Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    อ่านยามว่างครับ กับ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิวรากร” 1

    “ดร.นิเวศน์ เหมวชิวรากร”  ขอบคุณที่มาจาก efinance ครับ

    VI เบอร์1ของเมืองไทย
    “ดร.นิเวศน์ เหมวชิวรากร”
    สำหรับเซียนคนนี้ ต้องถือว่าค่อนข้างที่จะฉีกแนวไปจากชื่อคอลัมน์ เพราะ
    เขาได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนมากว่าจะเป็น “เต่า” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนละสายพันธุ์ คน
    ละสปีชีส์ และคนละไฟลั่มกับ “เสือ” แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ผีมือที่ฝากไว้ได้เป็น
    ที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วของทั้งในและนอกวงการ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากสำหรับ
    Value Investor (VI) เบอร์ 1 ของเมืองไทยคนนี้..เชิญพบกับชีวิต แนวคิดการลงทุน
    และวิธีคิดของ ดร. นิเวศน์ เหมวิชรวรากร ได้ ณ บัดนาว
    จากวิศวกรสู่โลกการเงิน
    ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วงการนี้ผมเป็นวิศวกรมาก่อนเพราะเรียนจบจากวิศวะจุฬาฯ ซึ่ง
    ถือว่าห่างจากโลกการเงินเยอะ แต่พอเรียนจบปริญญาเอกก็เริ่มต้นทำงานที่ บรรษัทเงินทุน
    อุตสาหกรรม หรือ IFCT ซึ่งเป็นสถาบันการปล่อยกู้และมีส่วนร่วมในการบุกเบิกตลาดทุน พอ
    ตลาดหลักทรัพย์เริ่มบูมขึ้นมาก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ บริษัทเงินทุนหลักทัรพย์ (บงล.) นวธนกิจ อยู่ใน
    ส่วนงานวานิชธนกิจที่จะนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดฯ ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้เล่นหุ้นบ้าง
    แบบว่าได้กำไรมาก็ขายไป แต่ก็ไม่ได้แอ็คทีฟมาก และก็ไม่ได้สั้นถึงขนาดเป็นเดย์เทรด
    เป็นระยะกลาง-สั้น ถือประมาณ 1-2 เดือน ตอนนั้นราวปี 2537-2538 เป็นช่วงที่หุ้น
    กำลังคึกคักและทุกคนเข้ามาเล่นกัน ซึ่งก็เป็นลักษณะของการที่เล่นเป็นงานอดิเรก
    ไม่ได้อิงการวิเคราะห์ตัวหุ้นซักเท่าไหร่ อาศัยดูจากสภาพตลาดโดยรวมเป็น
    หลักมากกว่าซึ่งก็จะซื้อหุ้นประเภทที่ผันผวนตามตลาด
    หลบภัยกลายเป็นวีไอ
    พอปี 2539-2540 เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจึงย้ายไปทำงาน
    อยู่ดีแทคระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้แอ็คทีฟงานอะไรมาก เป็นช่วงที่ค่อนข้าง
    รีแลกซ์เสียมากกว่า มีเวลาทบทวนบทบาทของตัวเองเยอะ จึงกลายมาเป็น วีไอ
    (Value Investor) เต็มตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วง
    ที่ตลาดหลักทรัพย์เงียบเหงามาก เป็นช่วงที่ทุกคนหยุดหมด ที่เปลี่ยนสไตล์การลงทุน
    มาเป็นแบบวีไอ เพราะตอนนั้นผมเริ่มศึกษาแบบจริงๆ จังๆ จึงเห็นว่าแนวนี้เป็นอะไรที่
    ค่อนข้างจะปลอดภัย และ เห็นโอกาสที่หุ้นลงมาเยอะจาก 1700 จุด อีกทั้งช่วงนั้นก็
    กำลังตกงานไม่มีรายได้ประจำ ลูกก็ยังเล็ก ภรรยาก็ไม่ได้มีรายได้ประจำ จึงต้องการ
    ลงทุนเพื่อหารายได้ในอนาคต
    หนทางสองหมื่นลี้ต้องเริ่มที่ก้าวแรก
    เรื่องการลงทุน ผมลงไปเต็มตัว 100% ตอนดัชนีฯ อยู่ประมาณ
    800 กว่าจุด ราวปลายปี 2540 (ตอนนั้นประเทศไทยประกาศลอยตัวค่า
    เงินบาท) จุดหลักก็คือผมไปเห็นหุ้นบางตัวที่มีราคาลงมาเยอะมากและไม่
    ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยกำไรและเงินปันผลไม่ได้ลดลงเลย ใน
    ขณะที่บางตัวกลับสวนทางดีขึ้นด้วย อย่างเช่นหุ้นส่งออก เป็นต้น ซึ่งได้ผล
    บวกจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนลงการที่เข้าไปซื้อก็เน้นตัวธุรกิจจริงๆ ไม่ได้
    หวังกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น เพราะหุ้นตัวที่ซื้อราคานิ่งมากวอลุ่มก็ไม่
    ค่อยมี คนที่เล่นหุ้นตอนนั้นหวังกำไรจาก Capital Gain คงยาก หวังได้
    อย่างเดียวคือเงินปันผล ก็เลยทยอยเก็บหุ้นไปเรื่อยจนเงินหมดโดยไม่
    รู้ตัว..ซึ่งตอนนั้นมีเริ่มต้นประมาณ 10 ล้านบาท
    เทใจให้เต็ม100
    ถึงแม้ว่าจะลงทุนเต็ม 100% ตอนนั้นก็ไม่ได้มีแผนสำรอง
    ว่าถ้าหากผิดพลาดขึ้นมาจะทำอย่างไร แต่เชื่อมั่นว่าหุ้นแต่ละตัวที่
    ซื้อมานั้นแข็งแกร่งและโอกาสที่จะขาดทุนมีน้อยมาก แถมยังมีการ
    กระจายการลงทุน 7-10 ตัว อาทิ TF, WACOL, SSC, APRINT
    เป็นต้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะพลาดจึงต่ำลงไปอีก แต่ถ้าเกิดพลาด
    ขึ้นมาก็คงจะไม่พลาดแบบหายนะ อาศัยจากปันผลก็ยังทำให้อยู่
    ได้ ต้องยอมรับว่าความโดดเด่นของเครือสหพัฒน์ฯ ตอนนั้นคือ ไม่
    มีหนี้ เพราะเคยเจอวิกฤติการลดค่าเงินบาทสมัยป๋าเปรม จึงไม่มี
    การไปก่อหนี้ต่างประเทศ และจริงๆ คือไม่ก่อหนี้เลย ทำให้มี
    กระแสเงินสดแข็งแกร่ง และตัวธุรกิจของเขาคือ คอนซูมเมอร์
    โปรดักส์ การที่ถึงแม้ประชาชนจะลดการใช้จ่าย แต่จะไม่ลดพวกนี้
    หรือลดน้อย เช่น มาม่า ตอนเกิดวิกฤตแล้วยอดขายกลับดีขึ้น หลัง
    จากนั้นดัชนีหุ้นก็ลงต่อจาก 800 จุดมาที่ 200 กว่าจุด แต่พอร์ตของ
    ผมกลับสวนทางขึ้นมีกำไร และหากเทียบกับดัชนีฯ วันนี้ก็ถือได้ว่า
    ลงมาครึ่งหนึ่งของเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่พอร์ตของผมก็โตมาได้หลาย
    สิบเท่า ซึ่งก็ถือว่าวิธีแบบนี้สามารถทนทานต่อภาวะตลาดได้
    หัวใจหุ้นคุณค่า
    ประเด็นสำคัญของหุ้นที่ผมเลือกซื้อคือ ต้องดูว่า 1) รายได้ไม่ลด 2)
    กำไรไม่ลด 3) หนี้ไม่มี 4) ความเสี่ยงที่จะเกิดจากความต้องการสินค้าน้อย
    ลงมีน้อยมาก 5) ราคาต่ำแต่มีเงินปันผลจ่ายสูง และ 6) ต้องมีจุดแข็งทาง
    ด้านการตลาด โดยมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 และเป็นผู้นำอย่างโดดเด่นซึ่ง
    ทิ้งห่างเบอร์ 2 จากหลักทั้งหมดนี้ทำให้ความเสี่ยงเฉพาะของหุ้นแต่ละตัวมี
    น้อยมาก และถ้ามีเป็นพอร์ตโฟลิโอ ความเสี่ยงมันก็จะลดลงอีกหลายเท่า
    เพราะฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่าความเสี่ยงอันนี้รับได้เลย แม้กระทั่งถึงขั้นไม่มี
    งานทำก็รับได้ และคิดว่าในที่สุดแล้วเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหุ้นพวกนี้ก็จะดีขึ้น
    อีก ก็เลยค่อยๆ ซื้อไป อย่างวิกฤตในปัจจุบันนี้นักลงทุนก็ต้องหาหุ้นที่ว่า ใน
    ที่สุดมันต้องกลับมาและธุรกิจที่ซื้อก็ต้องได้ประโยชน์โดยตรงชัดเจนไม่มีใคร
    มาแย่ง
    จากยุ่งกลายเป็นรุ่ง
    ความจริงซื้อไปใหม่ๆ ก็กำไรไม่เยอะนะ ช่วงนั้นยังอยู่ใน
    ภาวะวิกฤต หุ้นยังลงต่ออยู่ จาก 800 จุด เหลือ 200 จุด แต่หุ้นที่ผม
    เลือกไม่ตกเลย แต่ปรับขึ้นตลอด ช่วงแรกๆ ก็ขึ้นสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่
    พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นก็ปรับขึ้นทีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ตลอดเลย และ
    ก็ต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี ซึ่งถ้าเทียบแบบปีต่อปี ก็มีเพียงปี 2546 ที่
    มูลค่ารวมของพอร์ตปรับลดลงจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้เพราะปี 2545
    ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปกว่า 100% ส่วนปีนี้ (2551) คาดว่าจะเป็นปีที่
    2 ที่ทำให้ผลตอบแทนในพอร์ตของผมลดลง หมายถึงว่าไม่ขยายตัว
    จากปีก่อนหน้า เพราะที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตมาโดยตลอด
    ถือหุ้นแบบวีไอ
    โดยเฉลี่ยหุ้นที่ถืออยู่ก็ประมาณ 4-5 ปี แม้ว่าตอนซื้อมาไม่ได้
    มีเป้าหมายว่าจะถือตลอดไป แต่ก็ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะขายเมื่อไหร่
    เหมือนกัน เมื่อซื้อมาแล้วก็ติดตามไปเรื่อยๆ อันแรกก็ติดตามฐานะ
    ทางการแข่งขันและการตลาดก่อน จากนั้นก็ค่อยไปดูฐานะการเงิน
    และผลการดำเนินงาน ดูพัฒนาการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราเห็นว่ามี
    พัฒนาการตกต่ำลงจึงค่อยขายออกไปอย่างเช่น หุ้นเสริมสุข (SSC) ที่
    หลังๆ ก็นิ่งมากและไม่มีอะไรใหม่ๆ ออกมา พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่ม
    เปลี่ยนไปหาเครื่องดื่มสุขภาพมากขึ้น ผลการดำเนินงานก็ลดลงก็เลย
    ขายไป เพื่อเล่นตัวอื่นที่มาแรงกว่า ถูกกว่า ผลการดำเนินงานดีกว่า
    ซึ่งก็คือการสวิช ทั้งนี้ก็ต้องมีการประเมินอยู่ตลอดเวลา และในช่วง
    ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยคิดที่จะขายเพื่อเก็บเงินสด คือ
    ก่อนจะขายจะต้องมีตัวใหม่มาเปรียบเทียบก่อน ถ้าตัวใหม่เปรียบ
    เทียบแล้วดีกว่าจึงจะขายตัวเก่าและซื้อตัวใหม่
    ต้องติดตามและจินตนาการ
    จริงๆ การติดตามเกี่ยวกับข้อมูลและข่าวสาร ผมว่ามันอยู่รอบตัว
    เลย อย่างเช่น พออ่านหนังสือพิมพ์แล้วก็วิเคราะห์ไปเรื่อยๆ สถานการณ์เป็น
    อย่างนี้แล้วจะกระทบกับตัวบริษัทอย่างไร จากนั้นก็ลงไปดูในท้องตลาดเป็น
    การวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผม
    จะติดตามดูผลิตภัณฑ์ของบริษัทสม่ำเสมอ ยอดขาย ความรับรู้ของผู้บริโภค
    การขยายตัว เป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่รู้สึกเลยว่าเป็นการทำงาน
    นอกจากนี้ก็ยังอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน หนังสือเกี่ยวกับ
    ธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นเท็กซ์บุค แล้วก็นำทั้งหมดมาวิเคราะห์เข้ากับ
    สถานการณ์ในเมืองไทย หรือเรียกว่าจินตนาการ ซึ่งก็ถือได้ว่าทำเป็นประจำ
    ทุกวัน ส่วนใหญ่จะทำเวลาออกกำลังกาย เช่น จอร์คกิ้งไปคิดไป รวมถึงยังมี
    การเก็บข้อมูลทางการเงินจากงบที่ประกาศแล้วก็รวบรวมตัวเลขพวกนี้เก็บ
    ไว้ในสมุด ตัวไหนที่น่าสนใจก็เก็บไว้ในจอเรห์ด้า จดว่าแต่ละไตรมาสข้อมูล
    เป็นอย่างไร พัฒนาการเป็นอย่างไร แล้วก็จะนำพวกนี้ก็ไปใส่จินตนาการ
    เหมือนกัน

    จากคุณ : puit26 - [ 20 ม.ค. 52 15:02:14 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom