Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    S H O R T S E L L

    คิดว่าหลายๆคนคงรู้จักการเล่น SHORT กันแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายๆคน
    ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร ก็เลยเอาบทความที่ผมเคยลงไปแล้วก่อนหน้านี้
    มาลงอีกครั้ง เผื่อใครคิดว่ามีประโยชน์ จะได้ประยุกต์ใช้กับพอร์ตลงทุนของตัวเอง
    เพราะในการออกรบแต่ละครั้ง การที่เรามีอาวุธในกองทัพหลายอย่าง ไม่ได้หมายความว่า
    เราจะชนะศึกเสมอไป เราจะต้องเรียนรู้จุดอ่อนของศัตรู แล้วมาดูข้อจำกัดของเรา
    จากนั้นจึงค่อยมาเลือกใช้อาวุธให้ถูกชนิด เพราะอาวุธทุกชนิดไม่เพียงสามารถ
    ช่วยให้เราชนะศึกได้ ในขณะเดียวกันหากเราใช้ผิดวิธี หรือผิดสถานการณ์
    มันก็อาจทำให้เราพ่ายแพ้ได้เช่นกัน ..... รู้เรา รู้เขา ร้อยรบ ร้อยชนะ

    การ “Short Sell” นั้นอยู่บนแนวคิดที่ว่าราคาของหุ้นหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังจะ
    ตก  เราจึงต้องการขายของสิ่งนั้นออกไปก่อนในราคาแพงๆเท่าที่เราจะขายได้  แล้วจึง
    ค่อยกลับมาซื้อมันคืนในเวลาที่ราคาของมันตกมาแล้วในราคาถูกๆ  สรุปง่ายๆก็คือการ
    “ขายแพง ซื้อถูก” นั่นเอง ซึ่งจะแตกต่างจากมุมมองที่พวกเราส่วนใหญ่คุ้นเคยที่เป็นการ
    “ซื้อถูก ขายแพง” อันเป็นสัจธรรมแห่งการทำกำไรมาแต่ช้านาน
    สำหรับการ Short Sell ในตลาดหุ้น(SET)นั้นผมขอแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

    •        การยืมหุ้นคนอื่นมาขาย (Short sell stock) เนื่องจากมีกฎของตลาดหุ้นที่ว่า
    เราไม่สามารถขายหุ้นได้ถ้าไม่มีหุ้นนั้นในมือ ดังนั้นถ้าเราเห็นโอกาสว่าราคาของหุ้น
    ตัวใดตัวหนึ่งกำลังจะตก  เราก็อาจไปยืมหุ้นของคนอื่นมาขายในตลาดก่อน พอราคา
    ของมันตกลงไปแล้วค่อยไปซื้อมันคืนมาจากตลาดเพื่อนำไปคืนให้กับเจ้าของหุ้นที่เรา
      ไปยืมเขามา  โดยในปัจจุบันก็มีโบรกเกอร์หุ้นบางรายที่มีบริการให้ยืมหุ้นแก่ลูกค้าของ
    ตัวเอง ซึ่งธุรกรรมประเภทนี้เขาจะเรียกว่าธุรกรรม “SBL” หรือ “Securities Borrowing
    and Lending” โดยหุ้นที่โบรกเกอร์มีให้ยืมมักจะเป็นหุ้นที่อยู่ใน SET50 Index (เช่น
       PTT, SCC, KBANK ฯลฯ)  ซึ่งผู้ยืมหุ้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยืม (เช่น 6% ต่อ
    ปี โดยคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันในระหว่างที่ทำการยืม) โดยระยะเวลาในการยืมนั้นอาจ
      ทำการกำหนดระยะเวลาไว้อย่างแน่นอน(Term) หรือไม่กำหนดระยะเวลา(On Call) ก็
    ได้แล้วแต่จะตกลงกันกับผู้ให้ยืมหุ้น  อย่างไรก็ตามเมื่อเราไปยืมหุ้นเขามาเราก็ต้องคืน
    หุ้นให้กับเขานะครับ  จะเบี้ยวว่ายืมแล้วก็อมซะเลย(แบบเวลาที่เรายืมเงินเพื่อน)
       ไม่ได้นะครับ  และเพื่อเป็นการป้องกันว่าผู้ยืมหุ้นจะบิดพลิ้วไม่ยอมคืนหุ้นที่ยืมแก่เจ้า
    ของหุ้น โบรกเกอร์ก็จะให้ลูกค้าคนนั้นวางหลักประกันกับทางโบรกเกอร์ก่อนที่จะให้
       ลูกค้าคนนั้นยืมหุ้นครับ

    สำหรับท่านใดที่เป็นนักลงทุนระยะยาวๆและต้องการให้คนอื่นยืมหุ้นของตนก็
    สามารถติดต่อโบรกเกอร์ที่มีบริการ SBL ได้เช่นกัน  ซึ่งผู้ให้ยืมหุ้นก็จะได้รับค่า
    ธรรมเนียมการให้ยืมเป็นของตอบแทนครับ ถือเป็นการเพิ่มผลตอบแทนจากการลง
    ทุนให้กับท่านในระหว่างที่ท่านทำการลงทุนระยะยาวๆครับ
    •        การขายหุ้นที่ตนมีอยู่ (Short against port)  ในกรณีที่เรามีหุ้นอยู่ในมืออยู่แล้ว
    และคิดว่าราคาของหุ้นตัวนั้นกำลังจะตก  เราก็สามารถทำการขายหุ้นตัวนั้นของเราใน
    ตลาดก่อน พอราคาของมันตกลงไปแล้วก็ค่อยไปซื้อมันคืนจากตลาดกลับเข้ามาในมือ
    ใหม่  เช่น เรามีหุ้น PTT อยู่ในมือ 1,000 หุ้นแล้วคิดว่าราคาของมันกำลังจะตก  เราจึง
    ขายหุ้น PTT ออกไป 1,000 หุ้นที่ราคาตลาด 250 บาท ต่อจากนั้นปรากฏว่าราคาของ
      หุ้น PTT ก็ตกจริงๆไปอยู่ที่ราคา 230 บาท เราจึงไปซื้อคืนจากตลาด ณ ราคาดังกล่าว  
    ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเราจะได้กำไร 20 บาท/หุ้น * 1,000 หุ้น = 20,000 บาทโดยที่เรามีหุ้น
    PTT อยู่ในมือ 1,000 หุ้นครบถ้วนเหมือนเดิม

    แน่นอนครับว่าการ Short Sell ก็ต้องมีความเสี่ยง  ซึ่งความเสี่ยงก็คือถ้าเราทำการขายไป
    แล้วแต่ราคาของหุ้นตัวนั้นกลับปรับตัวสูงขึ้นทำให้เราต้องกลับไปซื้อมันคืนในราคาที่แพง
    ขึ้น หรือเรียกง่ายๆว่าเกิดอาการ “ขายหมู” นั่นเองครับ ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เราขาดทุนได้  
    เช่น ขาย PTT ออกไป 1,000 หุ้นที่ราคา 250 บาทแต่ต้องไปซื้อคืนที่ราคา 260 บาท ทำให้
    เราเสียเงินไป 10 บาท/หุ้น * 1,000 หุ้น = 10,000 บาทฟรีๆกับการมีจำนวนหุ้นในมือเท่าเดิม

    สำหรับ “SET50 Index Futures” ในตลาดอนุพันธ์(TFEX)นั้นเราก็สามารถทำการ
    Short Sell ได้เหมือนกัน  แต่สิ่งที่จะถูกขายนั้นจะไม่ใช่ตัวหุ้นแต่จะเป็นการขายดัชนี
    “SET50 Index” แทน ซึ่งถ้าเราคิดว่าตลาดหุ้นจะตก(ดัชนี SET50 Index จะตก) ราคาของ
    SET50 Index Futures ก็จะตกตามดัชนี SET50 Index  เราก็สามารถทำกำไรได้โดยการขาย
    (Short) SET50 Index Futures ณ ราคาของ SET50 Index Futures ที่สูงๆในตอนนั้น แล้ว
    ค่อยกลับมาซื้อ(Long)SET50 Index Futures คืนเพื่อเป็นการปิดสถานะ ณ ราคา
    ของ SET50 Index Futures ที่ต่ำๆในเวลาต่อมา  ซึ่งการขาย(Short) SET50 Index Futures
    ในตลาดอนุพันธ์จะดีกว่าการ Short Sell หุ้นในตลาดหุ้นตรงที่เราสามารถขาย(Short)
    SET50 Index Futures ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของ SET50 Index อยู่ในมือ
    และเราจะใช้วิธีการชำระส่วนต่างของกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นเงินสด(Cash
    Settlement) แทนที่เราจะต้องไปหาซื้อหุ้นจากตลาดมาส่งมอบกันจริงๆ
    ในการคำนวณกำไรขาดทุนของผู้ขาย(Short) SET50 Index Futures นั้นจะ = (ราคา
    SET50 Index Futures ที่ขายไว้ในตอนแรก – ราคา SET50 Index Futures ที่ซื้อคืนเพื่อปิด
    สถานะ) * ตัวคูณดัชนี * จำนวนสัญญา  

    ตัวอย่างเช่นถ้าเราขาย(Short) SET50 Index Futures 2 สัญญาที่ราคา 500 จุด แล้วกลับมา
    ซื้อคืนเพื่อปิดสถานะที่ราคา 490 จุด  เราจะได้กำไร = (500 – 490) * ตัวคูณดัชนี
    (1,000 บาท) * เรามี 2 สัญญา = 20,000 บาท

    “แล้วเราควรจะ Short Sell หุ้น หรือ Short SET50 Index Futures ดีล่ะ?” คำถามนี้
    ตอบง่ายมากเลยครับว่า
    •        ถ้าคิดว่าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะตกแน่ๆ เราก็ควรจะ Short Sell หุ้นตัวนั้น ถ้ามีหุ้นในมือ
    ก็ให้ Short against port ถ้าไม่มีหุ้นในมือก็ให้ไปยืมหุ้นคนอื่นมาขายผ่านธุรกรรม SBL
    •        ถ้าคิดว่าตลาดหุ้นจะตก เราก็ควรจะขาย(Short) SET50 Index Futures เพื่อทำกำไร
    •        ถ้าคิดว่าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะตกแต่เราไม่มีหุ้นตัวนั้นในมือและไม่มีใครให้เรายืม
    หุ้นตัวนั้นมาขาย แต่หุ้นตัวนั้นน่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง  แน่นอนครับว่าคำ
    ตอบที่ถูกต้องที่จะช่วยท่านทำกำไรได้ก็คือการขาย(Short) SET50 Index Futures นั่นเอง

    จากคุณ : บอย@สาธร - [ 1 พ.ย. 51 10:14:11 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com