Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    แบงก์กรุงเทพ ถึงเวลา..Big Change

    อนุโมทนาด้วยครับ จริงๆควรจะรู้ตัวมานานแล้วนะครับ
    ถ้าให้ผมแนะนำนะ อยากลดขนาดองค์กรหรือเปล่า

    ป้าๆที่หน้าเคาเตอร์แล้วชอบทำหน้าเหมือนลูกค้าไปขอส่วบุญน่ะ  เอาออกซะ
    ป้าๆที่ลูกค้ามายืนหน้าเคาเตอร์แต่มัวคุยว่าเย็นนี้จะไปไหนต่อดี   เอาออกซะ
    ป้าๆที่ลูกค้าต่อแถวเป็นสิบ แต่มัวนั่งโบ๊ะหน้าหนาเตอะ              เอาออกซะ
    ป้าๆที่พูดกับลูกค้าประหนึ่งราชินีสั่งทาส                                เอาออกซะ
    ป้าๆที่บอกว่าคิวเต็ม ทั้งๆที่เหลือเวลาอีกครึ่งชม กว่าจะปิด         เอาออกซะ
    ป้าๆที่บอกว่าไปสาขาอื่นหรือมาใหม่วันหลัง(ต่อจากอันบน)       เอาออกซะ
    ป้าๆที่ชอบพูดว่า ทำไม่ได้ๆ ทั้งๆที่มันทำธุรกรรมได้                 เอาออกซะ
    ป้าๆที่ลูกคาจะมาซื้อกองทุน(ของบัวหลวง) แต่ดันบอกว่าไม่มี   เอาออกซะ

    ไม่ต้องเยอะครับๆ เอาแค่นี้ก็ออกไปจะครึ่งนึงแล้วมั้งครับ
    ผมรับรองเลยว่าธนาคารนี้จะทำรายการเร็วขึ้น และน่าใช้บริการมากขึ้นครับ

    สุดท้ายผมไม่ได้มีอคติทางด้านเพศนะครับ แต่เท่าที่เห็นมักจะเป็นป้าๆจริงๆ
    หรือเป็นเพราะเทลเลอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงหว่า ลุงๆเลยไม่ค่อยได้ก่อปัญหา

    (@_@)

    ----------------------------------------------------------------------------
    ถึงเวลาที่ 'ช้างสีลม' ธนาคารกรุงเทพ ปรับวิธีคิดและโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ 'เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์' เตรียมแขวนนวม..ลั่นกลองรบ Big Change !!!

    Changeๆๆๆ !!! คำคำนี้ กำลังกึกก้องอยู่ในจิตสำนึกของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพทุกคน เมื่อช้างสีลมมิอาจนิ่งเฉยต่อกลองมโหระทึกที่ดังกระหึ่มมาจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณสี่แยกรัชโยธิน ท่วงทำนองการตลาดดุเดือด เร่าร้อน ต่อเนื่องสร้างความเคยชินต่อโสตสัมผัส

    วันนี้ "ขนาด" อาจไม่ได้วัดผลแพ้ชนะในการศึกเหมือนก่อน "ประสิทธิภาพ" ความต่างแทบไม่เห็น ความภักดีต่อ "แบรนด์" เริ่มลดน้อยลง "ความสัมพันธ์" เปลี่ยนได้ตามผลประโยชน์ที่ถูกหยิบยื่น ธนาคารพาณิชย์หมายเลขหนึ่งมีหรือจะไม่ตระหนักถึงสัจธรรมอันนี้ ตำราพิชัยสงครามแก่นแท้เนื้อหาไม่เปลี่ยน แต่สถานการณ์เปลี่ยน จำเป็นต้องพลิกแพลง

    สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ย่นระยะเวลาสั้นลง นักการตลาดเริ่มเข้าสู่วงการเงิน และนักการเงินต้องทำการตลาดเป็น จริงแท้ที่มูฟเมนท์ของธนาคารกรุงเทพถูกกลบด้วยเกมการตลาดของคู่แข่งที่เน้นทั้งกว้างทั้งลึก (รายย่อย-รายใหญ่) ขณะที่ธนาคารกรุงเทพยังเน้นลึกมากกว่ากว้าง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างตั้งรับมากเกินไป      

    ล่าสุด ในการประชุมผู้จัดการสาขาทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2552 ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพได้ออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่า..ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการให้บริการ ในอนาคตเราอาจไม่ใช่ตัวเลือก “อันดับหนึ่ง” ในใจลูกค้าอีกต่อไปแล้ว

    “เดิมทีเรามีแนวคิดว่าต้องขาย ขาย แล้วก็ขาย (ปล่อยสินเชื่อให้ได้มากๆ) เท่านั้น (ถึงจะได้กำไรมาก) แต่หลังจากนี้ไป ธนาคารกรุงเทพจะมีภาพลักษณ์ใหม่เราจะร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับลูกค้ามากขึ้น” โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

    อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า ธนาคารกรุงเทพอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับบน โดย ปิติ สิทธิอำนวย ประธานกรรมการบริหารร่วม จะค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองลง เช่นเดียวกับ วิระ รมยะรูป ที่ลาออกจากตําแหน่งกรรมการธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 และเลื่อนเดชา ตุลานันท์ จากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร ส่วนพนักงานระดับกลางถึงล่างจะยังคงตำแหน่งหน้าที่เดิมไปก่อน

    ขณะที่ที่ บล.บัวหลวง (ธ.กรุงเทพถือหุ้น 56.34%) มีการเปลี่ยนตัว พิเชษฐ สิทธิอำนวย (ทายาทปิติ สิทธิอำนวย) ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้อำนวยการแทน ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ พร้อมทั้งมีการส่งสัญญาณว่า เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จะลงจากตำแหน่งหอคอยงาช้าง ด้วยเหตุผลเรื่องของอายุ โดยจะดัน โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของธนาคารแทน ส่วนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ยังคงเป็นของทายาทรุ่นที่สาม ชาติศิริ โสภณพนิช เช่นเดิม

    “เรื่องนี้ผมคงพูดเองไม่ได้ว่าจะเริ่มเมื่อไร (โฆสิตขึ้นมาแทนเจ้าสัวชาตรี) เพราะขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงคงต้องใช้เวลาพอสมควร” โฆสิต กล่าว

    ในส่วนของการปรับวิสัยทัศน์องค์กร เบอร์สองธนาคารกรุงเทพ บอกว่า ในเบื้องต้นจะมีการปรับวิธีคิดของพนักงานสาขาให้เป็นฝ่ายเดินออกไปหาลูกค้า (ไม่ใช่ให้ลูกค้าเดินเข้ามาหา) จะตั้งทีมชื่อว่า "บีบีแอล ทีม" เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลที่ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนน้อยกว่าคู่แข่งมาก

    อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือในทันทีเพราะธนาคารมีพนักงานเป็นหมื่นคนทั่วประเทศ แต่ยังไงก็ต้องทำ (ปรับตัว) ขณะนี้ก็เริ่มต้นไปบ้างแล้ว

    ถ้าดูจากสัดส่วนรายได้ของธนาคารกรุงเทพหนักไปที่สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ถึง 51% ลูกค้าเอสเอ็มอี 35% โดยมีรายได้จากลูกค้ารายย่อยเพียง 14% แต่ด้วยกฎเกณฑ์บาเซิล 2 ที่เพิ่งบังคับใช้อาจมีผลทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารลดลงได้เพราะต้องตั้งสำรองตามความเสี่ยงมากขึ้น ต่างจากสินเชื่อรายย่อยที่ถูกบังคับตั้งสำรองน้อยกว่า

    ในขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี ปีที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยสามารถ “แซง” ขึ้นมาจนมีสัดส่วนการตลาดอันดับหนึ่งได้สำเร็จ ด้วยกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเต็มรูปแบบ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีมาร์เก็ตแชร์สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

    การสูญเสียฐานที่มั่นสำคัญที่เคยเป็นผู้ครองตลาดมาก่อน อาจเป็นเหตุผลให้ธนาคารกรุงเทพเกิดแรงกระตุ้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่และเห็นถึงความสำคัญของการทำการตลาดเชิงรุกที่คู่แข่งใช้อย่างได้ผล

    นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพยังเดินตามหลังคู่แข่งที่ดำเนินกลยุทธ์พ่วงขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินร่วมกันภายในเครือ (Cross Selling) อย่างได้ผล สามารถเพิ่มฐานรายได้ค่าธรรมเนียมให้มีสัดส่วนต่อรายได้รวมสูงขึ้นอย่างชัดเจน เช่น การเชื่อมฐานลูกค้าธุรกิจหลักทรัพย์  ลิสซิ่ง ประกันภัยและประกันชีวิต และกองทุนรวม เป็นต้น

    ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพ แม้ว่าจะมีลูกข่ายครบวงจรเช่นเดียวกัน แต่มีเพียง บลจ.บัวหลวง แห่งเดียวเท่านั้นที่ธนาคารถือหุ้นทั้ง 100% การบริหารแบบรวมกลุ่มจึงยังไม่เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของธนาคาร

    ด้านผลการดำเนินงานปี 2551 ธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิ 20,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% มีกำไรก่อนหักสำรองและภาษี 35,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% ธนาคารมีการขยายตัวด้านสินเชื่อในปี 2551 ในอัตรา 13.2% ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ในขณะที่เงินฝากขยายตัว 3.5% ในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้มุ่งเน้นการแก้ไขหนี้มีปัญหาทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี ลดลงจากปีก่อน 33.1% เหลือ 54,636 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 4.6% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 7.9% ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2550

    สำหรับในปีนี้ โฆสิต ระบุว่า ธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าขยายตัวด้านสินเชื่อในปี 2552 ในอัตรา 5% (ปีที่แล้วขยายตัว 13.2%) โดยยังเน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอี

    ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ 15 แห่ง ประเมินกำไรสุทธิเฉลี่ยของธนาคารกรุงเทพในรอบปี 2552 เท่ากับ 19,221 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากปี 2551 ส่วนปี 2553 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 21,083 ล้านบาท ฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง

    http://www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/investment/2009/01/29/news_9928.php

    จากคุณ : ขอบฟ้าบูรพา - [ 29 ม.ค. 52 04:57:38 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom