Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทเริ่มต้นสำหรับนักลงทุนฉบับโกอินเตอร์  

ช่องทางการลงทุนในต่างประเทศที่ผู้ลงทุนไทยทั่วไปคุ้นเคยและนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คงจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)
โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกอง “กิมจิบอนด์” หรือกอง “กีวีบอนด์” ที่นิยมกันจนเป็นฟีเวอร์

แต่การจะลงทุนโกอินเตอร์ให้ได้ผลตอบแทนตรงตามเป้าหมายนั้น ผู้ลงทุนต้องเลือกลงทุนให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการลงทุน (จะใช้เงินก้อนนี้เมื่อไร เพื่ออะไร) และความสามารถรับความเสี่ยงที่อาจขาดทุนจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหนของตนเองด้วย ผู้ลงทุนจึงต้องมีความเข้าใจกลไกการลงทุนของกองทุนรวม FIF ให้ถ่องแท้ วันนี้ดิฉันจะขอพาท่านไปทำความรู้จักกับกองทุนรวม FIF ที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดทุนไทยขณะนี้ค่ะ

กะเทาะเปลือกรูปแบบ FIF ของไทย

ในปัจจุบันกองทุนรวม FIF ของไทยมีรูปแบบการบริหารแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริหารกองทุนด้วยตนเอง โดยนำเงินไปลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือสินค้าทางการเงินต่างๆ ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ แล้วแต่จะกำหนด เช่น อ้างอิงกับราคาหลักทรัพย์หรือดัชนีราคาหลักทรัพย์ ราคาสินค้าหรือดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาทองคำหรือราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การบริหารกองในรูปแบบนี้ในปัจจุบันยังจำกัดอยู่ที่สินค้าทางการเงินที่ผู้ประกอบการไทยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จึงยังไม่ครอบคลุมไปถึงการลงทุนโดยตรงในสินค้าอื่นอีกหลายประเภท เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ประเภททองคำและน้ำมัน เป็นต้น

ส่วน FIF อีกรูปแบบหนึ่งคือ แบบที่ บลจ. ไทยไปซื้อกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง (เท่ากับว่าเป็นการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศ) ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการลงทุนในต่างประเทศมีการกระจายความเสี่ยงไปในสินค้าทางการเงินอื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดย บลจ. สามารถลงทุนได้ 2 วิธี คือ แบบ Fund of Funds และ แบบ Feeder Fund (กองทุนรวม FIF ของไทยส่วนใหญ่มักจะลงทุนในรูปแบบหลังนี้)

กองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (Fund of Funds) เป็นการนำเงินไปซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายๆ กอง ซึ่งอาจจะมีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกันหรือมีนโยบายต่างกันก็ได้ เช่น กองทุนรวม FIF A ที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็อาจนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม B ซึ่งเป็นกองหุ้นของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับกองทุนหุ้น C ของประเทศบาห์เรน เป็นต้น

ซึ่งกองทุนรวมแบบ Fund of Funds นี้ บลจ. ไทยจะเป็นผู้กำหนดว่าจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศกองใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด และจะมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามความเหมาะสม (แต่ยังต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดนะคะ)

m กองทุนรวมประเภท Feeder Fund เป็นการนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งเรียกว่า Master Fund เช่น กองทุนรวม FIF X ไปลงทุนในกองทุนรวม Y ที่จัดตั้ง ในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งกองทุนรวม Y จะมีผู้จัดการกองทุนที่อยู่ต่างประเทศเป็นผู้ดูแลและบริหารเงิน โดยอาจจะเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นหรือสินค้าทางการเงินต่างๆ ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ ตัวอย่างของกองทุนรวมแบบ Feeder Fund ของไทยที่มีออกมาเสนอขายกันในช่วงนี้ ก็เช่น กองทุนรวม FIF ที่ไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศที่ไปลงทุนในทองคำแท่ง หรือกองทุนรวม FIF ที่ไปลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ เป็นต้น

FIF มีดีอะไร?

เรื่องที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ มีโอกาสโกอินเตอร์โดยมีมืออาชีพมาช่วยบริหารจัดการลงทุนแทน ซึ่งทำให้สามารถกระจายการลงทุนไปในสินค้าทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมมากกว่าสินค้าที่มีเสนอขาย อยู่ในประเทศ จึงนับเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ ซึ่งในภาวะปัจจุบันที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง ก็จะเห็นว่ามีกอง FIF เข้าไปลงทุนในสินค้า เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงเป็นทองคำ น้ำมันดิบ หรือดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Index) มากขึ้น เนื่องจากความเคลื่อนไหวของราคาของสินค้าประเภทนี้กับสินค้าพื้นฐานในตลาดทุนอย่างพวกหุ้นหรือตราสารหนี้ (Traditional Assets) มีความสัมพันธ์กันน้อยมาก (หมายความว่า ถ้าตัวหนึ่งราคาลดลง อีกตัวหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีราคาลดลงตามไปด้วย) จึงทำให้สามารถบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและยังเป็นโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กองทุนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ยิ่งกองทุนรวม FIF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ผู้ลงทุนก็ยิ่งต้องทำความเข้าใจกับลักษณะของกองทุนให้มาก ทั้งในเรื่องสินค้าที่กองทุนเข้าไปลงทุน ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ และความเสี่ยงต่างๆ ที่จะมากระทบต่อผลตอบแทนและมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) คราวหน้าดิฉันจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับกองทุนรวม FIF มาเล่าสู่กันฟังต่อนะคะ

http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=61313

จากคุณ : ขอบฟ้าบูรพา
เขียนเมื่อ : 11 ส.ค. 52 11:00:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com