Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    อีกครั้งกับการ SHORT SELL

    นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะพูดถึงแต่การซื้อหรือลงทุนในจังหวะที่ดี รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ในแนวคิดของการลงทุน เพื่อให้เกิดกำไรจากเงินลงทุน ซึ่งก็ถือเป็นแนวคิดของนักลงทุนทั่วไป แต่แนวคิดด้านซื้ออย่างเดียว จะต้องอยู่ในช่วงตลาดขาขึ้นและมีความแข็งแกร่งหรือเรียกว่า ตลาด bull market
         แต่อย่าลืมว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน ดังนั้นตลาดย่อมยังมีอีกมุมมองหนึ่ง คือ ตลาดขาลง หรือเรียกว่า ตลาด bear market
         นั่นคือของทุกๆ สิ่งมี 2 ด้านเสมอ ไม่เว้นแม้แต่สำหรับตลาดการลงทุน หรือตลาดหุ้น ดังนั้นการพิจารณาตลาดอย่างรอบคอบ จะช่วยให้ท่านเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

    SELLING SHORT การทำกำไรในช่วงตลาดขาลง
         เป็นภาวะตรงข้ามจากปกติ โดยทั่วไปเราจะคุ้นกับการซื้อก่อนแล้วขายทีหลัง แต่ในตลาดขาลง คุณต้องขายก่อนแล้วซื้อทีหลัง โดยคาดหวังว่าจะได้ซื้อกลับมาในราคาที่ถูกลง และแน่นอนว่าถ้าคุณตัดสินใจผิด กลายเป็นว่าราคาสูงขึ้นกว่าที่ขายออกไป คุณก็ต้องซื้อกลับในราคาที่สูงกว่า และยอมรับผลขาดทุน
         การ Sell Short ในภาวะตลาดที่ถูกต้อง ควรทำในภาวะที่เป็นตลาด bear ไม่ใช่ตลาด bull ซึ่งจะสามารถทำกำไรได้ แต่ถ้าอยู่ในตลาด bull แล้วเราไปทำ Sell Short ก็จะเหมือนการว่ายน้ำทวนกระแสซึ่งจะมีโอกาสทำกำไรได้ยาก
         ในตลาด bear มักจะเกิดขึ้นนานๆครั้ง แต่เมื่อมันเกิดขึ้น ผลกระทบของมันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างมาก ดังนั้นถ้านักลงทุนเห็นสัญญาณการเกิดและ Sell Short ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถสร้างผลกำไรได้สูง โดยในภาวะตลาด bear market จะมี 2 สิ่ง ที่นักลงทุนจะสร้างผลกำไรได้คือ
         1. ขาย Stock ที่ท่านถืออยู่แล้วไปนั่งอยู่นอกตลาด ถือครองเงินสดไว้ เพื่อรอตลาดกลับมาเป็น bull market จึงค่อยกลับเข้ามาใหม่
         2. การทำ Short Sell ซึ่งการทำ Short Sell ในตลาด bear market จะทำให้ท่านมีโอกาสทำกำไรได้อย่างรวดเร็วกว่าตลาด bull market ด้วยซ้ำ

    ทุกอย่างมีขึ้นก็ย่อมมีลง
         ในสภาวะ bear market นักลงทุนมักจะหลอกตัวเองเสมอว่า เราเป็นนักลงทุนระยะยาว ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าการถือครองหลักทรัพย์ไว้เป็นเรื่องถูกต้อง ตามวลีอมตะ “ถ้ายังไม่ขาย ก็ยังไม่ขาดทุน”
         ความคิดดังกล่าวเป็นการปลอบประโลมใจตัวเราเอง ซึ่งในความเป็นจริงถือว่าเป็นความคิดที่ง่ายเกินไป และเป็นการละเลยหลักการบริหารความเสี่ยง ซึ่งแม้ว่าหลักทรัพย์นั้นจะมีเงินปันผล หรือยังพอมีเงินกำไรที่เคยได้อยู่เก่าในช่วงขาขึ้น แต่ในไม่ช้า ตลาด bear market ก็จะทำให้กำไรที่เคยมีอยู่หายไปได้หมดภายในระยะเวลาเพียงไม่นาน ดังนั้นบุคคลที่อดทนรอนานเกินไป ไม่ยอม cut loss ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง วันแล้ววันเล่า ในที่สุดคนบางคนก็จะถูกความกลัวเข้าครอบงำ รวมทั้งกระแสคลื่นของความตื่นตระหนกทำให้ต้องขายออกมา แล้วก็ไปขายในช่วงต่ำสุดของราคาอันทำให้เกิดการขาดทุนอย่างมหาศาลได้

    ซุนวู ได้กล่าวไว้ในตำราพิชัยสงครามว่า การรบถ้ารู้จักการวางแผนที่ดีมีสิทธิที่จะชนะทุกร้อยครั้ง เหมือนสิงโต ถ้าคราวใดที่ไม่สามารถจะล่าเหยื่อได้ จะไม่ออกล่าเหยื่อ ในสงคราม เมื่อมีการรู้กำลังของกองทัพของเราเองรู้ความสามารถของแม่ทัพ รู้ความสามารถของกองทหารของฝ่ายเรา โอกาสรบชนะจะมีครึ่งหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เราเรียนรู้กองกำลังของข้าศึก เรียนรู้ความสามารถของแม่ทัพข้าศึก และรู้ความสามารถของกองทหารของข้าศึก โอกาสรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็ไม่ไปไหนไกล แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกรบ แม่ทัพไม่รู้กำลังของตัวเอง ไม่รู้กำลังของกองทหารตัวเอง ไม่ว่าจะออกรบกี่ครั้งก็ต้องแพ้ย่อยยับกลับมาทุกครั้ง

    ผู้ที่ปกครอง (นักลงทุน) ห้ามทำผิดกฏ 3 ข้อดังต่อไปนี้ หากไม่ทำตามจะทำให้ประสบกับความพ่ายแพ้ (ขาดทุน) ได้
    •  สั่งให้รุก (ซื้อ) ขณะที่เสียเปรียบ (ตลาด bear) หรือสั่งให้ถอย (Short) ขณะเป็นต่อข้าศึก (ตลาด bull)
    •  ไม่เข้าใจในกิจการของกองทัพ (รู้จักเครื่องมือลงทุนไม่ครอบคลุม) แต่สั่งการตามอำเภอใจหรือสามัญสำนึกของตน (ทำตามกระแสอย่างเดียว)
    •  ไม่เข้าใจหลักการผสมผสานการใช้กำลังทหารเหล่าต่างๆในการดำเนินกลยุทธ์ แต่เข้าแสดงบทผู้บัญชาการ ทำให้เหล่านายทหารเกิดความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจในตัวผู้บัญชาการ (ขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนการตัดสินใจลงทุน)

    จากคุณ : บอย@สาธร - [ 4 ธ.ค. 51 17:05:45 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com