บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ
...ผมชอบอ่าน บทความของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ติดตามตั้งแต่เริ่มวิกฤตแฮมฯใหม่ๆ...
...เพื่อนๆลองอ่านดูนะครับ ผมว่า เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน...
.......................................................................................................
ผมขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาสำคัญได้ใน 3-6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐ นาย Timothy Geithner เดินทางไปเยือนจีน และได้พูดคุยกับผู้นำจีนเกี่ยวกับนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์
ประเด็นหลักของปัญหามีดังนี้
1.เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ เช่น เมื่อปี 2008 รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณเพียง 4 แสนล้านดอลลาร์ (3% ของจีดีพี) แต่ปีนี้รัฐบาลสหรัฐจะต้องขาดดุลงบประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ (13% ของจีดีพี) และจะขาดดุลต่อเนื่องอีกหลายปี ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นหลายล้านล้านดอลลาร์ และยังจะต้องต่ออายุพันธบัตรเดิมที่หมดอายุ โดยประมาณว่า ในปีนี้อาจต้องออกพันธบัตรมากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งตลาดอาจรับซื้อเอาไว้ไม่ได้หมด ธนาคารกลางสหรัฐจึงมีนโยบายจะเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยตั้งงบในขั้นแรกเอาไว้ 3 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์จะพยุงราคาพันธบัตรให้ไม่ตกต่ำ หรืออีกนัยหนึ่งคือ กดดอกเบี้ยพันธบัตรให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำนั่นเอง
2.การที่รัฐบาลสหรัฐจะต้องกู้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว (และในอนาคตยังมีพันธะที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและประกันสุขภาพอีกมาก) ประกอบกับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่จะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้นักลงทุนแสดงความไม่มั่นใจในมูลค่าของพันธบัตร ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีนั้น ดอกเบี้ยเคยต่ำเพียง 2.5% ในวันที่ 18 มีนาคม แต่ปัจจุบันสูงถึง 3.7% (ณ วันที่ 1 มิ.ย.) ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนตัวลงประมาณ 10% ในช่วงเดียวกัน กล่าวคือ ทุกคนที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันหรือถือเงินดอลลาร์จะขาดทุน 10-14% ในช่วงเวลาดังกล่าว
3.รัฐบาลอเมริกันจำต้องออกพันธบัตรเพิ่มทุกเดือนประมาณเดือนละ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และในจำนวนนี้จะต้องพึ่งพาการซื้อของนักลงทุนต่างชาติ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารกลางของต่างชาติ) ประมาณ 1/3 ของมูลค่าประมูลทั้งหมด สาเหตุที่ต้องพึ่งพาต่างชาติก็เพราะประเทศสหรัฐใช้จ่ายเกินตัวตลอดมา แตกต่างจากบางประเทศเช่นญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลมีหนี้สินสูงมากจริง (หนี้สาธารณะประมาณ 170% ของจีดีพี) แต่ประเทศญี่ปุ่นโดยรวมนั้น ประชาชนมีเงินออมสูง จึงไม่ต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถขายพันธบัตรได้ในราคาสูง (ดอกเบี้ยต่ำ) และไม่ส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง
4.ประเทศจีนเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและผู้ถือเงินดอลลาร์รายใหญ่ของโลก โดยจีนถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันประมาณ 760,000 ล้านดอลลาร์ และในส่วนของทุนสำรองทั้งหมดกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ประมาณ 60% จะอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ หรือสินทรัพย์ที่ตีมูลค่าเป็นดอลลาร์ ดังนั้นจีนจึงเป็นประเทศที่สามารถจะกำหนดทิศทางของดอกเบี้ยและค่าเงินของสหรัฐได้ กล่าวคือ หากจีนไม่ซื้อดอลลาร์เพิ่ม หรือไม่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันเพิ่ม (โดยไม่ต้องขายของเดิมที่มีอยู่ออกมา) ก็จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวและดอกเบี้ยในอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างฉับพลัน
ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวสุนทรพจน์ว่า เป็นนโยบายหลักของสหรัฐที่จะคงค่าเงินดอลลาร์ให้แข็งแกร่ง และให้คำมั่นว่า จะรักษาวินัยทางการคลัง โดยจะลดการขาดดุลงบประมาณลงจาก 13% มาเหลือเพียง 3% ของจีดีพีภายใน 3 ปี จึงถูกสอบถามจากผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมาก เพราะการขาดดุลงบประมาณมหาศาลและพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเป็นจำนวนมากจะให้ผลในทางตรงกันข้ามกับคำกล่าวของรัฐมนตรีคลัง กล่าวคือ เมื่อขาดดุลงบประมาณมากก็จะทำให้ต้องออกพันธบัตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (ทำให้ในปีต่อๆ ไปรัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง) แต่หากธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรดังกล่าวก็จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยลดลงในระยะสั้น แต่จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการถือสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์
กล่าวโดยสรุปคือสหรัฐอาจเผชิญกับปัญหาดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐควบคุมสถานการณ์ได้ยากและอาจกลับกลายเป็นว่าผู้ที่จะกำหนดค่าเงินดอลลาร์และดอกเบี้ยสหรัฐคือผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและถือดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรายสำคัญคือธนาคารกลางต่างประเทศโดยเฉพาะจีนนั่นเอง กล่าวคือสหรัฐเป็นประเทศลูกหนี้ที่จะต้องรับฟังเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ตักเตือนว่าสหรัฐต้องเป็นลูกหนี้ที่ มีความรับผิดชอบ และอย่าพิมพ์เงินออกมามากมายจนทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ดังนั้นจีนจึงทำหน้าที่คล้ายกับไอเอ็มเอฟในการเข้าไปกำกับดูแลนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐ
สำหรับประเทศไทยนั้นก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเจ้าหนี้สหรัฐกล่าวคือเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศ 120,000 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 2/3 น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ถือในรูปของเงินดอลลาร์และน่าจะถือพันธบัตรสหรัฐหลายหมื่นล้านดอลลาร์และประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอดในปีนี้ ดังนั้นเมื่อมีการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงซื้อเงินดอลลาร์เพื่อกดไม่ให้เงินบาทแข็งค่า ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นการทำให้ประเทศไทยต้องถือเงินดอลลาร์มากขึ้นและมักจะต้องถือพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นด้วย บางคนอาจแย้งว่าเมื่อได้เงินดอลลาร์มาก็ให้รีบขายแล้วเก็บเงินเป็นสกุลอื่น แต่ก็จะเป็นการขายเงินดอลลาร์กลับเข้าไปในระบบ ทำให้มีเงินดอลลาร์ส่วนเกินไหลเวียนในระบบเหมือนเดิม ในที่สุดก็จะกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก
ดังนั้นการจะกดให้เงินบาทไม่แข็งค่าจึงเป็นการยอมรับการปล่อยกู้เพิ่มให้กับสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายการแทรกแซงค่าเงินที่นิยมทำกันในประเทศเอเชียนั้นแม้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เสี่ยงต่อการด้อยค่าของทุนสำรองระหว่างประเทศและการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ
...............................................................................................
http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=6820&user=supavut
แก้ไขเมื่อ 09 มิ.ย. 52 06:57:03