Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    มีบทความในนิตยสารผู้จัดการรายเดือน กล่าวถึง PJUK ด้วย

    ลองอ่านดูครับ เรื่องของ PJUK อยู่ในความคิดเห็นที่ 1 ครับ


    จัดการเสียงวิจารณ์ออนไลน์ให้อยู่หมัด
    โดย ดร.ภิเษก ชัยนิรันดร์  

    "ถ้าเราโดน... (ชื่อผู้ให้บริการฟิตเนสชื่อดังรายหนึ่ง) โกง ควรจะทำอย่างไร" ชื่อหัวข้อกระทู้หนึ่งที่ตั้งไว้ในเว็บไซต์ www.torakhong.org ซึ่งมีรายละเอียดของกระทู้ดังต่อไปนี้ "ใครมีประสบการณ์หรือโดนหลอกบ้าง ช่วยบอกที เราโดนให้เซ็นรับแบบฟอร์มรับบริการเทรนเนอร์ฟรี 3 ครั้ง แต่กลับเป็นเอาลายเซ็นของเรา มาบอกว่าที่เซ็นนั้นที่จริงแล้วคือตัวสัญญาค่าจ้างเทรนเนอร์ โดยตอนที่เราเซ็นนั้นเป็นฟอร์มเปล่าไม่ได้กรอกอะไรเลย แล้วไม่ได้ให้ก๊อบปี้เราด้วย ตั้งแต่วันที่ 5/4/50 วันที่ 6/4/50 เราบอกว่าพี่ไม่ทำค่าเทรนเนอร์นะ เทรนเนอร์ที่รับเรื่องบอกไม่เป็นไร เอกสารเราก็บอกให้ยกเลิกให้ด้วย เขาก็บอกไม่เป็นไร ไม่ต้องเข้าไปเซ็นยกเลิก อยู่ๆ วันที่ 5/5/50 ก็เรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตของเราเฉยเลย เอกสารมั่วมาก เลวมาก บอกไม่รับผิดชอบ ไม่รู้เรื่องด้วย ทั้งๆ ที่เอกสารที่คลับเป็นตัวก๊อบปี้ขีดฆ่ามั่วไปหมด ไม่มีลายเซ็นกำกับเลย แล้วจะเป็นเอกสารที่เป็นสัญญาได้ไง ช่วยบอกต่อๆ ด้วย อย่าสนับสนุนคลับนี้เลย เงินมันได้ก็เอาไปอุทิศเป็นค่าพวงหรีดให้มันไป สาธุ" โดย Rainny

    จากกระทู้ดังกล่าวมีผู้ร่วมชะตากรรม เป็นจำนวนมากที่โพสต์ข้อความสะท้อนถึงการบริการที่แสนแย่ และไม่ใช่มีเพียงกระทู้นี้เท่านั้นที่สะท้อนความเลวร้ายดังกล่าว แต่เมื่อผมลองเข้าไปที่ www.google.com แล้วใส่ชื่อผู้ให้บริการฟิตเนสแห่งนั้น ผมก็พบว่าเรื่องราวร้องเรียนมีนับพันจนอ่านไม่หวาดไม่ไหว อาจอยู่ในรูปแบบของกระทู้ เนื้อหาบนเว็บไซต์ หรือเสียงสะท้อนผ่านทาง บล็อก ตลอดจนมีการรับแจ้งเหตุร้องทุกข์ออนไลน์กรณีดังกล่าวนี้ผ่านเว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย

    ผมไม่แน่ใจว่าผู้ให้บริการฟิตเนสรายดังกล่าวได้ยินเสียงสะท้อนเหล่านี้หรือเปล่า ได้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องเหล่านี้อย่างไร แต่เท่าที่ติดตามดูจะไม่รู้ร้อนรู้หนาว ยังคงตั้งหน้าตั้งตาใช้การโฆษณาชวนเชื่อหลอกลูกค้าให้เข้ามาติดกับดักในรูปแบบของการให้เล่นฟรี แต่พอมาถึงฟิตเนสก็พยายามคะยั้นคะยอขายสมาชิกให้อย่างบ้าคลั่ง

    แต่ผมก็เชื่อว่าเสียงจากลูกค้าเหล่านี้ ทำให้อีกหลายๆ คนซึ่งกำลังสนใจที่จะใช้บริการจากฟิตเนสแห่งนี้ ต้องบอกลา แล้วไปแสวงหาที่ใหม่ นั่นคือวิบากกรรมที่เร่งให้ฟิตเนสแห่งนี้ทุ่มเงินเพื่อใช้ในการตลาดให้มากกว่าเดิม ไม่แน่ว่าเสียงสะท้อนจากลูกค้าอาจจะส่งผลต่อการดำรงอยู่ของฟิตเนสแห่งนี้ในอนาคตก็เป็นได้ หากฟิตเนสรายดังกล่าวยังปิดหูปิดตาไม่สนใจต่อลูกค้าของตนเอง

    เสียงออนไลน์
    ยักษ์ใหญ่ยังต้องปรับตัว

    แต่เดิมหากเราซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วพบว่าคุณภาพไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา ถ้ามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย อย่างมากเราก็แค่บ่นๆ กับเพื่อนๆ แล้วก้มหน้ารับชะตากรรมไป ครั้นจะไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ ก็อาจจะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากวุ่นวาย พร้อมกับไม่แน่ใจว่าหน่วยงานเหล่านี้จะช่วยเหลือเราได้มากน้อยแค่ไหน เว้นแต่ที่เป็นกรณีใหญ่ๆ มักได้สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่ช่วยโหมกระพือเสียงร้องจากผู้บริโภคให้ดังขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยเหตุดังกล่าว หลายๆ ธุรกิจเลือกที่จะไม่ฟังเสียง สะท้อนของลูกค้า เพราะเห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากมายนัก

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงสะท้อนดังกล่าวได้นำขึ้นมาบนโลกออนไลน์ที่สามารถถ่ายทอดถึงกันได้อย่างรวดเร็วแบบปากต่อปาก ส่งผลให้เสียงนั้นกลายเป็นมติมหาชน ที่ธุรกิจจะเพิกเฉยแบบเดิมไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีของฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลกอย่าง McDonald ที่ถูกต่อว่ามากมายบนโลกออนไลน์จากหลายๆ เว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านโดยเฉพาะ โดยเน้นถึงการไร้คุณค่าทางอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน น้ำตาล และเกลือ ซึ่งเป็นบ่อเกิด ของโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคอื่นๆ จนทำให้McDonald อดรนทนไม่ได้ พยายามโฆษณา คุณค่าในอาหารของตนโดยลดปริมาณเกลือ ลดการใช้ไขมันอิ่มตัวและเพิ่มเมนูที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ในการเป็นอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้น

    หรือกรณีของ KFC ก็เช่นกัน ที่มีการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาต่อต้าน โดยเน้นว่า KFC มีการทรมานสัตว์ตั้งแต่การเลี้ยงดูที่เน้นให้ไก่ตัวใหญ่จนไม่สามารถแม้แต่จะเดิน หรือตีปีก รวมไปถึงการฆ่าก็ใช้การเชือดและโยนลงในหม้อน้ำเดือด ขณะที่ไก่ยังรู้สึกตัว จนทำให้คนดังหลายๆ คนอย่างพาเมลา แอนเดอร์สัน พอล แมคคาร์ทนี รวมไปถึงองค์ดาไลลามะ เข้าร่วมในการต่อต้าน แน่นอนว่ามันคงไม่ทำให้ KFC ต้องล้มหายตายจาก แต่เสียงดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะถูกเพิกเฉย KFC ก็ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ต่างไปจาก McDonald

    อีกรูปแบบหนึ่งของเสียงจากผู้บริโภค คือผ่านทางบล็อก ที่เป็นการเสนอความคิดส่วนตัวลงในพื้นที่ของเขาเอง ถึงแม้ว่าดูจะไม่เป็นทางการเท่าใดนัก แต่หากตัวบล็อกเกอร์มีอิทธิพลต่อผู้อ่านสูงก็จะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์นั้นได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างบล็อกที่โด่งดังในเรื่องนี้คือ บล็อกของรุย คาร์โม ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นเจ้าของบล็อกแมคชื่อดัง คือ The Tao of Mac (the.taoofmac.com/space) ที่ได้ทำการสั่งซื้อ iMac G5 เป็นเวลานานแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้สินค้าที่ต้องการเสียที ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายในโปรตุเกสมีปัญหาในเรื่องของระบบจัดซื้อ ทำให้เขาเขียนเรื่องตำนานการซื้อ iMac G5 ในบล็อกของเขาเอง แฟนๆ ที่ติดตามงานเขียนก็เข้าร่วมวิพากษ์วิจารณ์ พอตัวแทนจำหน่ายและผู้จัดการฝ่ายขายของยุโรปรู้เข้า ก็กุลีกุจอเข้าช่วยเหลือจนเขาได้เครื่อง iMac G5 ในที่สุด

    แก้ไขเมื่อ 16 ม.ค. 52 10:42:21

    จากคุณ : P.sek - [ 16 ม.ค. 52 10:41:40 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom