ฉบับ 1 และ 2 อยู่นี้ครับ
#1 = http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I7835338/I7835338.html
#2 = http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I7850421/I7850421.html
วิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ทำให้นักลงทุนเสียหายหนักมาก
และคนจำนวนมากต่างก็ หนีตาย หรือถอนตัวจากตลาดหุ้นกันเป็นแถว แต่ดูเหมือนว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ กำลังยุ่งอยู่กับการลงทุนในบริษัทหลายๆ แห่ง ที่โดดเด่นก็คือ โกลด์แมนซาคและจีอี ที่เขาจ่ายเงินไปรวมกัน 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเม็ดเงินจำนวนกว่า 30,000 ล้านเหรียญที่มีอยู่ในมือ สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ช่วงนี้คือ โอกาสทอง ที่เขาจะได้ลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมในราคาที่ถูกมาก คำถามที่ตามมาก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ มีมุมมองหรือกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรในภาวะวิกฤติ และต่อไปนี้ก็คือความคิดของเขาที่ถูกนำเสนอโดย Alice Schroeder ผู้เขียนหนังสือชื่อ Snowball ซึ่งเล่าประวัติชีวิตของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่กำลังขายดีอยู่ในขณะนี้
บัฟเฟตต์คิดว่า
1) ในช่วงวิกฤตินั้น ถ้าคุณมีเงินสด และมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะลงทุน นี่คือสวรรค์และเป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้ สิ่งที่ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมก็คือ คนส่วนมากนั้นอาจจะมีเงินสด แต่ในยามที่เกิดวิกฤติ คนเหล่านั้นมักไม่กล้าลงทุนเนื่องจากพวกเขามักจะกลัวว่าเงินลงทุนจะสูญหายไปกับภาวะวิกฤติ บัฟเฟตต์บอกว่า ในยามที่คนกลัว เราจะต้องพยายามที่จะกล้าหรือ โลภ เพื่อที่จะได้กล้าเสี่ยงลงทุนในยามที่ เลวร้ายที่สุด และนี่มักจะกลายเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำถ้าเราทำได้ถูกต้อง
2) ในการที่จะลงทุนได้อย่างถูกต้องนั้น บัฟเฟตต์บอกว่า จงอย่าลงทุนในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ นั่นหมายความว่า เวลาเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นตกลงมามากก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าไปซื้อเพียงเพราะราคามันลงมา แต่จะซื้อเพราะเราดูแล้วว่าเรารู้จักและเข้าใจธุรกิจดี และรู้ว่าราคาที่เราเห็นนั้นต่ำกว่ามูลค่าของมันมาก สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤติหุ้นไฮเท็คในช่วงปี 2000 นั้น หุ้นไฮเท็คจำนวนมากมีราคาตกลงมา หลายๆ ตัวตกลงมา 80-90% แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้เข้าไปซื้อลงทุนเลย เพราะเขาไม่เข้าใจธุรกิจเหล่านั้นพอ และก็ต้องบอกว่าบัฟเฟตต์คิดถูกที่ไม่ได้เข้าเล่นหุ้นไฮเท็ค เพราะหุ้นส่วนมากที่ตกลงมานั้น ไม่ได้มีโอกาสกลับขึ้นมาอีกเลย
3) อย่าพยายามรับมีดที่กำลังร่วงลงมาจนกว่าคุณจะเข้าใจและจัดการกับความเสี่ยงได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่บัฟเฟตต์ระมัดระวังเสมอ จากประวัติของบัฟเฟตต์นั้น แทบทุกครั้งที่เขาเข้าไปลงทุนในหุ้นที่กำลัง วิกฤติ ก็คือ นอกจากโอกาสที่จะทำกำไรมหาศาลแล้ว เขาจะมองหา ตาข่าย รองรับเสมอถ้าสิ่งที่เขาคิดไว้ผิดพลาด กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่เขาใช้เป็นประจำก็คือ แทนที่จะเข้าไปซื้อหุ้นโดยตรง เขามักจะเสนอซื้อหุ้นบุริมสิทธ์ที่บริษัทสัญญาว่าจะจ่ายปันผลแน่นอน เช่นในกรณีของโกลด์แมนซาคและจีอีที่จ่ายปันผล 10% ต่อปี และเขามีสิทธ์ที่จะได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทล้มละลาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เขาจะขออ็อปชั่นหรือวอแรนต์ที่จะซื้อหุ้นสามัญในอนาคตในราคาที่กำหนดล่วงหน้าซึ่งจะทำให้เขาได้กำไรมหาศาลถ้าบริษัทฟื้นตัวและรอดจากภาวะวิกฤติไปได้ อย่างในกรณีของโกลด์แมนซาคและจีอี เขาก็ได้วอแรนต์ที่จะซื้อหุ้นสามัญจำนวนเท่ากับหุ้นบุริมสิทธ์ภายในเวลา 5 ปีในราคาพอ ๆ กับราคาตลาดในช่วงที่เขาตัดสินใจลงทุน
สถิติการลงทุนในยาม วิกฤติ ของบัฟเฟตต์ นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ายอดเยี่ยมและต้องถือเป็นตำนาน ในครั้งนี้เราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การตอบรับจากตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะเป็นในทางบวกตั้งแต่เขาเข้าไปลงทุนแล้ว แต่ประเด็นของเราก็คือ การตกลงมาของตลาดหุ้นบ้านเราในวันนี้ถือเป็นวิกฤติหรือโอกาสที่เราจะเข้าไปทำเงิน?
วิเคราะห์ดูแล้ว ผมเห็นว่าภาวะของเศรษฐกิจและตลาดการเงินของเราจริงๆ ไม่ได้ถูกกระทบมากเพราะเราได้รับบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 ที่ทำให้กิจการทั้งหลายในประเทศไทยมีความระมัดระวังมาก รวมไปถึงสถาบันการเงินต่างๆ ก็ไม่ได้มีการปล่อยเงินกู้ออกไปง่าย ๆ อย่างในสมัยก่อน และนี่ทำให้การกู้เงินของบริษัทต่างๆ มีสัดส่วนน้อยลงไปมากทำให้ฐานะการเงินของบริษัทส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้มแข็ง ดังนั้น ภาวะวิกฤติที่กระทบกับไทยโดยตรงจริงๆ จึงอยู่ที่ตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติต่างก็เทขายหุ้นเพื่อนำเงินกลับไปดูแลตนเองในต่างประเทศ ผลก็คือ ราคาหุ้นลดลงเรื่อยๆ โดยที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังดีอยู่ แน่นอน ผลการดำเนินงานในอนาคตอาจจะถดถอยลงบ้างแต่ก็คงไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลดลงของราคาหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่พึ่งพิงกับการใช้จ่ายเงินในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ข้อสรุปของผมก็คือ นี่น่าจะเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นลงทุน
การลงทุนใน ภาวะวิกฤติ ในช่วงนี้ แน่นอน มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาวะวิกฤติของอเมริกาลามไปและทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายึดหลัก 3 ข้อ ของบัฟเฟตต์ข้างต้น ผมคิดว่ามีโอกาสสูงที่เราจะได้รับผลตอบแทนที่ดี พูดถึงเรื่องนี้ ผมลองนึกย้อนหลังไปในช่วงประมาณ 12 ปีที่ผมลงทุนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์และเก็บข้อมูลอย่างละเอียดก็พบว่า ผมผ่าน ภาวะวิกฤติ มาถึง 2 ครั้งแล้วคือในปี 2540 และ 2543 ทั้งสองครั้งดัชนีตลาดตกลงมากว่า 40% ซึ่งมากกว่าภาวะในขณะนี้ แต่ผมก็รอดมาได้ ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมครั้งนี้ผมจะรอดไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า ใน 2 ครั้งก่อนนั้น ภาวะเศรษฐกิจจริงเลวร้ายกว่าในปัจจุบันมาก เพราะฉะนั้น สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว การเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ก็ต้องถือว่าได้เปรียบมาก อย่าปล่อย โอกาสทอง ให้หลุดไปนะครับ
แก้ไขเมื่อ 21 พ.ค. 52 07:08:32