Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    สบู่ทุกก้อน

    อ่านแล้วจับใจมากครับ ผมก็อยากเขียนเรื่องคล้ายๆกันนี้ แต่ช่วงนี้งานเยอะมากมาย
    พอได้อ่านบทความนี้ของดร.นิเวศน์แล้ว รู้สึกว่าอืม ใช่เลย

    ยิ่งมุมมองเรื่องของบลจ รัฐบาล และนักวิแคะทั้งหลาย แหม่...มันจอร์จจริง

    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

    ผมมักถูกถามจากคนรู้จัก หรือคนที่ติดตามผลงานว่า เขาควรจะซื้อกองทุนรวมของบริษัทไหนดี พูดง่ายๆ ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไหนมีฝีมือดีที่สุด คำตอบของผมทุกครั้ง ก็คือ ให้หาบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือในด้านของความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ  และมีความสะดวกในการติดต่อซื้อขายเป็นหลัก  



    ส่วนเรื่องของ "ฝีมือ" ในการลงทุน ผมคิดว่าแต่ละบริษัทก็ทำได้ดีพอๆ กัน หรือถ้าจะพูดแบบนักวิชาการ ก็คือ แย่พอๆ กันเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ บลจ.ส่วนมาก ผมคิดว่ามีคุณสมบัติด้านต่างๆ ใกล้เคียงกัน และอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ถ้าจะมีอะไรแตกต่างกัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องของภาพพจน์ที่บริษัทสร้างขึ้น หรือเป็นภาพที่คนมองว่าบริษัทหนึ่งเหนือกว่า หรือดีกว่าอีกบริษัทหนึ่งเท่านั้น และภาพพจน์ที่ว่านั้นก็มักจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาหรือตามผลการบริหารกองทุนที่เปลี่ยนไปตามภาวะของตลาดและกลยุทธ์การเลือกหุ้นของบริษัท



    เช่นเดียวกัน นักลงทุนต่างก็ตั้งความหวังกับรัฐบาลในการแก้ไข หรือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คนมักจะคิดว่ารัฐบาลชุดนั้นเก่งมีฝีมือในการบริหารประเทศมากกว่าอีกชุดหนึ่ง เพราะในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากกว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจมีน้อยกว่า หรืออาจจะเพราะว่า พวกเขาได้ยินมาตรการและคำพูดหรือศัพท์แสงทางเศรษฐกิจที่ดูก้าวหน้าหรือมี "ภูมิปัญญา" มากกว่า



    ทว่าในความคิดผมเอง ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดไหนมีความสามารถมากกว่าชุดไหน เพราะการเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลกับอีกรัฐบาลหนึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเราทำไม่ได้ รัฐบาลหนึ่งอาจจะมีฝีมือดี แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมแย่มาก ผลลัพธ์ก็อาจจะออกมาแย่มาก และคนก็คิดว่ารัฐบาลบริหารไม่เป็น รัฐบาลบางรัฐบาล อาจจะไม่มีฝีมืออะไรเลย แต่ประเทศและโลกอยู่ในภาวะเฟื่องฟูเศรษฐกิจก็ไปได้ฉลุย ทุกคนบอกว่ารัฐบาลเก่ง



    ความคิดของผม ก็คือ รัฐบาลแต่ละรัฐบาลก็คล้ายๆ กัน เมื่อเข้ามาแล้ว สิ่งที่รัฐบาลทำแล้วมีผลกระทบกับเศรษฐกิจจริงๆ ในระยะเวลาอันสั้น ก็คือ การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งงบส่วนใหญ่ มักจะถูกกำหนดกันหมดแล้ว เช่นเรื่องของเงินเดือน และงบผูกพันทั้งหลาย งบประมาณอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก ก็จะถูกจัดสรรและกระจายออกไปสู่ประชาชน และธุรกิจทั้งหลายและแน่นอนกลับไปสู่นักการเมืองที่มักจะมี "เปอร์เซ็นต์มาตรฐาน" ผ่านโครงการต่างๆ ที่ถือว่าเป็น "ผลงาน" ของรัฐบาล  



    ดังนั้นโดยรวมแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหน เมื่อเข้ามาทำงานก็มักจะทำคล้ายคลึงกันหมด ความแตกต่างอาจจะมีในรายละเอียดของโครงการหรือในด้านของ "เปอร์เซ็นต์" ที่จะขอตัดจากงบของนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างในรายละเอียดนี้ มักไม่ทำให้ภาพรวมของผลกระทบทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป  



    ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ ประเทศก็มักจะเดินไปได้ดีพอๆ กัน หรือจะพูดอีกแบบหนึ่ง ก็คือ แย่พอๆ กัน   สิ่งที่แตกต่างกันจริงๆ ก็คือเรื่องของ "ภาพพจน์" ว่ารัฐบาลไหนทำได้ดีกว่ากันเท่านั้น



    นั่นทำให้ผมนึกถึงสบู่ สบู่นั้นเป็นสิ่งที่สามารถล้างทำความสะอาดได้ดีเกือบทุกก้อน หรือจะพูดว่าทุกก้อนก็ว่าได้ เพราะบริษัทที่ผลิตสบู่ ต่างก็ใช้สูตรเหมือนกัน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ทำความสะอาดได้ดี    



    สิ่งที่แตกต่างกันของสบู่แต่ละยี่ห้อที่สำคัญมาก ก็คือ กลิ่น และการโฆษณาอย่างหนัก เพื่อที่จะชักนำให้ผู้ใช้เชื่อว่าสบู่ของตนดีกว่าสบู่ยี่ห้ออื่น แต่สบู่ก็คือสบู่ ถ้ามีใช้และกลิ่นไม่น่าเกลียดเกินไป ผลลัพธ์ของการใช้ก็ใกล้เคียงกันมาก  



    ในเรื่องของการลงทุน ผมคิดว่า เรายังมีกิจกรรมที่คล้ายๆ กับเรื่องของสบู่อีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องของการวิเคราะห์หุ้นของนักวิเคราะห์ทั้งหลาย นักวิเคราะห์มี "สูตร" การทำงานและการเขียนบทวิเคราะห์เหมือนกันหมด ความ "ถูกผิด" ของการวิเคราะห์นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครทำสถิติว่าเป็นอย่างไร แต่ถึงจะมีคนทำ ด้วยเหตุที่นักวิเคราะห์ แต่ละคนทำนายหุ้นจำนวนมากนับเป็นร้อยๆ ครั้งหรือถ้าทำงานมานานอาจจะเป็นพันๆ ครั้ง โดยธรรมชาติแล้วการทายถูกหรือผิดก็อาจจะใกล้เคียงกัน  
    ดังนั้น จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีใครเก่งกว่าใคร ความแตกต่างที่อาจจะทำให้คนหนึ่งดูดี หรือเก่งกว่าอีกคนหนึ่งอาจจะอยู่ที่เรื่องของความสามารถในการบรรยาย หรืออธิบายเหตุผลของบทวิเคราะห์ พูดง่ายๆ เป็นเรื่องของภาพพจน์มากกว่าความเป็นจริง



    เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ ก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ นี่คือกลุ่มคนที่ "อธิบายเรื่องทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาแล้วได้ดีมากแต่ไม่สามารถทำนายอนาคตได้แม่นยำ" นักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากทำงานเกี่ยวข้องกับภาพที่ใหญ่มากระดับประเทศหรือระดับโลก ดังนั้นหน้าตาหรือภาพพจน์จึงยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในหน่วยงานที่มีชื่อเสียงหรือมีความสำคัญในการดูแลภาคเศรษฐกิจของรัฐหรือหน่วยงานสาธารณะ โอกาสที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีฝีมือในการทำนายทายทักก็ยากมาก และนี่อาจจะรวมไปถึงคุณสมบัติส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ว่า เขาเรียนจบมาจากที่ไหนด้วย  



    ผมเองคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์เองก็มีคุณสมบัติคล้ายๆ กับสบู่เหมือนกันนั่นคือ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ดีเหมือนกันหมดหรือแย่เหมือนกันหมดหรือใช้ได้เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ที่ "กลิ่น" นั่นก็คือ ภาพพจน์ว่าใครสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่ากัน



    นอกจากเรื่องของการจัดการการลงทุน การเมือง การวิเคราะห์หุ้น และเศรษฐศาสตร์แล้ว ผมคิดว่ายังมีเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องทางสังคมศาสตร์อีกมาก เช่นฝีมือในการสอนหนังสือของสถาบันการศึกษา หรือหมอดูชื่อดังต่างๆ ซึ่งมักจะอ้างว่าแม่นยำเก่งกว่าคนอื่นนั้น แท้จริงแล้ว อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย กิจกรรมของพวกเขาอาจจะเป็น "สบู่" ที่มีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกันและใช้ได้ใกล้เคียงกัน  ความแตกต่างอยู่ที่กลิ่นหรือภาพพจน์เท่านั้น



    ที่เขียนมาทั้งหมด ต้องการที่จะบอกว่า ในฐานะที่เป็น Value Investor เราต้องแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นของจริง อะไรเป็นเรื่องภาพพจน์ หรือกิจกรรมอะไรเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ ไม่สามารถจะทำได้โดดเด่นกว่าคนอื่น หรือทุกคนทำได้แย่พอๆ กัน ดังนั้น เราอย่าไปเชื่อว่าคนคนหนึ่งเก่งกว่าคนอื่นๆ ทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์และเป็นเพียง "ภาพ" ที่ปรากฏต่อสาธารณชนเท่านั้น    

    nives:กรุงเทพธุรกิจ
    http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=5743&user=nives

    จากคุณ : ขอบฟ้าบูรพา - [ 13 ม.ค. 52 12:21:39 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom