ความคิดเห็นที่ 2
ถ้าคุณสองสามี ภรรยา มีเงินรวมกัน 65,000 บาทต่อเดือน จะมีวิธีจัดการเงินออมอย่างไร..
ข้อมูลคุณปรีดา
ผมปรีดาครับ ทำงานมา 18 ปี เป็นข้าราชการเงินเดือนน้อย มีลูก 1 คน กำลังเรียน สามีภรรยา รายได้รวมกันเพียง 65,000 บาท ค่าบ้านรวมกับค่ารถประมาณ 18,000 อยากมีเงินออมบ้าง ตอนนี้ซื้อหุ้นสหกรณ์เดือนละ 1,500 บาท ฝากประจำ 24 เดือนๆ ละ 5,000 บาท เล่นแชร์ 3,000 บาท ต่อเดือน แต่โดยรวมๆ ก็ยังใช้เดือนชนเดือน ช่วยแนะนำหน่อยครับ ว่าจะต้องจัดการเงินออมยังไงดี ถ้ารายได้และค่าใช้จ่ายเป็นอย่างที่เล่ามา
ความเห็น บลจ.บัวหลวง
ผมขอสรุปข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ครับ รายได้รวมสามี และภรรยาก่อนหักภาษี (65,000 x 12) = 780,000 บาทต่อปี ค่าผ่อนรถและค่าผ่อนบ้าน (18,000 x 12) = 216,000 บาทต่อปี เงินออม 1. ซื้อหุ้นสหกรณ์ (1,500 x 12) = 18,000 บาทต่อปี 2. ฝากประจำ (5,000 x 12) = 60,000 บาทต่อปี 3. เล่นแชร์ (3,000 x 12) = 36,000 บาทต่อปี รวมเงินออม = 114,000 บาทต่อปี รายได้คงเหลือก่อนหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต = 450,000 บาทต่อปี อายุการทำงาน 18 ปี และมีบุตร 1 คน
คุณปรีดาต้องการทราบว่าจะจัดการเงินออมอย่างไรดี ถ้ารายรับรายจ่ายเป็นอย่างที่กล่าวมา
จากข้อมูลที่นำส่งมาไม่มีระบุถึงประมาณการค่าใช้จ่ายของครอบครัวในแต่ละ เดือน แต่ตามความเห็นของผมคุณปรีดาน่าจะมีความสามารถในออมเงินได้ดีคือสามารถออม เงินได้มากกว่า 10% ของรายได้ต่อเดือน การที่คุณปรีดาอยากทราบว่าจะจัดการเงินออมอย่างไรนั้น ควรมีการกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน เพื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ของเงินออม ซึ่งจำเป็นต้องมีความชัดเจน เป็นไปได้ และมีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนครับ ทั้งนี้จากข้อมูลที่ให้มาผมขอแนะนำคร่าวๆ ดังนี้ครับ
1. กำหนดเป้าหมายทางการเงินเพื่อการศึกษาบุตร ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผน และเก็บออมเงินเพื่อการศึกษาลูกตั้งแต่เนิ่นๆ จากนั้นแล้วคุณปรีดาควรที่จะต้องประมาณการรายได้ และค่าใช้จ่ายของคุณตามช่วงอายุลูก เพื่อให้ทราบว่าต้องออมเงินเท่าไรถึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา ของลูกในอนาคตครับ
2. กำหนดเป้าหมายทางการเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งผู้ที่มีการเตรียมตัว และวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดี จะสามารถดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณได้เป็นมีความสุข ควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ครับ
a. ประมาณการว่าจะใช้เงินออมไปอีกกี่ปีหลังเกษียณ b. อัตราเงินเฟ้อช่วงเกษียณอายุ c. โดย ทั่วไปคนเราจะต้องการเงินประมาณ 70% ของรายจ่ายก่อนเกษียณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ซึ่งจำนวนเงินนี้อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิต ปัญหาสุขภาพ ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ
3. การจัดสรรเงินไว้สำรองใช้ยามฉุกเฉิน โดยกันเงินไว้ประมาณ 4-6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ใช้อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้อาจอยู่ในรูปเงินฝากออมทรัพย์ แต่ผมขอแนะนำกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถไถ่ถอนได้ทุกวันทำการ เช่น กองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ของ บลจ. บัวหลวง ครับ
หลังจากกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนเรียบร้อย คุณปรีดาควรมีการผสมผสานการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นไปตามที่คาดหวังตาม ระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุคุณปรีดานั้น ผมคาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 40 ปี ซึ่งในปัจจุบันการออมของคุณปรีดาอยู่ที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และหุ้นสหกรณ์ เป็นหลักซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างน้อย
จึงอยากให้แบ่งเงินออมบางส่วนเช่นประมาณ 30% ไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น กองทุนรวมตราสารทุน หรือลงทุนซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ต่างๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่จะได้รับภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ ส่วนตัวแล้วผมไม่แนะนำการออมเงินด้วยการเล่นแชร์ครับ
การผสมผสานการลงทุนที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งสามารถที่ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับข้อจำกัดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวังครับ
ข้อแนะนำสุดท้ายคือ การออมเงินที่ดีนั้นควรที่จะต้องออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อหน้าที่การงานมีความมั่นคงมากขึ้น รายได้มากขึ้น ก็ควรจะเพิ่มสัดส่วนการออมให้มากยิ่งขึ้นครับ ทั้งนี้คุณปรีดาควรที่จะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ควบคู่ไปกับการบริหารภาระหนี้สินที่มีอยู่ เพราะคุณปรีดายังคงมีภาระค่าบ้าน และรถอยู่
ดังนั้น การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยในเรื่องการวางแผนการใช้จ่ายและจัดสรรเงินออมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
บทความนี้เป็นคำแนะนำตามหลักการลงทุนทั่วไปและอ้างอิงตามข้อมูลเท่าที่ ได้รับเท่านั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในสัดส่วนดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และผู้ลงทุนควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนการลงทุนจริง
จากคุณ :
parn 256
- [
15 มี.ค. 52 07:19:39
]
|
|
|