Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เคล็ดไม่ลับการลงทุนตลาดหุ้น : ตอน 1 [คู่มือมือใหม่ในการลงทุน # 4]

    เคล็ดไม่ลับการลงทุนตลาดหุ้น : ตอน 1
    เมื่อพูดถึงตลาดหุ้นแล้วคนส่วนใหญ่จะรู้จักหรือคุ้นเคยกับตลาดหุ้นเป็นอย่างดี
    แต่คนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างผู้รู้หรือกูรู ที่ได้รับยกย่องเป็นตำนานอย่าง นายวอเรน บัฟเฟต์ นั้นหาได้ยาก

    โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่เรียกกันว่าเป็นตลาดประเทศกำลังพัฒนา ที่มีขนาดของมูลค่าตลาด ซึ่งหมายถึงราคาของหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งขนาดของตลาดหุ้นไทยนั้นมีมูลค่า 6.9 ล้านล้านบาท (ประมาณ 200 พันล้านเหรียญ) คือคิดเป็นเพียง 75% ของจีดีพี ซึ่งในตลาดที่พัฒนาแล้วเช่น ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย เช่น สิงคโปร์ หรือฮ่องกง จะมีขนาดใหญ่กว่าผลิตมวลรวมในประเทศ

    การที่มีตลาดหุ้นมีมูลค่าขนาดเล็ก จึงจะถูกการบริหารจัดการ หรือพูดง่าย ๆ ว่าถูกปั่นให้สูงขึ้น หรือลดลงได้ง่าย ดังนั้นเมื่อมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นเงินกองทุนต่าง ๆ หรือแม้แต่กองทุนส่วนบุคคลของมหาเศรษฐีคนหนึ่งคนใดจำนวนมูลค่าเพียงหลักนับพันล้านบาท/วัน ก็สามารถมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นไทยได้ ดังจะเห็นได้ว่าในวันหนึ่งวันใดถ้านักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนจากตลาดหุ้นไทยก็จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นติดลบ และหากวันใดมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก ๆ ก็จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น

    การที่ตลาดหุ้นถูกปรับเปลี่ยนได้โดยง่ายดายจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ความผันผวนสูงวัดจากการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปจากค่าเฉลี่ยได้สูง เช่นผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10.3 ต่อปี แต่จะมีค่าความผันผวน 35.1% หากเทียบกับตลาดหุ้นโลกที่มีขนาดใหญ่นั้นที่มีค่าผลตอบแทนเฉลี่ยระดับเดียวกัน แต่มีค่าความผันผวนต่ำกว่าตลาดหุ้นไทยประมาณเท่าตัวที่ระดับ 17.5% (ข้อมูลดัชนี SET เทียบกับ ดัชนีหุ้นโลก MSCI ในช่วงปี 1989-2005) ทั้งนี้เนื่องจากเป็นตลาดหุ้นโลกจะมีขนาดของมูลค่าตลาดใหญ่มากจนไม่มีนักลงทุนราย หนึ่งรายใดมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนทิศทางของตลาดได้

    ด้วยความผันผวนสูงในลักษณะของตลาดหุ้นเกิดใหม่นี้ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่าตลาดหุ้นเหมือนกับบ่อนการพนัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งตลาดหุ้นไต้หวันถูกขนานนามเป็นบ่อนกาสิโน และอาจจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้สำหรับตลาดหุ้นไทย ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งไม่กล้าที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทย และแม้แต่นักลงทุนที่กล้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยเองแล้ว ก็จะมีเพียงส่วนหนึ่งและเป็นจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จ

    ซึ่งพอจะประมวลได้ว่าความล้มเหลวของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    (1) ขาดวัตถุประสงค์ในการลงทุนที่ถูกต้อง คนลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะหวัง   ว่าหุ้นที่ตนเองซื้อจะมีราคาสูงขึ้นและหวังผลตอบแทนการลงทุนในระยะสั้น ดังนั้นจึงซื้อหุ้นตามคำแนะนำ (ของนายหน้า broker หรือตามคำแนะนำของญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง ตลอดจนการแห่ซื้อตามคนอื่น) หรือซื้อตามข่าววงใน (inside trading) ว่าหุ้นของบริษัทนั้นบริษัทนี้จะมีราคาสูงขึ้น

    โดยไม่ได้มีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับบริษัทที่ตนเองจะลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งหลักการลงทุนของนายวอเรน บัฟเฟต์ คือลงทุนในธุรกิจที่ตนเองมีความรู้จักและมีความคุ้นเคยเท่านั้น ดังนั้นการละเลยหลักการลงทุนนี้ จึงทำให้นักลงทุนประเภทนี้ที่ลงทุนตามข่าวลือ ข่าวเล่าอ้างไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเข้าซื้อหุ้นใน เวลาที่คนอื่น ๆ ได้ซื้อไว้ก่อนหน้าแล้ว และตอน ออก (ขายหุ้น) ก็จะออกเป็นรายท้าย ๆ เพราะรอคำบอกเล่าของคนอื่น ทำให้ได้กำไรต่ำหรือ ขาดทุน

    (2) ขาดความรู้เรื่องการลงทุนหุ้น หลักการลงทุนหุ้นคือ ?ซื้อเมื่อราคาถูก และขายเมื่อราคาแพง? ถ้าท่านใดทำได้ก็จะไม่มีทางขาดทุน แต่คนส่วนใหญ่ที่ขาดทุนคือ ?ซื้อแพง แต่ขายถูก? มนุษย์เราส่วนใหญ่แล้วมีสัญชาตญาณของความโลภ คือ จะซื้อหุ้นตอนราคากำลังเป็นขาขึ้นและกอดหุ้นนั้นเอาไว้ไม่ยอมขายออกไป เพราะคิดว่าราคาจะยังสูงขึ้นไปได้อีก และในทางกลับกันเมื่อราคาตกก็ไม่ยอมขาย เป็นเรื่องที่ยาก เพราะทุกคนต่างอยากจะซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำสุด และอยากขายหุ้นออกไปตอนราคาสูงสุด

    การคาดเดาจุดต่ำสุดและจุดสูงสุดของหุ้นนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากไม่โลภแล้ว ตัวอย่างเช่นถ้าได้กำไรตามเป้าหมายแล้วเช่น 12%, 15% ขายออกไป แทนที่จะรอว่าจะได้กำไรที่สูงมากกว่านี้ หรือถ้าหากในกรณีขาดทุนก็จะต้องยอมตัดขาดทุนออกไป (cut loss) การลงทุนในลักษณะที่ไม่โลภนี้ก็จะไม่ทำให้เสียหายจนหมดตัว หรือถ้าหากได้ก็จะไม่ได้สูงมาก คำว่าหุ้นถูกหรือแพงนั้นควรจะเป็นค่า ที่เหมาะสม (Fair Value) ที่วัดโดยปัจจัยพื้นฐานซึ่งจะได้พูดกันทีหลังว่าจะดูว่าหุ้นถูกหรือแพง อย่างไร

    (3) ซื้อเฉลี่ยต้นทุนต้นทุนลง พฤติกรรมประการหนึ่งของนักลงทุนไทย คือ การซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อการเฉลี่ยต้นทุนที่สูงอยู่ให้มีค่าเฉลี่ยลดลง ซึ่งอาจจะซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง เช่นติดหุ้นตัวหนึ่งในราคา 100 บาท แต่ราคาตกลงมาเหลือ 60 บาท จึงซื้อหุ้นเพิ่มเข้ามาเพื่อดึงให้ราคาถัวเฉลี่ยเป็น 80 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการของนักลงทุนมือใหม่ ซึ่งถ้าหากหุ้นยังตกต่อไปแล้วก็จะทำให้การขาดทุนเพิ่มขึ้น  

    (4) ซื้อหุ้นราคาต่ำ เพราะความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่าซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำจะทำให้ได้จำนวน หุ้นมากกว่า ตัวอย่างเช่นเลือกซื้อหุ้นราคา 10 บาทต่อหุ้นแทนการเลือกซื้อหุ้นราคา 60 บาท   เพราะหุ้นราคา 10 บาทไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่ดีกว่าหุ้นราคา 60 บาท การที่หุ้นมีราคาต่ำหรือต่ำกว่าราคาพาร์นั้น อาจจะเป็นผลมาจากผลประกอบการที่ไม่ดี หรือกิจการมีปัญหาได้ หากมีความเข้าใจผิด ๆ ก็จะทำให้มีการซื้อแต่หุ้นขนาดเล็กและเป็นหุ้นชั้นสองที่ไม่ใช่หุ้นที่เป็นหุ้นนำตลาด ดังนั้นการเลือกหุ้นจึงควรเลือกคุณภาพไม่ใช่เอาจำนวนมาก ๆ เข้าว่า

    (5) ซื้อหุ้นเพราะหวังเงินปันผลดี ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นนั้นจะได้ผลตอบแทน 2 ส่วนคือ กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (capital gain) และเงินปันผล ซึ่งอัตราเงินปันผลโดยเฉลี่ยแล้วจะไม่สูงกว่ากำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคา ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วการจ่ายเงินปันผลออกไปเป็นการนำเงินสดจำนวนหนึ่งมาจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ดังนั้นส่วนของกำไรจึงลดลง เห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วภายหลังการจ่ายเงินปันผลราคาของหุ้นอ่อนตัวลง แต่ในบางกิจการก็ให้ผลตอบแทนในอัตราที่ดี ดังนั้นจึงต้องมีความเข้าใจว่าการลงทุนในหุ้นนั้นหวังผลกำไรจากการที่กิจการมีกำไรมีอัตราการเติบโตดี  หรือวัตถุประสงค์รองที่ได้เงินปันผล.



    (1) มีเป้าประสงค์การลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนที่ต้องการ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระยะเวลาเป้าหมายของการลงทุน ต้องเข้าใจถึงลักษณะของหุ้นว่าเหมาะสมกับการลงทุนระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งได้มีการศึกษาจากหลายแหล่งและหลายตลาดเอาไว้ว่า ระยะเวลาของการลงทุนยิ่งยาวโอกาสของการขาดทุนก็จะยิ่งน้อยลงตามลำดับ ซึ่งการลงทุนระยะยาวนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ต้องตัดสินใจซื้อขายจำนวนบ่อยครั้ง เพราะการตัดสินใจซื้อขายในตลาดหุ้นนี้มีความผันผวนสูงนั้นโอกาสที่จะตัดสินใจผิด (การซื้อหุ้นราคาแพงและขายในราคาถูก) ซึ่งมีสถิติว่าการลงทุนระยะสั้นจะมีโอกาสของการขาดทุนสูงมากกว่าการลงทุนในระยะปานกลางและการลงทุนระยะยาว

    มีการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้นที่จะเข้าลงทุน อย่างน้อยควรรู้ว่าธุรกิจที่ตนเองเข้าลงทุนนั้นมีสภาวะการตลาดและสภาวะการแข่งขัน  เป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งโอกาสของการเติบโตใน  อนาคตเพราะการลงทุนจะต้องมองว่าเราเข้าเป็น เจ้าของกิจการคงต้องการเห็นการเติบโตในอนาคต (การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในอนาคต) การที่จะ เติบโตได้ดีต้องเป็นสินค้าบริการที่มีความต้องการ ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และหุ้นที่มีอัตรากำไรต่อหุ้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นหุ้นที่น่าพิจารณาลงทุน

    วิเคราะห์พื้นฐานฐานะการเงินของกิจการ หรือผลประกอบการของกิจการ ซึ่งอาจจะเริ่มจากตัวชี้วัดการเงินพื้นฐาน ที่เรียกว่าอัตราส่วนของราคา/กำไรต่อหุ้น (ผลดำเนินงาน) หรือ พีอี เรโช “price/earning ratio” โดยการเอาราคาของหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้น ซึ่งหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำส่วนใหญ่แล้วจะให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าหุ้นที่มีค่าพีอีที่สูงกว่า ซึ่งนอกจากเทียบ ค่าพีอีของหุ้นต่าง ๆ จะสะท้อนถึงความถูกแพงของหุ้นนั้น ๆ และในหุ้นตัวหนึ่งตัวใดแล้วก็อาจจะเทียบกับค่าเฉลี่ยของตัวมันเองถ้าหากมีค่าพีอีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตนเองแล้วโดยที่ไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการแล้ว ก็พออนุโลมได้ว่าหุ้นนั้นมีค่าถูกกว่าปกติที่น่าจะเข้าลงทุนได้ศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ นักลงทุนที่ดีควรจะทำการ บ้านด้วยการติดตามข้อมูลของธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาจจะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองด้วยการอ่านข้อมูลธุรกิจ และบทวิเคราะห์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายผ่านสื่อต่าง ๆ การเข้าอบรมการวิเคราะห์หุ้นของบริษัทหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีการจัดให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงการขอคำปรึกษากับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ท่านเป็นลูกค้าอยู่เพื่อยืนยันความรู้ความเข้าใจของหุ้นที่ท่านลงทุน

    ถ้าหากไม่ต้องการที่จะศึกษาหุ้นด้วยตัวเอง ก็มีทางเลือกที่จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จะมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพที่จะตัดสินใจคัดเลือกการลงทุน ตลอดจนการสั่งซื้อขายแทนท่านซึ่งกองทุนรวมนั้นมีอยู่หลากหลาย ประเภทเช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนแบบผสม และกองทุนตราสารเงินระยะสั้น ซึ่งสามารถเลือกลงทุนได้ตามความชอบของผลตอบแทนและความเสี่ยง ซึ่งกองทุนรวมนี้จะมีข้อดีคือ จะมีสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำกับดูแล

    มีวินัยในการลงทุนทั้งนี้จะต้องตัดใจ ขายหุ้นออกไปเมื่อราคาได้ตามราคาเป้าหมาย หรือ ได้กำไรตามเป้าหมายที่ต้องการ หรือเมื่อค่าพีอีนั้นเริ่มสูงมากกว่าระดับที่มองว่าแพงเกินไป เพราะความโลภที่อยากจะได้กำไรมาก ๆ หรือสูง ๆ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งติดหุ้น ณ ราคาสูง เพราะการคาดการณ์จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดของหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจึงมีโอกาสผิดพลาดสูงถ้าหากปฏิบัติตามเคล็ดไม่ลับที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็คงทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้นครับ

    แก้ไขเมื่อ 26 พ.ค. 52 06:49:48

    แก้ไขเมื่อ 26 พ.ค. 52 06:48:37

    จากคุณ : CCAIS - [ 26 พ.ค. 52 06:47:07 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom