Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    รีวิวหนังสือ: The Coming Economic Collapse: How You Can Thrive When Oil Cost $200 aBarrel.

    วันเสาร์ที่แล้วผมไปเดินดูหนังสือเพื่อซื้อไปให้ครบๆจะได้ต่ออายุสมาชิกฟรี ตอนแรกก็ว่าจะหาหนังสือเรื่อง Superclass: The global powet elite and the world they are making แต่หาไม่เจอ เลยไปด้อมๆมองๆแถวมุมหนังสือเศรษฐศาสตร์เผื่อมีเล่มไหนที่นี่สนใจ (ผมไม่ชอบหนังสือประเภท Get rich Quick หรือพวกตำราหุ้นเท่าไหร่นัก) ตอนแรกก็จับเรื่องการล่มสลายของเศรษฐกิจอเมริกาแต่มันหนาไปหน่อย แล้วเล่มนี้มันอยู่ติดกันแถมชื่อก็น่าสนใจดี เลยหยิบมาเปิดๆดูเล่นซะหน่อยไม่ได้กะซื้อหรอกครับ เพราะนึกว่าเป็นหนังสือตามกระแสน้ำมันแพงธรรมดา แต่ที่เตะตาผมคือ คำโปรยในปกใน
    "In his 1986 book, Getting in on the Ground Floor, Dr. Leeb prophesied the great bull market of the 1990s. In his 1999 book, Defying the Market, he warned investors of the coming collapse in technology shares. And in February 2004, when crude oil cost under $33 a barrel, Dr. Leeb's book The Oil Factor predicted soaring energy prices were just around the corner. "

    ทำให้ผมกลับมาดูวันที่พิมพ์หนังสืออีกครั้ง หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ปี 2006 ครับ ซึ่งราคาน้ำมันในตอนนั้นอยู่ที่ราวๆ 60US$ เท่านั้นเอง นั่นทำให้ผมตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ทันที ... ถึงแพงก็ต้องกัดฟันมันเป็นกรรมของคนชอบอ่านหนังสือครับ อย่างอื่นประหยัดได้แต่เจอหนังสือที่อยากได้ส่วนใหญ่มักต้านทานไม่ค่อยอยู่ สรุปคือผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบในเวลาอันรวดเร็ว(ก็มันบางอ่ะ 212 หน้าเอง) แต่คุ้มครับ กับสนนราคาหน้าละสี่บาทกว่าๆ และไหนๆก็อ่านมาแล้วก็จะลองเอาเรื่องที่เขาเขียนมาแบ่งปันกันบ้าง เผื่อใครจะมีมุมมองอื่นๆที่ผมอาจจะนึกไม่ถึงในการอ่านหนังสือเล่มนี้

    ภาพรวมของหนังสือ
    ก็ตามชื่อครับ คือ 1)เขาทำนายว่าน้ำมันจะพุ่งขึ้นถึง 200 $ ในช่วงประมาณสิ้นทศวรรษนี้ ก็อีกไม่ถึงสองปีดีดัก และ2)ขู่เอาไว้ว่าถ้า(อเมริกา)ไม่เตรียมตัวรับปัญหาแต่เนิ่นๆเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งอารยธรรมอาจจะล่มสลายได้  สุดท้าย 3)เขาบอกว่าถ้ารัฐบาลชักช้าแก้ปัญหาไม่ทันการ เราควรจะป้องกันตัวเอง (และความมั่งคั่งของตัวเอง) ยังไงดี

    น้ำมันแพงเพราะอะไร
    เขาบอกว่ามันมีปัจจัยทั้งสองด้านคือทั้งด้าน Demand และ Supply ครับ
    ปัจจัยด้าน Demand
    นั่นคือคือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ Chindia (China + India) เขาประมาณเอาไว้ว่า ถ้าทั้งสองประเทศนี้จะใช้น้ำมันต่อหัวเท่าประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันในระยะเวลายี่สิบปี โลกจะมีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นปีละ 5% หรือเท่ากับ 2.65 เท่า นี่คือความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอื่นไม่เพิ่มขึ้นเลยนะครับ รวมทั้งประชากรโลกคงที่ด้วย ถ้าเรานับประเทศอื่นอย่างบราซิล อาร์เจนตินา หรือยุโรปตะวันออก รวมทั้งประเทศแถบ SEA ตัวเลขมันจะกระฉูดไปเท่าไหร่ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ความต้องการน้ำมันปี 2006 เท่ากับ 86 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถ้าคูณเข้าไปก็จะอยู่ที่ 228 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2026!!!!!!!!!!!!

    ปัจจัยด้าน Supply
    ความต้องการมันเพิ่มขึ้นทุกปีแต่กำลังการผลิตมันไม่ได้เพิ่มตามเร็วขนาดนั้นน่ะสิครับ เรามาดูเหตุผลกัน ในช่วงทศวรรษ 1950 นักธรนีวิทยาชื่อ M.King Hubbert สังเกตพบว่าเมื่อเราสูบน้ำมันมาใช้ถึงครึ่งบ่อแล้ว ผลผลิตมันจะลดลง ยกตัวอย่างบ่อน้ำมันมีน้ำมันอยู่ 10000 ล้าน บาร์เรล สมมติให้เราสูบได้วันละ 1 ล้านบาร์เรล แต่เมื่อน้ำมันลดลงเหลือ 5000 ล้านบาร์เรล เราจะสูบได้น้อยลงเรื่อยๆ อาจจะเหลือแค่วันละ 7 แสน และยิ่งน้ำมันเหลือน้อยยิ่งสูบได้ยาก และเขาประมาณว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของอเมริกาจะเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วง 1970' หลังจากนั้นจะเริ่มตกต่ำ ซึ่งมันก็เป็นไปตามที่เขาคาด  จากการประมาณการกำลังการผลิตสูงสุดของโลกส่วนใหญ่จะให้ 2010 คือปีที่โลกมีกำลังการผลิตสูงสุดและจะตกลงเรื่อยๆหลังจากนั้นก็จะลดลง http://en.wikipedia.org/wiki/Image:PU200611_Fig1.png
    ในเมื่อบ่อเก่ากำลังหมด แล้วบ่อใหม่ล่ะ?
    ตั้งแต่ปี 1962 เป็นต้นมา การค้นพบทุ่งน้ำมันขนาดใหญ่ก็ลดลงเรื่อยๆ ..... แปลง่ายๆคือของที่มันพบง่ายๆเราพบไปหมดแล้ว เหลือแต่ปลาซิวปลาสร้อยเท่านั้นเอง ตัวเลขที่น่าสนใจคือ oil Field ขนาดใหญ่ 1% ของ Oil Field ทั่วโลก ผลิตน้ำมัน 75% ของที่เราใช้กัน และถ้าเราขยายตัวเลขเป็น 3% ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เป็น 95% นั่นหมายความว่าน้ำมันที่เราใช้ๆกันเกือบทั้งโลก มาจาก Oil Field ใหญ่ๆไม่กี่แห่ง(3%)เท่านั้นเอง ถ้ามันหมดไปตามคำทำนายของ Hubbert ล่ะ?
    *ทั่วโลกมี Oil Field ประมาณ 40000 แห่ง ดังนั้นน้ำมัน 95% ของโลกนี้มาจาก Oil Field ประมาณ 1200 แห่งเท่านั้น

    ถ้าน้ำมันแพงขนาดนั้นอะไรจะเกิดขึ้น?
    เขาเสนอว่าเป็นไปได้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคืออารยธรรมจะล่มสลายไป!!! เขาพาเราย้อนไปดูการล่มสลายของอารยธรรมหลายๆอารยธรรมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากทรัพยากรที่ใช้อยู่หมดไปโดยไม่มีการเตรียมตัวทั้งนั้น อย่างเช่นโรมัน อารยธรรมโรมันเกิดจากการปล้น!! ใช่ครับโรมันแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรของตัวเองด้วยการทำสงครามปล้นชิงเอาจากดินแดนรอบข้าง เพื่อเอาทรัพย์สมบัติและแรงงานทาสมาใช้ ดังนั้นอาณาจักรโรมันจึงมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โต แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่ใหญ่เกินไป มันก็เริ่มไม่คุ้มกับการสร้างและบำรุงรักษากำลังทหาร ในที่สุดอาณาจักรโรมันก็พ่ายให้แก่พวก Barbarian ไป เพราะไม่สามารถหาทรัพยากรเพียงพอที่จะมาป้องกันอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของตนเองได้นั่นเอง
    ตัวอย่างต่อมาคือเกาะอีสเตอร์ ที่ทุกคนคงคุ้นกันดีจากเจ้าหินแกะสลักรูปหน้าคนโมอาย การล่มสลายของอารยธรรมเกาะอีสเตอร์ก็เนื่องจากเจ้าโมอายนี่เอง เพราะในการเคลื่อนย้ายและติดตั้งเจ้านี่มันต้องใช้ต้นไม้ ผู้นำแต่ละรุ่นต่างก็แข่งกันสร้างให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งต้นไม้หมดเกาะกลายเป็นเกาะหัวโล้น ผลผลิตอาหารลดฮวบฮาบเพราะไม่มีผลไม้ให้เก็บ ไม่มีไม้ไปสร้างเรือจับปลา ดินเลื่อมลงเพราะการกัดกร่อนเนื่องจากไม่มีอะไรคลุมดิน
    แล้วมีอารยธรรมไหนบ้างที่รอดพ้นจากเรื่องพวกนี้?
    มีครับ ทางรอดจากวิกฤตการนี้มีสามทาง ทางแรกคือ Zero Growth ในเมื่อไม่สามารถหาทรัพยากรเพิ่มเติมได้ ก็ต้องจำกัดการใช้ให้อยู่ในขอบเขตที่สามารถสร้างเพิ่มได้ ตัวอย่างก็เช่นญี่ปุ่นช่วงปี 1650 ที่ประสบปัญหาด้านอาหาร เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ก็ผ่านช่วงวิกฤตมาได้ด้วยการบริหารการตัดไม้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งควบคุมจำนวนประชากรให้คงที่ หรืออย่างชาวเกาะ Tikopia ที่มีการควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เกินกำลังที่ธรรมชาติจะรองรับได้
    ทางที่สองคือลดความซับซ้อนลง อย่างเช่นที่รัสเซียแตกเป็นประเทศเล็กๆน้อยๆหลายๆประเทศ เพราะเขาไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะบำรุงรักษาระบบที่จะรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน
    ทางที่สามคือหาพลังงานแบบใหม่มาแทนที่พลังงานแบบเก่า อย่างที่อังกฤษเปลี่ยนจากการใช้ฟืนมาเป็นถ่านหินแทน

    ถ้าวิกฤตมันใกล้ขนาดนี้แล้วทำไมคนเราถึงไม่เห็นกัน หรือไม่ค่อยเห็นทางข่าวเลย
    ในยุค 1950' นักจิตวิทยาชื่อ Solomon Asch http://en.wikipedia.org/wiki/Solomon_Asch ได้ทำการทดลองที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ คือให้คนกลุ่มหนึ่งดูเส้นบนแผนกระดาษ จากนั้นมีคำตอบให้เลือกสามอันว่าอันไหนยาวเท่ากับตัวอย่าง ในแต่ละกลุ่มจะทดสอบสามครั้งโดยสองครั้งแรกจะเป็นการทดลอง ครั้งที่สามจะเป็นของจริง ทริกมีอยู่ว่าในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีคนเดียวที่เขาไม่ได้เตี๊ยมเอาไว้ ในสองรอบแรกเขาเตี๊ยมกันว่าให้ตอบคำตอบที่ถูก แต่ในรอบสุดท้ายให้ทุกคนเลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันหมดทุกคน เพื่อดูว่าคนๆเดียวที่เหลืออยู่นั้นจะเลือกตอบคำตอบที่ถูกต้องหรือเลือกตอบตามคนส่วนใหญ่ .... 12 จาก 18 คน เลือกตอบตามคนส่วนใหญ่ ทั้งๆที่คำตอบมันเห็นชัดๆว่าผิดแต่เขาก็เลือกตอบตามคนส่วนใหญ่ นี่แสดงให้เห็นว่าบางทีคนเราก็เลือกที่จะไหลตามคนส่วนใหญ่โดยไม่ยอมเชื่อตัวเอง
    ถัดมาอีกในปี 1961 Milgram ก็ได้ทำการทดลองเพื่อดูว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่คนเราจะเชื่อฟัง "ผู้มีอำนาจ" จนไม่ลืมหูลืมตา ผลของมันก็คงจะเดากันได้นะครับ ....คนส่วนใหญ่เชื่อผู้มีอำนาจอย่างไม่ลืมหูลืมตาทีเดียว http://en.wikipedia.org/wiki/Milgram_experiment
    Leeb (คนเขียนหนังสือเล่มนี้) เสนอว่าทั้งสองอย่างนี้คือสิ่งที่ทำให้วิกฤตน้ำมันไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร กล่าวคือ ผู้นำไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มเชื่อผู้มีอำนาจ และคนส่วนใหญ่เช่นกันก็ไหลไปตามน้ำ ถ้ากลุ่มผู้มีอำนาจสูงสุดไม่ขยับก็จะไม่มีใครสนใจเรื่องที่มันขัดกับกระแสของคนส่วนใหญ่

    การปรับตัวของโลกเมื่อน้ำมันแพง
    ตรงนี้เขาให้ Scenario ไว้หลายทาง แต่ทุกทางเริ่มต้นที่น้ำมันจะขึ้นไปแตะ 200US$ ทั้งนั้น ผมเอาสองทางใหญ่ๆมาให้ดูกันนะครับ
    ผลที่เกิดจากน้ำมันราคาแพงคือเกิด Stagflation สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าจะเลือกแก้ปัญหาทางไหน
    ถ้ารัฐบาลเลือกคุมเงินเฟ้อ ถ้าเดินผิดนิดเดียวสิ่งที่จะเกิดคือเศรษฐกิจถดถอย ถ้าเดินถูกก็อาจจะเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ
    ถ้ารัฐบาลเลือกกระตุ้นเศรษฐกิจ เราอาจจะได้เห็นเงินเฟ้อระดับเลขสองหลัก

    การลงทุนในภาวะน้ำมันแพง
    เขาเปรียบเทียบวิกฤตน้ำมันคราวนี้กับอันที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1970 แล้วเสนออย่างนี้ครับ
    การลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยง
    1. เงินสด - โดนเงินเฟ้อกินหมด (-10.5%)
    2. พันธบัตร  - โดนเงินเฟ้อกินดอกหมดเหมือนกัน (-17.5%)
    3. หุ้น - หุ้นดัชนี เพราะช่วงเศรษฐกิจไม่ดี P/E จะตกลง ช่วงปี 1970 index ลดลงกว่า 14%
    กลุ่ม Cosmatic (-45.6%)
    กลุ่ม Food (-6.0%)
    กลุ่ม Retail Store (-34.0%)
    กลุ่ม Airline (-37.0%)
    กลุ่ม Autos (-55.0%)
    กลุ่ม Chemical (-47.3%)
    กลุ่ม Small cap (-50.9%)

    การลงทุนที่น่าสนใจ
    ทองคำ - ต้านเงินเฟ้อ
    น้ำมัน - น้ำมัน 200$ คงไม่ต้องถามนะครับว่าทำไม
    อสังหาริมทรัพย์ - เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะลดภาระหนี้ลง การลงทุนอสังหาจะคล่องตัวขึ้น
    จีน+อินเดีย - กลุ่มที่ยังโตขึ้นได้อีกแม้ในช่วงตกต่ำ
    พลังงานทางเลือก - ก๊าซ(LPG) ลม นิวเคลียร์

    The Coming Economic Collapse: How You Can Thrive When Oil Costs $200 a Barrel
    by Stephen Leeb (Author), Glen Strathy (Author)

     
     

    จากคุณ : Nexus - [ 28 มิ.ย. 51 21:56:20 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom