Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เพื่อความเข้าใจ วิกฤตซับไพรม์ และ CDS(Credit Default Swap) มากขึ้น

    สำหรับผู้ที่รู้เรื่องอยู่แล้ว ขอโทษที่รบกวนเนื้อที่ครับ


    ...
    ประการ ที่สอง ที่น่าจะสร้างความกังวลโดยรวมให้เกิดขึ้นมากที่สุด นั่นคือ ผลกระทบของกรณีนี้ต่อตลาดตราสารอนุพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราสารอนุพันธ์ชนิดประกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ หรือ เครดิต ดีฟอลต์ สว็อป (ซีดีเอส) ที่ว่ากันว่าตอนนี้มีมูลค่ารวมอย่างน้อยที่สุดมากถึง 62 ล้านล้านดอลลาร์

    ซีดีเอส เป็น "ผลิตภัณฑ์" ทางการเงินใหม่ที่เป็นนวัตกรรมของระบบธนาคารแบบ วาณิชธนกิจในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ ซีดีเอส จะเป็นการตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับประกันการเบี้ยวหนี้จากการปล่อยกู้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ของอีกฝ่ายหนึ่ง แลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนจากฝ่ายแรก ตัวอย่างเช่น สถาบันการเงิน ก. ปล่อยกู้สินเชื่อด้อยคุณภาพให้กับลูกค้า 10 ราย รายละ 1 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงเอง ก็ไปหาธนาคาร ข. เสนอผลตอบแทนให้กับธนาคาร 4 เปอร์เซ็นต์ แลกกับการที่ธนาคารยอมค้ำประกันหนี้ก้อนดังกล่าว โดยวางเงินไว้ตามกฎ 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าของหนี้สินทั้งหมด ทั้งนี้ ธนาคาร ข. จะออกตราสารหนี้ไว้ให้กับ สถาบัน ก. เพื่อการค้ำประกันดังกล่าว

    ด้วยวิธีการนี้ ธนาคาร ข. สามารถทำเงินได้ 4 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าหนี้ทั้งหมด ในขณะที่สถาบันการเงิน ก. ก็มีหลักประกันว่าจะได้รับเงินคืนแน่ ถ้าหากมีการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้น ที่สำคัญก็คือ สถาบันการเงิน ก. ยังสามารถนำตราสารหนี้ดังกล่าว ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำเงินก้อนดังกล่าวมาปล่อยกู้ซับไพรม์รอบใหม่ได้อีก หาธนาคารค้ำประกันใหม่ได้อีก ในขณะเดียวกัน ธนาคาร ข. เองก็อาจนำเอาหนี้ก้อนเดียวกันนั้นไป "ขาย" ต่อให้กับธนาคารอื่น โดยแบ่งผลประโยชน์ให้อีกส่วนหนึ่ง

    ในทางหนึ่ง นี่เป็นวิธีการกระจายความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่เดียว ให้กระจายออกไปรับผิดชอบร่วมกัน แต่ในอีกทางหนึ่ง นี่เป็นการสร้างความร่ำรวยจากอากาศธาตุ และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนี้สินอย่างสำคัญ ด้วยการทำให้หนี้ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นหนี้ระดับเกรดบี กลายเป็นหนี้ที่มีการค้ำประกัน เป็นหนี้เกรดเอ ที่น่าจะเป็นหนี้ที่ปลอดภัยที่สุด น่าลงทุนที่สุด

    วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ เลห์แมน บราเธอร์ส ใช้ในการทำธุรกรรมมากที่สุดจนกลายเป็นวาณิชธนกิจที่ทำ ซีดีเอส ติดอันดับท็อปเท็นของโลก มูลค่าของสัญญาที่เลห์แมนฯ ค้ำประกันอยู่มีอยู่สูงถึงเกือบ 800,000 ล้านดอลลาร์!

    ด้วยความสลับซับซ้อนของระบบ และการเทรดต่อกันเป็นทอดๆ ดังกล่าว สถาบันการเงิน และธนาคารหลายแห่งในยุโรป หรือกระทั่งในเอเชีย ต้องเรียกพนักงานมาทำงานในวันหยุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระดมกำลังสมองกันประเมินมูลค่าของหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับ เลห์แมนฯ ว่าถึงที่สุดแล้ว ตนจะเสียหายเท่าใดไปกับการล้มละลายของวาณิชธนกิจรายนี้

    ...
    บางส่วนจาก มติชนสุดสัปดาห์
    วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1466 หน้า 102

    จากคุณ : ekky@mail - [ 19 ก.ย. 51 20:58:30 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom