Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อีทีเอฟและฟิวเจอร์ส... คู่หูใหม่ในการลงทุน  

คู่หูใหม่ในการลงทุน นับเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วตั้งแต่เดือนก.ย. 2550 ที่ตลาดทุนไทยเริ่มมีการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟ (ETF หรือ ExchangeTraded Fund) เริ่มต้นจากกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) ตามมาด้วยกองทุนเปิด MTRACK ENERGY ETF (ENGY) ในปี 2551 และล่าสุดคือ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ FTSE SET LARGE CAP ETF (TFTSE) เมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

ทำให้ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกองทุน อีทีเอฟให้ซื้อขายถึง 3 กองทุนแล้ว ซึ่งทั้ง 3 กองทุนเป็นอีทีเอฟที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ “นัดพบอนุพันธ์” เชื่อว่าจะมีการนำกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนหรือให้ผลตอบแทนเทียบเคียงสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ ดัชนีหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นต้น เข้ามาเพิ่มให้ผู้ลงทุนไทยได้ซื้อขายกัน โดยอาจเป็นกองทุนอีทีเอฟที่จัดตั้งขึ้นมาและลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ โดยตรง หรืออาจเป็นกองทุนอีทีเอฟที่จัดตั้งขึ้นและนำเงินไปลงทุนในกองทุนอีทีเอฟในต่างประเทศที่เรียกว่า Feeder Fund ก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ลงทุนและเกณฑ์ที่ทางการจะอนุญาตครับ

ในต่างประเทศนั้นอีทีเอฟจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ประสบความสำเร็จมาก โดยอีทีเอฟเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสมือนหุ้น และเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้เทียบเท่าสินทรัพย์ที่อ้างอิง เช่น ดัชนีราคาหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์-ทองคำ ดัชนีราคาตราสารหนี้ เป็นต้น ซึ่งการที่กองทุนอีทีเอฟจะสร้างผลตอบแทนให้เทียบเท่าสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงนั้น จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น TDEX จะลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ SET50 Index มากที่สุด หรือกองทุนอีทีเอฟทองคำในสหรัฐที่ชื่อ SPDR ก็จะมีการลงทุนในทองคำแท่งเพื่อให้ SPDR มีผลตอบแทนตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ เป็นต้น

สำหรับในบ้านเรา กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ และกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ FTSE SET LARGE CAP ETF นั้น จะใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนเชิงรับ (Passive Management Strategy) โดยลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีอ้างอิงเป็นหลัก และส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือเพื่อเป็นสภาพคล่องของกองทุน

สำหรับดัชนีอ้างอิงของอีทีเอฟทั้งสองกองทุนนั้นมีองค์ประกอบ ที่คล้ายคลึงกันคือ เป็นดัชนีที่มีองค์ประกอบเป็นหุ้นที่มีขนาด ใหญ่และมีสภาพคล่องสูง หรือที่พวกเราเรียกกันว่า หุ้นบลูชิป นั่นแหละครับ

อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในอีทีเอฟนั้นเปรียบเสมือนผู้ลงทุนได้ลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้มีข้อดีสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ แต่ไม่สามารถหาข้อมูลเพื่อพิจารณาวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว จึงนับว่าเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลามากนัก และปล่อยให้การบริหารจัดการลงทุนโดยมืออาชีพครับ

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ลงทุนที่มีมุมมองหรือมีความคาดการณ์ว่าตลาดจะปรับตัวไปในทิศทางใด อาจเลือกที่จะซื้อหรือขาย SET50 Futures แทน โดยหากคาดว่าดัชนีจะปรับตัวสูงขึ้น ผู้ลงทุนสามารถสร้างฐานะซื้อ (Long Position) เพื่อที่จะทำกำไรหากราคาฟิวเจอร์สปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงข้ามหากเห็นว่าตลาดมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนก็สามารถที่จะสร้างฐานะขาย (Short Position) ทั้งนี้เพื่อที่จะทำกำไรหากราคาฟิวเจอร์สมีการปรับตัวลดลงในทิศทางที่คาดไว้

ผู้ลงทุนสามารถที่จะเลือกใช้อีทีเอฟในการลงทุน หรือใช้ SET50 Futures เพื่อสร้างกำไรได้ตามความต้องการ แต่ผลิตภัณฑ์ทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันพอสมควร เนื่องจากการลงทุนในอีทีเอฟนั้นเปรียบเสมือนการลงทุนในหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจึงต้องชำระเงินลงทุนเต็มมูลค่า และสามารถถือครองได้นานเท่าที่ต้องการ เนื่องจากอีทีเอฟไม่มีวันหมดอายุ

ขณะที่ SET50 Futures ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เพราะวางแค่เงินประกันประมาณ 10% ของมูลค่าสัญญา ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูง แม้ว่าจะต้องมีการคิดกำไรขาดทุนจากฐานะฟิวเจอร์สที่ถืออยู่ทุกวัน และอาจมีการเรียกเงินเพิ่มหากเกิดการขาดทุน รวมทั้งมีอายุจำกัดด้วย

นอกจากนี้ ในการสร้างกำไรจากภาวะตลาดขาลงนั้น แม้ว่าตามเกณฑ์ปัจจุบันผู้ลงทุนจะสามารถขายชอร์ตอีทีเอฟได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่คล่องตัวนัก ขณะที่ SET50 Futures นั้นมีจุดเด่นคือ ผู้ลงทุนสามารถซื้อหรือขายก่อนก็ได้ ทำให้มีความคล่องตัวในการสร้างกำไรในทุกภาวะตลาด

จากที่กล่าวข้างต้นถึงความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง อีทีเอฟและ SET50 Futures ไปแล้ว “นัดพบอนุพันธ์” อยากให้ ลองพิจารณาถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งสองควบคู่กันไปนั่นก็คือ ในการสร้างพอร์ตลงทุนนั้นผู้ลงทุนควรพิจารณาลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน เงินฝาก ตามสัดส่วนที่เห็นว่าเหมาะสมและรับความเสี่ยงได้ โดยในส่วนของตราสารทุนนั้น ผู้ลงทุนอาจ ลองพิจารณาการลงทุนในอีทีเอฟแทนการเลือกลงทุนหุ้นรายตัว ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดความยุ่งยากในเรื่องของการพิจารณา คัดเลือกหุ้นรายตัว

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ลงทุนอาจพิจารณาใช้ SET50 Futures เพื่อจัดการความเสี่ยงในช่วงที่เห็นว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หรือในกรณีที่เห็นว่าเป็นภาวะกระทิงแน่นอน ผู้ลงทุนก็อาจเพิ่ม น้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนชั่วคราวโดยการซื้อ SET50 Futures ได้เช่นกันครับ ซึ่งการซื้อขายในลักษณะนี้จะช่วยลดปัญหาหุ้นขึ้นทั้งกระดาน แต่หุ้นตัวที่เราซื้อไว้ไม่ขึ้นครับ

รายงานโดย :บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=63977

จากคุณ : ขอบฟ้าบูรพา
เขียนเมื่อ : 31 ส.ค. 52 02:10:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com