Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ค่าการกลั่นคืออะไร (เอาบทความมาฝากค่ะ)

    http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0723302&issue=2330

    ค่าการกลั่นคืออะไร  

    ระยะนี้มีการพูดถึงค่าการกลั่นกันเยอะมาก ทำให้ผมถูกถามบ่อยๆ ว่า "ค่าการกลั่น" คืออะไร กล่าวโดยสรุปและเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องเอาเรื่องเทคนิคการกลั่นหรือวิชาเศรษฐศาสตร์การกลั่นน้ำมันมาคิดให้ยุ่งยาก

    ค่าการกลั่น (Gross Refining Margin-GRM) ก็คือส่วนต่าง (Spread) ระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น (Ex.Refinery Price) กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นซื้อมาเป็นวัตถุดิบในการกลั่นนั่นเอง

    ถ้าเปรียบโรงกลั่นน้ำมันเป็นเหมือนกับโรงงานผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง ค่าการกลั่นก็เหมือนกับกำไรของสินค้าชนิดนั้นก่อนหักค่าใช้จ่ายในการผลิตนั่นเอง เปรียบเป็นสมการได้ดังนี้

    โรงงาน A ผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของสินค้าชนิดนั้นก็คือราคาขายส่งสินค้าหน้าโรงงาน-ต้นทุนวัตถุดิบ = กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย

    ถ้าเป็นโรงกลั่นน้ำมัน ค่าการกลั่นก็คือ ราคาขายส่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น - ราคาน้ำมันดิบ = กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย

    ค่าการกลั่นนี้เป็นกำไรเบื้องต้น ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่างๆในการกลั่น เช่น ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่นน้ำมัน ค่าเงินเดือนพนักงาน/ลูกจ้าง ค่าเสื่อมราคาของโรงงานที่ลงทุนไปเป็นแสนล้าน ค่าดอกเบี้ย ค่าวัสดุที่ใช้ในการกลั่น ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น ค่าสารเคมีและสารเพิ่มคุณภาพต่างๆที่ใช้ในกระบวนการกลั่น ดังนี้เป็นต้น

    ฟังดูก็ง่ายๆใช่ไหมครับ ไม่น่าจะซับซ้อนอะไร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆก็คือ มีความเข้าใจผิด หรือ จงใจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าค่าการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในประเทศไทยสูงเกินจริง

    เข้าใจผิดอย่างไรต้องอธิบายถึงกระบวนการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นดังนี้ครับ

    เวลาเราซื้อน้ำมันดิบมาป้อนเข้ากระบวนการกลั่นของโรงกลั่น น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล (ประมาณ 159 ลิตร) จะกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้หลายชนิด ไล่มาตั้งแต่ก๊าซหุงต้ม (LPG) น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และยางมะตอย (Asphalt)

    ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีราคาแตกต่างกัน เช่น เบนซิน ราคา 130-150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดีเซล ราคา 150-170 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเตาราคา 70-110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนี้เป็นต้น

    ดังนั้นเวลาคำนวณค่าการกลั่นเราต้องเอาราคาน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดมาหาส่วนต่างกับน้ำมันดิบ จึงจะรู้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดมีกำไร/ขาดทุนเท่าไร

    สมมติว่าเราเอาราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เป็นมาตรฐานในการคิด (ซึ่งจริงๆโรงกลั่นในประเทศไทยอาจไม่ได้ใช้น้ำมันชนิดนี้ก็ได้) แต่เป็นน้ำมันดิบที่ใช้อ้างอิงในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเราถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด

    ถ้าเราใช้ราคาน้ำมันดิบ Dubai และราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์มาคิดค่าการกลั่น เราจะได้ส่วนต่าง (Spread) ของน้ำมันแต่ละชนิดดังนี้ครับ (อ้างอิงราคาวันที่ 6 มิ.ย. 51)

    1. ราคาน้ำมันเบนซิน = 137 $/บาร์เรล
    ราคาน้ำมันดิบ Dubai = 123 $/บาร์เรล
    ส่วนต่าง (Spread) = 14 $/บาร์เรล

    2. ราคาน้ำมันดีเซล = 163 $/บาร์เรล
    ราคาน้ำมันดิบ Dubai = 123 $/บาร์เรล
    ส่วนต่าง (Spread) = 40 $/บาร์เรล

    3. ราคาน้ำมันเตา = 95 $/บาร์เรล
    ราคาน้ำมันดิบ Dubai = 123 $/บาร์เรล
    ส่วนต่าง (Spread) = -28 $/บาร์เรล

    โรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งกลั่นน้ำมันชนิดต่างๆได้ไม่เท่ากัน บางแห่งกลั่นน้ำมันเบนซิน/ดีเซลได้มาก กลั่นน้ำมันเตาได้น้อย (Complex Refinery) แต่บางโรงกลั่นน้ำมันเบนซิน/ดีเซลได้น้อย กลั่นน้ำมันเตาได้มาก (Simple Refinery) ดังนั้นเวลาคิดค่าการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละโรง ต้องเอาสัดส่วนน้ำมันที่ผลิตได้มาคิดด้วย เพราะถ้าโรงกลั่นไหนกลั่นน้ำมันเตาซึ่งมีส่วนต่างติดลบได้มาก ค่าการกลั่นจะต่ำกว่าโรงกลั่นที่กลั่นน้ำมันเตาได้น้อย ดังนี้เป็นต้น

    ความสับสนอยู่ตรงนี้ครับ มีความเข้าใจผิด (จริงๆ) เพราะไม่รู้และมีความพยายามจะทำให้เข้าใจผิด โดยเอาส่วนต่างระหว่างน้ำมันดีเซลและราคาน้ำมันดิบซึ่งในระยะนี้สูงถึง 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (เป็นบางช่วงเท่านั้นนะครับ โดยทั่วไปจะอยู่ที่เฉลี่ย 25-35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเท่านั้น) มาบอกว่าเป็นค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยและบอกว่าโรงกลั่นมีกำไรมากเกินไป

    จริงๆแล้วเราต้องเอาส่วนต่าง (Spread) ของผลิตภัณฑ์ทุกชนิดมาคิดค่าการกลั่น โดยคิดตามสัดส่วนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่โรงกลั่นนั้นๆกลั่นได้

    ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่นแห่งหนึ่งกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้ตามสัดส่วนดังนี้
    • น้ำมันเบนซิน 30% ส่วนต่างน้ำมันดิบ 14 $/บาร์เรล
    • น้ำมันดีเซล 40% ส่วนต่างน้ำมันดิบ 40 $/บาร์เรล
    • น้ำมันเตา 30% ส่วนต่างน้ำมันดิบ -28 $/บาร์เรล

    เวลาคำนวณค่าการกลั่นต้องคำนวณดังนี้
    • น้ำมันเบนซิน 14 x 0.30 = 4.2 $/บาร์เรล
    • น้ำมันดีเซล 40 x 0.40 = 16.0 $/บาร์เรล
    • น้ำมันเตา -28 x 0.30 = -8.4 $/บาร์เรล

    ฉะนั้นค่าการกลั่นของโรงกลั่นโดยเฉลี่ย = 11.8 $/บาร์เรล = 2.41 บาทต่อลิตร (อัตราแลกเปลี่ยน1$=32.50บาท)

    ขอย้ำว่านี่เป็นค่าการกลั่นของวันที่ 6 มิถุนายน วันเดียวเท่านั้นนะครับ ค่าเฉลี่ยทั้งเดือน ทั้งปีอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ก็ได้ และการคำนวณนี้เป็นการคำนวณอย่างคร่าวๆ เท่านั้นนะครับ จริงๆแล้วเราต้องเอาราคา LPG ซึ่งขายต่ำกว่าต้นทุน หรือราคายางมะตอยซึ่งราคาต่ำกว่าน้ำมันเตามาคำนวณด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าการกลั่นต่ำลงไปอีก

    เห็นอย่างนี้แล้วหากยังจะบอกว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในบ้านเราสูงเกินไปผมก็จนใจ พูดมากไปเดี๋ยวจะหาว่าผมเข้าข้างบริษัทน้ำมันอีก เอาเป็นว่าถ้าไม่เชื่อลองเปิดประมูลให้มีการสร้างโรงกลั่นใหม่ในบ้านเราดูก็ได้ครับ ดูสิจะมีใครสนใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้ BOI หรือสิทธิพิเศษอื่นๆ เพราะโรงกลั่นใหม่เดี๋ยวนี้ลงทุนอย่างต่ำ 120,000 ล้านบาทครับ!

    จากคุณ : มือใหม่เล่นหุ้น - [ 28 มิ.ย. 51 22:25:39 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom