|
ความคิดเห็นที่ 1 |
เข้าใจในบัญชีต่าง ๆ ที่ใช้เทรดหุ้นครับ
ในที่นี้ผมขอบอกรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีเงินสด และบัญชีเงินฝากเท่านั้นนะครับ สำหรับบัญชีมาร์จิ้นนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากและผมมองว่าคนที่เทรดในบัญชีมาร์จิ้นคงจะไม่ใช่มือใหม่แน่ ๆ ครับ
1. บัญชีเงินสด (Cash) ถ้าเปรียบเป็นบัญชีธนาคาร บัญชีเงินสดก็คือบัญชีบัตรเครดิตนั่นเองครับ ซึ่งหลักการในการพิจารณาวงเงินก็จะคล้าย ๆ กับที่ทางธนาคารพิจารณาเครดิตให้กับคุณนั่นแหละครับ โดยจะพิจารณาจากหลักทรัพย์ต่าง ๆ และข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ของคุณครับ โดยเมื่อพิจารณาได้วงเงินมาแล้วก็จะเป็นวงเงินสำหรับคุณในการซื้อหุ้นในระยะเวลา 3 วันทำการครับ (สักครู่จะอธิบายครับว่าหลักการเป็นอย่างไร) และบัญชีเงินสดนี้คุณจะต้องมีการทำ ATS ไว้กับธนาคารต่าง ๆ ด้วยครับ เวลามีการซื้อหรือขาย จะนำเงินค่าขายและตัดค่าซื้อผ่านบัญชีธนาคารของคุณครับ (อันนี้ต้องทำครับหลีกเลี่ยงไม่ได้)
หลังจากได้วงเงินมาแล้ว คุณจะซื้อหุ้นได้ก็ต่อเมื่อ นำหลักประกันมาวางไว้ครับโดยคิดหลักประกันเป็น 15% ของวงเงินที่คุณจะซื้อหุ้นได้ใน 3 วันครับ งงกันมั้ยครับ
ตัวอย่าง ถ้าคุณได้วงเงินในบัญชีเงินสด 1,000,000.- บาท ขั้นแรกคุณต้องวางหลักประกัน (เงินสด, หลักทรัพย์) เป็น 15% ของวงเงินที่คุณต้องการเทรด ถ้าคุณวางเงินสดไว้ 150,000.- บาท คุณก็จะมีวงเงินเต็ม 1,000,000.- บาทในการซื้อหุ้น 3 วันทำการครับ แต่ถ้าคุณวางหลักประกันเพียง 15,000.- บาท คุณก็จะมีวงเงินเทรดเพียง 100,000.- บาท ครับ แต่ถ้าคุณวางหลักประกันมา 300,000.- บาท ก็จะยังคงได้วงเงินเพียง 1,000,000.- บาทเหมือนเดิมครับ ไม่ใช่ 2,000,000.- บาท เพราะวงเงินที่พิจารณาให้คุณมีเพียง 1,000,000.- บาทเท่านั้นครับ
เอาล่ะครับต่อไปจะยากขึ้นนะครับ เพราะต้องมาทำความเข้าใจกับกับระบบการคิดวงเงินเมื่อเกิดรายการแล้วล่ะครับ สมมุติว่าในวันที่ 1 คุณได้วงเงินมา 1,000,000.- บาท และวางหลักประกันเงินสด 15% ไว้เรียบร้อยแล้วจำนวน 150,000.- บาท ซึ่งคุณจะได้วงเงินเต็ม 1,000,000.- บาทครับ
วันที่ 1 หรือที่เราเรียกกันว่า วันที่ T = วันที่เกิดรายการทั้งซื้อ และขาย คุณมีวงเงิน 1,000,000.- บาท สมมุติซื้อหุ้นไป 300,000.- บาท นะครับ สิ้นวันวงเงินจะเหลือ 700,000.- บาท
วันที่ 2 วงเงินเริ่มจะมี 700,000.- บาทครับ ถ้าคุณซื้อหุ้นต่ออีก 500,000.- บาท วงเงินสิ้นวันก็จะเหลือ 200,000.- บาทแล้วครับ
วันที่ 3 วงเงินเริ่มต้นจะมี 200,000.- บาท ทีนี้ถ้าคุณขายออกมาล่ะ เอาเป็นขายออกมาสัก 400,000.- บาท แล้วกัน วงเงินก็จะกลับมาเป็น 600,000.- บาท ครับ
วันที่ 4 วงเงินเริ่มต้นจะมี 600,000.- บาท ถูกมั้ยครับ แต่เมื่อทางโบรกฯ ได้ตัดเงินค่าซื้อของคุณในวันที่ 1 จำนวน 300,000.- บาทแล้ว วงเงินคุณก็จะคืนมาอีก 300,000.- เป็น 900,000.- บาทแล้วครับ และสมมุติว่าวันนี้คุณไม่มีรายการแล้วกัน (อีกอย่างตัวหุ้นที่คุณซื้อในวันที่ 1 ก็จะกลับมาเป็นหลักประกันแทนด้วย ซึ่งจะรวมทั้งเงินสดที่ฝาก 15% ตั้งแต่ครั้งแรก และมูลค่าหุ้นที่คุณชำระเงินแล้วด้วยครับ)
วันที่ 5 วงเงินจะเริ่มที่ 900,000.- บาท และเมื่อทางโบรกฯ ได้รับเงินค่าซื้อของคุณในวันที่ 2 จำนวน 500,000.- บาท วงเงินคุณก็จะกลับมาเป็นจำนวน 1,000,000.- บาทเหมือนเดิมแล้วครับ (วงเงินในการซื้อจะไม่มีทางได้เกินจำนวนวงเงินที่ได้รับอนุมัติครั้งแรกครับ ต้องจำตรงนี้ไว้ด้วยครับ) ไม่ใช่ 900,000.- + 500,000.- นะครับ
ต่อจากนั้นก็จะคิดไปแบบนี้เรื่อย ๆ ครับตามหลักเกณฑ์นี้ครับ วงเงินที่อนุมัติก็จะมีรอบ 3 วันทำการ ซึ่งตรงนี้มีลูกค้าหลายคนเข้าใจว่าเมื่อได้วงเงิน 1,000,000.- บาท ก็จะซื้อหุ้นได้แค่นั้นตลอดไป ซึ่งตรงนี้ไม่เกี่ยวกันครับ บางพอร์ตมีวงเงินซื้อขายแค่ 500,000.- บาท แต่หุ้นในพอร์ตอาจจะมีมูลค่าเป็น สิบล้านก็ได้ครับ เรียกว่าทะยอยซื้อสะสมไปเรื่อย ๆ ครับ แต่ซื้อทีละไม่เกิน 500,000.- บาทภายใน 3 วันแค่นั้นเองครับ พอเข้าใจหลักการนะครับ
** ข้อควรจำครับ ** ถ้าคุณถอนหลักประกันเงินสดออกมาหมดแล้ว (15% ที่วางไว้นั้นแหละครับ) โดยคุณมีหุ้นเป็นหลักประกันแทน ถ้าคุณขายหุ้นออกมาหมดพอร์ต แล้วไม่ได้ซื้อหุ้นติดพอร์ตไว้เลยในวันที่ขายจนหมด วันต่อไป ถ้าคุณจะซื้อคุณต้องวางหลักประกัน 15% ใหม่นะครับ เพราะถือว่าพอร์ตคุณไม่มีหลักประกันคงเหลือไว้เลยครับ ฉะนั้นแนะนำสำหรับผู้ที่เล่นแบบเก็งกำไร อย่าถอนหลักประกันเงินสดออกมาครับ ให้คาไว้อย่างนั้นแหละครับ แต่ถ้าคุณถือลงทุนยาว ๆ โดยไม่ว่าขายยังไง ๆ ก็ยังคงมีหุ้นติดพอร์ตไว้ตลอด ก็สามารถถอนหลักประกันเงินสดออกมาได้เลยครับ
แก้ไขเมื่อ 11 ก.ย. 52 15:16:05
จากคุณ |
:
red_devil
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ก.ย. 52 14:58:28
|
|
|
|
|