Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ทางเลือกเงินออมยามดอกเบี้ยต่ำ : มันนี่ทิปส์  

วันนี้ขอพื้นที่คอลัมน์จากคุณสวลี ตันกุลรัตน์ เพื่อบอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงล่าสุดในการลงทุน หลังจากดอกเบี้ยเงินฝากกระหน่ำลดลงเรื่อยๆ เงินฝากประจำ 36 เดือน ที่ฝากไว้เดือนละ 1,000 บาท จะหวังดอกเบี้ยซัก 4.50% เมื่อ 3 ปีก่อน พอจะปิดบัญชี 2 เดือนที่จะถึงนี้ ดอกเบี้ยดันเหลือ 1.50% เห็นแล้วน้ำตาจะไหล ผลตอบแทนหายไปตั้ง 2 เท่า

เพราะผลตอบแทนจากเงินฝากต่ำนี่เอง ทำให้หลายธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและแน่นอน ไม่ผันผวนตามอัตราดอกเบี้ย ที่ฮอตฮิตติดชาร์ตมากตอนนี้ก็คือ “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์” ที่บรรดาเจ้าหน้าที่นักขายพยายามหว่านล้อมให้เปลี่ยนจากฝากประจำมาเป็นการออมผ่านผลิตภัณฑ์นี้ การันตีปันผลทุกปี หรือทุก 2-3 ปี แล้วแต่ว่าจะเลือกโปรโมชันไหน ซึ่งจำนวนเงินปันผลช่างล่อตาล่อใจเสียเหลือเกิน ฝากเพิ่มอีกนิด 3 ปี ได้เงินคืนตั้ง 1 หมื่นบาท เทียบกับฝากประจำ 3 ปี ได้มาแค่ 540 บาท มันช่างต่างกันอะไรเช่นนี้หนอ

ช้าก่อน! ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะแห่ไปทำประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน เพราะบางคนนึกว่าเป็นเงินฝากระยะยาวแบบมีประกันประเภทหนึ่ง ซึ่งผิด! ให้คำนึงไว้เลยว่าประกันชีวิตสะสมทรัพย์ คือ “การทำประกันชีวิต” ไม่ใช่ “การ ฝากเงิน”

วัตถุประสงค์หลักของประกันชีวิต คือ ความ คุ้มครองชีวิต หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นจนถึงแก่ชีวิต คนข้างหลังก็จะได้รับเงินชดเชย ส่วนผลตอบแทนหรือเงินปันผล ซึ่งรวมแล้วมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป ถือเป็นผลพลอยได้

คุณอาจจะบอกว่า ไม่เห็นต่างกันเลย ส่งเงินทุกเดือนๆ เหมือนกัน พอครบกำหนดก็ถอนออกมาได้ดอกเบี้ยพอกพูน ถ้าคิดแค่นี้ก็คงไม่ต่าง แต่เมื่อไรที่คุณสภาพคล่องขาดมือละก็ ต่างแน่ค่ะ เพราะเงินฝากสามารถถอนเมื่อไรก็ได้ คุณยังได้เงินครบถ้วนตามจำนวนที่ฝากและอาจจะได้ดอกเบี้ยบวกนิดหน่อย

ส่วนประกันสะสมทรัพย์ เงินที่คุณส่งทุกเดือน หรือทุกปี คือ “เบี้ยประกัน” หากยกเลิกก่อนครบสัญญา โดยเฉพาะถ้าเป็นการยกเลิกในปีแรกของการทำประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับเงินที่จ่ายไปแล้วคืนแม้แต่บาทเดียว

เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในปีแรกค่อนข้างสูง เช่น ค่าออกกรมธรรม์ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบำเหน็จตัวแทน แต่หากชำระแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี จะสามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้ แต่จะไม่ครบจำนวนเบี้ยประกันที่ส่งไป

อย่างไรก็ดี การประกันชีวิตก็เหมือนกับการเสี่ยงทายว่าภายในระยะเวลาที่กำหนดคุณจะเสียชีวิตหรือไม่ หากภายในระยะเวลาคุ้มครองผู้ทำประกันเสียชีวิตเสียก่อน แม้ว่าจะชำระเบี้ยเพียง 1 ปี ทายาทหรือผู้รับประโยชน์จะได้รับเงินประกันเต็มจำนวน และถือว่าสัญญาสิ้นสุดทันที กำไรเน้นๆ แต่หากผู้ทำประกันมีชีวิตจนถึงครบสัญญา ก็จะได้รับเงินประกันคืนเต็มจำนวนพร้อมผลตอบแทนจำนวนหนึ่ง

พอจะทราบคำจำกัดความเบื้องต้นของประกันชีวิตสะสมทรัพย์กันไปบ้างแล้ว เอาล่ะหากคุณตัดสินใจแล้วว่าจะออมเงินในรูปแบบนี้ ด้วยเพราะการันตีผลตอบแทนแน่นอน และไม่อยากเจอคราวซวยเงินฝากครบกำหนดตอนดอกเบี้ยเรี่ยดิน (เหมือนคนแถวนี้) ไม่อยากเสี่ยงลงทุนแบบอื่นที่อาจขาดทุน และมั่นใจว่าฉันยังไงก็ไม่ตายง่ายๆ ก็มาดูกันว่าผลตอบแทนที่ได้มีความคุ้มค่าจริงหรือไม่

ประกันชีวิตถือเป็นการออมระยะยาว ส่งเบี้ยประกัน 5 ปี 7 ปี แต่กว่าจะได้เงินคืนก็ต้องรอไปอีก 10 กว่าปี บางรูปแบบคุ้มครองยาวนานจนถึงอายุ 99 ปี (ถึงตอนนั้นก็คงถือไม้เท้า นั่งรถเข็น หรือให้ลูกหลานมารับแทน ตัวเองคงไม่ได้ใช้เงินก้อนนั้นเองแน่) ดังนั้นไม่ควรจะดูแค่ส่วนต่างที่จะได้ในปีที่ครบสัญญา ซึ่งจำนวนเงินอาจจะมากจริง แต่ถ้าเฉลี่ยออกมาต่อปีแล้วอาจจะน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภท เสียอีก นอกจากนี้ควรบวกเงินเฟ้อแต่ละปีเข้าไปด้วย แล้วดูซิว่าคุ้มค่าพอที่เราจะทิ้งเงินก้อนยักษ์ไว้นานขนาดนั้นหรือไม่

สิ่งสำคัญที่ขอย้ำกับผู้อ่าน คือ ผลประโยชน์ต่างๆ นานา ที่ท่านเห็นเริ่มตั้งแต่ 180% 380% ยัน 600% นั้น เป็นการคำนวณจากทุนประกัน ไม่ใช่ผลประโยชน์จากเงินออมของท่าน ฉะนั้นอย่าตื่นตาตื่นใจกับตัวเลขสูงๆ ลองไปคำนวณเบี้ยประกันที่จ่ายตลอดสัญญา จะพบว่าอาจจะมากกว่าวงเงินคุ้มครอง หรือน้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น

ผลประโยชน์ที่ได้รับมาจากเบี้ยประกันส่วนเกินจากวงเงินคุ้มครอง และเงินปันผลจากการที่นำเบี้ยประกันไปลงทุนในช่องทางต่างๆ สร้างผลกำไร โดยผลประโยชน์ที่ผู้ออมได้รับจะมาในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1.เงินคืนระหว่างชำระเบี้ย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของทุนประกัน มีทั้งเงินคืนทุกปี ทุก 2 ปี ทุก 3 ปี แล้วแต่เงื่อนไขกรมธรรม์

2.ดอกเบี้ย กรณีที่ไม่ประสงค์จะรับเงินคืนระหว่างชำระเบี้ย บริษัทประกันจะให้ดอกเบี้ยเหมือนกับการฝากประจำไว้กับธนาคาร ซึ่งอัตราจะแตกต่างกันไปแล้วแต่เงื่อนไขของบริษัทแต่ละแห่ง

3.เงินบำนาญ เงินจ่ายคืนรายเดือนหรือรายปี ให้กับผู้ออมหลังเกษียณอายุไว้ใช้จ่าย ซึ่งหากอายุยืนถึงสิ้นสัญญา จะได้ผลประโยชน์สูงกว่าประเภทอื่น เพราะออมไว้ก่อนเกษียณ ไม่มีเงินคืนระหว่างจ่ายเบี้ย เริ่มได้รับบำนาญหลังเกษียณอายุเป็นต้นไป

4.เงินคืนระหว่างสัญญา ซึ่งจะได้รับหลังชำระเบี้ยประกันครบ มี 2 ประเภท คือ เงินก้อนจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็น 50% ของทุนประกัน ก่อนได้รับคล้ายกับเงินบำนาญ มักเป็นการออมเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง เช่น เพื่อเป็นทุนการศึกษาบุตร ประกันรายได้หลังตกงาน

5.เงินจ่ายคืนเมื่อสัญญาสิ้นสุด เงินก้อนใหญ่ที่จะได้รับเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนมากเป็นจำนวนเดียวกับวงเงินคุ้มครองชีวิตในปีสุดท้าย ซึ่งอ้างอิงจากทุนประกันเริ่มต้น

6.เงินปันผล จะได้เมื่อสัญญาสิ้นสุด จำนวนขึ้นอยู่กับผลกำไรของบริษัทประกัน ส่วนใหญ่จะไม่การันตีผลตอบแทน

7.เงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับเบี้ยประกันชีวิตที่มีระยะเวลาประกัน 10 ปีขึ้นไป สูงสุด 1 แสนบาท (ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 172 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2551) ลดหย่อนได้มากน้อยขึ้นอยู่กับฐานอัตราภาษีเงินได้แต่ละคน ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลประโยชน์เบสิก อาจจะมีผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากนี้อีกก็ได้ แล้วแต่การครีเอตโปรแกรมของบริษัทประกัน แหม แต่ถ้าใครทำประกันแล้วได้ผลตอบแทนเกิน 3 ข้อข้างต้น ก็เวิร์กแล้ว (เอ่อไม่รวมกรณีเสียชีวิตนะ)

อย่างไรก็ดี คนออมยุคใหม่ไม่ควรดูแค่ผลประโยชน์ที่บริษัทประกันต้องการให้รู้ แต่ต้องรู้จักคำนวณเปรียบเทียบผลประโยชน์กับเบี้ยประกันที่จ่ายไป รวมถึงเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันในท้องตลาด เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุด และตรงกับความต้องการมากที่สุด แนะนำให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติม

1.วงเงินคุ้มครองชีวิต เทียบกับเบี้ยประกันรายปี มีให้เลือกทั้งจ่ายน้อย คุ้มครองสูง สำหรับผู้ที่เบี้ยน้อยหอยน้อย และจ่ายมาก คุ้มครองสั้น สำหรับผู้ที่อยากได้รับเงินคืนไว นอกจากนี้ยังมีประเภทวงเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้นเมื่อชำระเบี้ยไประยะหนึ่ง ประเภทนี้มีข้อดี คือ แฟร์ๆ สอดคล้องกับเบี้ยรวมที่จ่ายไป ข้อเสีย คือ หากเสียชีวิตช่วงต้นสัญญา จะได้วงเงินคุ้มครองน้อย เมื่อเทียบกับรูปแบบที่คุ้มครองเท่ากันตลอดสัญญา

2.ผลประโยชน์รวมเมื่อครบสัญญา ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผลระหว่างสัญญา เงินจ่ายคืนเมื่อครบสัญญา ลดหย่อนภาษี เทียบกับเบี้ยประกันนำส่งตลอดสัญญา ดูผลตอบแทนจากการออมว่าคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 2% ต่อปี ตัวอย่างส่งเบี้ย 10 ปี ยอดรวมเท่ากับทุนประกันขั้นต่ำ 1 แสนบาท น่าจะได้กำไรอย่างต่ำ 2 หมื่นบาท (อ้างอิงสูตรคำนวณ IRR ใน Microsoft Excel)

3.ระยะเวลาคุ้มครอง ยิ่งสัญญามีระยะเวลานาน เบี้ยประกันยิ่งน้อยลง ตรงกันข้ามหากท่านต้องการได้เงินคืนไว ด้วยเกรงว่าอยากได้เงินก้อนเร็วๆ เอาไปซื้อรถซื้อบ้าน ก็เลือกระยะเวลาสั้น แลกกับเบี้ยแพง

จากคุณ : todbig
เขียนเมื่อ : 31 ส.ค. 52 16:13:48




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com