้ดูผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับ ซึ่งมักจะผูกติดอยู่กับราคาหุ้น

    คิดว่าอะไรมีอิทธิพลต่อราคาหุ้น "เฉพาะกองทุนเฮดจ์ฟันด์กลุ่มเดียวก็มีอิทธิพลมากโขอยู่ เพราะกองทุนเหล่านี้ควบคุมการซื้อขายหุ้นไว้ในมือ ประมาณ 30-50% ของการซื้อขายในตลาดหุ้นแต่ละวัน"

    ปัจจุบันมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ประมาณ 10,000 ราย ในจำนวนนั้น 300 กองทุนควบคุมสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมไว้ 85% ขณะที่กองทุนใหญ่สุด 100 กองทุนแรกควบคุมสินทรัพย์ไว้ในมือ 60%

    ในแง่ของอำนาจ รอธคอปฟ์บอก ว่า มีการรวมศูนย์อยู่ในองค์กรเช่นกัน โดยเขายกตัวอย่าง บริษัทขนาดใหญ่สุด5 อันดับแรกของโลก จะพบว่าซีอีโอและ คณะกรรมการบริหารของบริษัทเหล่านั้น มี 70 คนที่นั่งเป็นกรรมการบอร์ดของบริษัทอื่นๆ อีก 150 แห่ง ซึ่งครอบคลุม 1 ใน 3 ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก 500 อันดับแรก และในมหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบ 25 แห่ง

    ลองต่อจิ๊กซอว์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เครือข่ายเล็กๆ ของกลุ่มคนเหล่านี้เชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ของบริษัท ที่แผ่ขยายไปยังบริษัทในเครืออย่างมากมาย ของบริษัท ชั้นนำรายอื่นๆ และสุดท้ายย่อมหมายถึง ว่า พวกเขาสามารถสัมผัสได้ถึงส่วนอื่นๆ อีกมากมายของโลกด้วย

    อำนาจเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบได้ทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของ ซูเปอร์คลาส รอธคอปฟ์เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น เมื่อนำเอาอาณาจักรของเอ็กซ์ซอนมาเทียบกับสวีเดน

    เอ็กซ์ซอนมีการดำเนินการใน 180 ประเทศทั่วโลก ขณะที่สวีเดน ซึ่งมีขนาดทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน มีสถานเอกอัครราช ทูตประจำประเทศต่างๆ 80 ประเทศ มื่อสวีเดนโหวตรับรองข้อตกลงเกียวโต ในทางกลับกัน เอ็กซ์ซอนก็มีศักยภาพมากพอที่จะคว่ำข้อตกลงดังกล่าว

    นี่คืออำนาจในตัวเองรูปแบบหนึ่งของซูเปอร์คลาส

    อำนาจที่รัฐบาลทำไม่ได้

    ยิ่งกว่านั้น ซูเปอร์คลาสยังมีอำนาจบางอย่างที่ประเทศ หรือรัฐบาลของประเทศนั้นไม่มี อำนาจของแต่ละประเทศมักจะถูกจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะในพรมแดนของตัวเอง พอออกมานอกดินแดน อำนาจก็อาจจะไร้ผล หรือไม่มีเลย ทำให้รัฐบาลของบางประเทศมีปัญหาในการแก้ไขประเด็นข้ามชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้

    แตกต่างจากอำนาจของซูเปอร์คลาส ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ วิกฤตสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ใครคือคนที่มีอำนาจมากที่สุดในการปลดชนวนวิกฤต

    ในบทสนทนาของรอธคอปฟ์ อำนาจในการจัดการกลับไม่ได้อยู่ที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก ดังที่หลายคนคิด ทิม เกธเนอร์ เพียงแต่เป็นคนกลาง เชื้อเชิญให้ผู้บริหารของสถาบันการเงินขนาดใหญ่สุดของประเทศ 14 แห่งมาร่วมประชุม เขาจัดหาห้องประชุมให้ แล้วปล่อยให้ 14 ผู้บริหารหารือกัน ซึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตครั้งนั้น ย่อมเป็นคนที่มีอิทธิพลสูงสุดใน 14 คน



    ใน 14 คน มีลอยด์ แบลงก์เฟน ซีอีโอของโกลด์แมน แซกส์ รวมอยู่ด้วย

    ลองนึกถึงปูมหลังของโกลด์แมน แซกส์ แล้วจะมองเห็นจิ๊กซอว์ของโครงสร้างอำนาจบางประการ ที่หากไม่ต่อภาพแทบจะมองไม่เห็นจุดเชื่อมของอำนาจเลยแม้แต่น้อย

    ปัจจุบันอดีตซีอีโอของโกลด์แมน แซกส์ 4 คน ก่อนหน้าแบลงก์เฟน มี 2 คนในจำนวนนั้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง ได้แก่ โรเบิร์ต รูบิน (อดีตรัฐมนตรี) และ แฮงก์ พอลสัน รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน ขณะที่อีก 2 คนเคยนั่งคุมสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ คือ รูบิน และ สตีฟ ฟรีดแมน ขณะที่อีกคน เป็นผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์

    ผู้บริหารอีกคนที่มาอยู่กับโกลด์แมน แซกส์ เพียงช่วงสั้นๆ แต่มีอิทธิพลและบทบาทสูงมาก ในเวลานี้คือ โรเบิร์ต เซลลิค ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน

    สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเครือข่ายอำนาจใกล้ชิดการเมืองอยู่แค่ในสหรัฐ โจนาธาน เพาเวลล์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยของโทนี แบลร์ ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาของมอร์แกน สแตนเลย์

    อิทธิพลเหนือการเมือง

    บางแง่มุมที่น่าเป็นห่วงในอิทธิพลของซูเปอร์คลาส คือ อิทธิพลที่มีเหนือ นักการเมือง กลุ่มทุนซูเปอร์คลาสได้ทุ่มเทเงินทอง เพื่อล็อบบี้ให้พวกเขามีอิสระทางด้านการเงิน เป็นอิสระจากการกำกับดูแลของรัฐ

    ตัวอย่างของอิทธิพลเหนือการเมืองของซูเปอร์คลาส เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ กำลังหารือเร่งด่วนกับ อลิสแตร์ ดาร์ลิง เพื่อปรับปรุงกฎหมายภาษีนิติบุคคล หลังจากบริษัทจำนวนหนึ่งได้เริ่มย้ายฐานไปที่ไอร์แลนด์ เพื่อแลกกับการจ่ายภาษีน้อยลง ถือเป็นพฤติกรรมปกติที่ซูเปอร์คลาสใช้ในการบริหารอิทธิพลและอำนาจของพวกเขา เพื่อบีบให้รัฐบาลในประเทศของตนยอมตามสิ่งที่เรียกร้อง

    วิธีการทำนองนี้ ทำให้ซูเปอร์คลาสเป็นกลุ่มเดียวกับซูเปอร์ริช ในจำนวนนั้น คือ 1,100 มหาเศรษฐีพันล้าน ที่มีความเชื่อมั่นและอิทธิพลระดับสุดยอดของโลก

    จากคุณ : d.hunt - [ 15 มิ.ย. 51 15:04:44 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom