|
มองไปข้างหน้า
|
|
วิกฤติตลาดหุ้นและเศรษฐกิจรอบนี้น่าจะทำให้ Value Investor จำนวนมากเสียกำลังใจไปไม่น้อย หลายคนก็แทบจะฝันสลายหลังจากที่เคยทำกำไรมาได้มากมายจนคิดว่าตนจะร่ำรวยมากในเวลาไม่นาน แต่ผมคิดว่าเราอย่าเพิ่งเสียกำลังใจ วิกฤติรอบนี้อาจจะเป็นแค่การหยุดหรือชะงักไปชั่วคราวจากการเดินทางไปสู่เป้าหมายของเราที่จะเป็นอิสระทางการเงินหรือร่ำรวยมากในอนาคต ลองตรึกตรองดูว่าสถานะของเราเป็นอย่างไรในปัจจุบันและเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรในอนาคต อย่ามองกลับไปยังอดีตที่เราแก้อะไรไม่ได้ ผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังมี อนาคต อีกมาก และที่ผมพูดถึง อนาคต นั้น ผมหมายถึง ทรัพยากร ต่าง ๆ ที่เรายังมีอยู่ที่จะนำมาสร้าง อนาคต อย่างที่เราฝันหรือตั้งความหวังไว้ได้
ผมเคยพูดไว้ต่างกรรมต่างวาระมาหลายครั้งว่า การที่เราจะมีความมั่งคั่งมากหรือน้อยในชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับทรัพยากรหลัก 3 อย่างที่เรามีอยู่
หนึ่งก็คือ เงินเริ่มต้นและเงินที่เราจะได้มาเพิ่มเติมจากการเก็บออมที่เหลือจากน้ำพักน้ำแรงหลังหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวตลอดชีวิต สำหรับคนที่อายุยังน้อย เงินเริ่มต้นนั้นมักจะมีน้อยหรือเป็นศูนย์ แต่เงินที่จะได้มาเพิ่มเติมจากการทำงานจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เดือนแล้วเดือนเล่าปีแล้วปีเล่า ถ้าเรารู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัดและคุ้มค่าเงินแบบที่ Value Investor มักจะเป็น เงินส่วนนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ร่ำรวยแล้ว วิธีที่จะทำให้ตนเองกลายเป็นคนที่ร่ำรวยได้ทางหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าหยุดทำงานและเก็บเงินให้ได้มากที่สุด ยิ่งทำงานนานมาก เงินเดือนหรือรายได้จากการทำงานก็ยิ่งมากตามประสบการณ์
ทรัพยากรอย่างที่สองก็คือ เวลาของการลงทุน นี่เป็นทรัพยากรที่ทุกคนมีอยู่แต่ไม่เท่ากัน คนที่อายุยังน้อย เช่น คนที่จบมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงานพร้อมกับเริ่มการลงทุน เขาจะมีเวลาถึงเกือบ 40 ปีกว่าที่จะเกษียณอายุและอาจจะมากถึง 60 ปี ก่อนที่จะตายหรือหมดความสามารถในการลงทุน ดังนั้น ในโลกของการลงทุนและการสร้างความมั่งคั่งในชีวิต คนหนุ่มสาวจะได้เปรียบคนอายุมากมหาศาล และถ้าคนเหล่านั้นใช้เวลาที่เป็นทรัพยากรสำคัญนั้นกับการลงทุน เขาก็จะสามารถสร้างความร่ำรวยได้ไม่ยาก เพราะเวลา 50 ปีนั้น ถ้าได้ลงทุนและทำผลตอบแทนได้ปีละ 10% ทบต้นโดยเฉลี่ยก็จะสามารถทำให้เงินเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 100 เท่า ดังนั้น สำหรับคนหนุ่มสาวที่มุ่งมั่น โอกาสที่เขาจะร่ำรวยมีเงินเป็นร้อยล้านบาทก่อนตายนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลย ประเด็นสำคัญก็คือ ต้องมีเงินเก็บและต้องลงทุนให้ยาวหรือตลอดเวลา
ทรัพยากรอย่างที่สามก็คือ ฝีมือในการลงทุน นี่คือความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและภาวะอารมณ์ที่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยทั่วไป ถ้าเราไม่มีฝีมือเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปและยอมรับมัน อีกทั้งยังกลัวเรื่องความผันผวนของผลตอบแทนหรือกลัวการ ขาดทุน มาก เราก็จะต้องลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงไปในทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์หลาย ๆ อย่าง ทั้งหุ้น พันธบัตร เงินฝาก และทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมาก แบบนี้ ผมคิดว่าเราคงได้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปีโดยเฉลี่ย
ถ้าเราไม่มีฝีมือในการเลือกหุ้นลงทุนแต่เราเชื่อมั่นในผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นว่าจะดีกว่าหลักทรัพย์อย่างอื่น เราก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมหุ้นโดยเฉพาะที่อิงกับดัชนี แบบนี้ เราก็น่าจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7-8% ต่อปี แต่ถ้าเรามีความรู้เกี่ยวกับหุ้นบ้าง เราก็อาจจะสามารถสร้างพอร์ตโฟลิโอที่เลียนแบบใกล้เคียงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบริหารจัดการให้กับบริษัทจัดการกองทุนรวม แบบนี้ เราอาจจะได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีโดยเฉลี่ย ทั้งสองกรณี เราจะต้องมีความอดทนพอที่จะถือหุ้นตลอดเวลาแม้ว่าในบางช่วงหุ้นอาจจะตกลงมาถึงครึ่งหนึ่ง
ถ้าเรามีความสามารถสูงพอสมควร และมีความมุ่งมั่นเป็น Value Investor เราอาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ถึง 12-15 % ต่อปีโดยเฉลี่ย จากการลงทุนในหุ้น และถ้าทำได้ผมเชื่อว่าเขาจะต้องเป็นคนรวยหรือเศรษฐีอย่างแน่นอนถ้าเขามีเวลาเป็น 40-50 ปีในการลงทุน เพราะในระยะยาวแล้ว ความแตกต่างระหว่างผลตอบแทน 5% กับ 10% หรือ 15% ต่อปีก็คือ ในเวลา 50 ปีนั้น ถ้าได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี เงินจะโตขึ้นเพียง 10 เท่า ถ้า 10% เงินจะโตขึ้น 100 เท่า และถ้าเป็น 15% เงินจะโตขึ้นเป็น 1,000 เท่า
ดังนั้น สำหรับคนที่กำลังเสียกำลังใจจากการขาดทุนในหุ้นรอบนี้ ผมแนะนำว่า ลองมาตรวจสอบดูว่าเรายังมีทรัพยากรเหลืออยู่เท่าไรอย่างใด สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทุกครั้งที่เริ่มต้นปีใหม่ เราควร นับหนึ่ง ใหม่และมองไปข้างหน้า เริ่มตั้งแต่เม็ดเงิน เริ่มต้น ว่าเป็นเท่าไรหรือจริง ๆ ก็คือเหลือเท่าไรหลังจากที่มันตกลงมาอย่างแรงในปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มาดูปีของการลงทุนที่เรามีอยู่ ในกรณีที่เราตั้งเป้าหมายหลักไมล์ในชีวิตเช่นจะมีเงินถึงสิบล้านหรือร้อยล้านบาทเมื่ออายุเท่าไร ในกรณีนี้ ถ้าพอร์ตของเราลดลงไป 30% เป้าหมายอายุที่เราจะไปถึงก็อาจต้องเลื่อนไป 3-4 ปี เป็นต้น เช่นเดียวกัน ในส่วนของผลตอบแทนในอนาคตที่เราจะทำได้ เราก็ต้องประเมินใหม่โดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่ผ่านมาและบทเรียนที่เราได้รับจากวิกฤติ เป็นไปได้ว่าผลตอบแทนนับจากปีนี้ไปน่าจะดีกว่าช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตั้งเป้าผลตอบแทนเกิน 15% ต่อปีในช่วง 4-5 ข้างหน้า
เมื่อกำหนดเป้าหมายใหม่หมดแล้ว เราก็อาจจะพบว่ามันอาจจะแตกต่างจากเดิมไม่มากนักหรือถึงจะมากแต่เราก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญเช่น การเป็นอิสระทางการเงิน ได้ในช่วงเวลาที่ไม่สายจนเกินไป และเมื่อเราพบความจริงอย่างนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกสบายใจขึ้นและมั่นใจในการที่จะ เดินทางต่อไป ว่าที่จริง สำหรับคนที่ยังอายุน้อยหรือยังไม่เกินสี่สิบปีโอกาสที่เขาจะ แก้ตัว มีอยู่เสมอ เพราะ เวลา นั้น คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุน
Credit : โลกในมุมมองของ Value Investor 20 ม.ค. 52 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
จากคุณ |
:
คนจนที่อยากรวย
|
เขียนเมื่อ |
:
10 ต.ค. 52 15:21:19
|
|
|
| |